มองสังคมอังกฤษและการค้าทาส ผ่านภาพวาดของไดโดและเอลิซาเบธ

เป็นเวลากว่า 200 ปี ที่ภาพวาดนี้ถูกตีความว่าเป็นของเลดี้เอลิซาเบธ เมอร์รีย์ กับสาวใช้ผิวดำไม่ทราบชื่อ ต้องรอถึงทศวรรษที่ 1980s กว่าความจริงจะปรากฎว่าผู้หญิงผิวสีในภาพ นอกจากจะไม่ใช่สาวใช้ แต่ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องร่วมสายเลือดของเลดี้เอลิซาเบธอีกต่างหาก เธอมีนามว่า ไดโด เอลิซาเบธ เบลล์ เรื่องราวของไดโดเริ่มต้นบนเรือค้าทาสแต่มาจบลงในวงสังคมชั้นสูงของอังกฤษ เกิดอะไรขึ้นกับไดโด? ภาพวาดของเธอสะท้อนเสียงแบบไหนในประวัติศาสตร์?

ไดโด เอลิซาเบธ เบลล์ เกิดในปี 1761 เธอเป็นลูกนอกสมรสของเซอร์จอห์น ลินซีย์ กับมาเรีย เบลล์ – ทาสสาวชาวแอฟริกันบนเรือค้าทาสของสเปน มาเรียและเซอร์จอห์ได้พบกันเพราะเรือค้าทาสที่มาเรียโดยสารมาถูกทางการอังกฤษยึดไว้ได้ เราไม่รู้เรื่องราวของมาเรียมากนัก และไม่ทราบว่าหลังคลอดลูกสาว มาเรียมีชีวิตต่อไปอย่างไร เท่าที่พอรู้ คือเซอร์จอห์นได้พาลูกนอกสมรสของเขากลับมาอังกฤษ และนำมาฝากไว้ให้ลุงแท้ๆ – วิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ เป็นผู้ดูแล

วิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์

เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ เป็นหนึ่งในชายผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของอังกฤษในยุคนั้น เขาเป็นทั้งนักการเมือง และผู้พิพากษาซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฎิรูปกฎหมายจารีตของอังกฤษ เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์และภรรยารับตัวไดโดมาเลี้ยงดูประหนึ่งหลานสาวแท้ๆ เธอถูกเลี้ยงดูคู่กับหลานสาวอีกคนที่มีอายุใกล้กัน – เลดี้เอลิซาเบธ เมอร์รีย์ สาวน้อยอาภัพที่เพิ่งเสียแม่ไปตั้งแต่อายุยังน้อย

การเป็นลูกครึ่งระหว่างบิดาผิวขาวและมารดาผิวสีไม่ใช่เรื่องแปลก การมีบิดาเป็นขุนนางและมีมารดาเป็นทาสก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่การที่ไดโดได้รับการยอมรับจากครอบครัวและถูกเลี้ยงดูในสถานะที่เท่าเทียมกับทายาทขุนนางผิวขาวเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ยาก ไดโดทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัวของเอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ เธอดูแลเรื่องการจดบัญชีและงานบริหารเล็กน้อยในบ้าน งานเหล่านี้ถือเป็นงานของสุภาพสตรีที่มีการศึกษา แน่นอนว่างานเหล่านี้ไม่ใช่งานของผู้ดีระดับ ‘เลดี้’ อย่างเอลิซาเบธ (ซึ่งส่วนมากจะไม่ต้องทำงาน) แต่ความจริงที่ว่าไดโดสามารถทำงานใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญของรัฐอย่างเอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ ชี้ให้เห็นว่าเธอเป็นสตรีมีหัวคิดที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี และน่าจะเป็นคนโปรดของเจ้าของบ้าน

เคนวู้ดเฮาส์ คฤหาสของเอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ที่ไดโดอาศัย มีข้อมูลน่าสนใจเป็นสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายที่บอกให้เรารู้ว่าไดโดนั้นนอกจากจะได้รับเงินปีเป็นของตัวเองเป็นจำนวน 20 ปอนด์ต่อปี (แบ่งจ่าย 4 ครั้ง ครั้งละ 5 ปอนด์) เธอยังได้รับเงินเป็นของขวัญวันเกิดและของขวัญวันคริสต์มาส ในบัญชียังระบุว่าเตียงนอนของไดโดนมีผ้าปูที่นอนเป็นลวดลายดอกไม้สวยงาม ซึ่งเป็นของมีราคาในยุคนั้น บันทึการสั่งจ่ายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเป็นอยู่ของไดโดได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก

ไดโดกับเอลิซาเบธ ภาพจากภาพยนต์ Belle (2013)

โทมัส ฮัชเชนสัน แขกชาวอเมริกันของเอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ได้บันทึกการพบกันระหว่างเขากับไดโดระหว่างเดินทางมาพักผ่อนที่เคนวู้ดเฮาส์ไว้ว่า

“หญิงผิวดำปรากฏตัวหลังมื้อค่ำและนั่งลงข้างๆ สุภาพสตรี หลังจากรับประทานกาแฟร่วมกัน เธอติดตามพวกเราทุกคนระหว่างการเดินชมสวน สาวน้อยคนหนึ่งเดินคล้องแขนกับหญิงผิวดำอย่างสนิทสนม หญิงผิวสีคนนี้ไม่ใช่คนสวยและไม่ใช่คนเรียบร้อย เจ้าของบ้าน เรียกเธอว่า ‘ไดโด’ ผมเชื่อว่านี่คงเป็นชื่อของเธอ แม้เขา(เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์) จะรู้ดีว่าตัวเองกำลังถูกตำหนิที่แสดงความเมตตากับหญิงผิวสี แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่อาชญากรรม”

บันทึกของฮัชเชนสันได้นำเสนอมุมมองที่ไม่ควรมองข้าม ในช่วงเวลาที่ภาพของไดโดและเลดี้เอลิซาเบธถูกวาด(ราวปี 1779) เป็นช่วงที่อังกฤษกำลังก้าวสู่ตลาดค้าทาสอย่างเต็มรูปแบบ ต้นศตวรรษที่ 18 เป็นยุคที่ผ้าฝ้ายกำลังได้รับความนิยม อาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาถูเปลียนให้เป็นพื้นที่สำหรับการปลูกฝ้ายเพื่อนำมาป้อนตลาดในยุโรป เมื่อความต้องการมีมาก ทางออกทีดีและประหยัดที่สุดคือการนำเข้าแรงงานทาสจากแอฟริกา ในปี 1780 การส่งออกผ้าฝ่ายคิดเป็นรายได้สำหรับประเทศเพียง 2-3% เท่านั้น แต่เมื่ออังกฤษก้าวเข้าสู่การปฎิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะช่วงปี 1820-1830 รายได้จากการขายฝ้ายทำเงินให้อังกฤษมากถึง 22-23% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ภาพวาดไดโดกับเอลิซาเบธ

ภาพวาดของบุคคลผิวสีในงานศิลปะของอังกฤษไม่ใช่เรื่องใหม่ ภาพของนายทาสผิวขาวกับสาวใช้ผิวสี เป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป ภาพวาดที่บอกเล่าเรื่องราวทางชนชั้น มักมีจุดสนใจไปที่นายทาสผิวขาว โดยมีทาสผิวสีอยู่ในมุมที่สำคัญน้อยกว่า ตำแหน่งต่ำกว่า และใช้สายตามองไปที่เจ้านายด้วยความหมายแสดงความเคารพ ภาพวาดของไดโดและเอลิซาเบธไม่ได้ให้บรรยากาศเหล่านี้ นอกจากสองสาวจะอยูในสถานะเท่าเทียมกัน ท่าทางที่ปรากฏในภาพยังบอกเป็นนัยถึงความสนิทสนมและความสุขของสองสาวที่ฉายชัดผ่านสายตา

ในวันที่เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์เสียชีวิต พินัยกรรมของเขาระบุชัด “ข้าพเจ้าขอยืนยันกับ ไดโด เอลิซาเบธ เบลล์ ว่าเธอเป็นอิสระชน”

ไดโดแต่งงานและสร้างครอบครัวของตัวเองหลังจากนั้น สามีของเธอ จอฟ์น เดวินิเอ เป็นชาวฝรั่งเศสและเคยทำงานเป็นพ่อบ้านให้ขุนนางชาวอังกฤษ พวกเขามีลูกชายด้วยกันอย่างน้อยสามคน ไดโดเสียชีวิตในปี 1805 อายุ 43 ปี

ชีวิตของไดโดคือตัวแทนเรื่องราวมากมายในยุคแห่งการค้าทาส แต่ที่ต่าง คือไดโดมีพ่อที่ยอมรับและครอบครัวที่อบอุ่น เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับเด็กผิวสีทุกคน และในขณะที่พวกเขาถูกหลงลืมไปในประวัติศาสตร์ เราอาจมองไดโดเป็นตัวแทนความทรงจำของเด็กอีกหลายพัน หรืออาจจะหลายหมื่น ที่เกิดขึ้นและจากไปในยุคสมัยที่เลวร้ายของอังกฤษ

Reference:

A Stitch in Time s01e04 Dido Belle

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like