Red Baron กับภาพหลุมฝังศพและเครื่องบินสีแดง

Red Baron ถูกฝังถึงสี่ครั้ง!? ว่าด้วยนักบินที่โด่งดังที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 1

มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน หรือที่รู้จักกันในนามเร้ดบารอน (Red Baron) เป็นนักบินที่ประสบความสำเร็จที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 1 ริชท์โฮเฟินยิงเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ไม่ต่ำกว่า 80 ลำ กองบินของเขาเป็นหนึ่งในกลไกลำคัญที่ทำผลงานดีเยี่ยมจนสามารถลดค่าเฉลี่ยชีวิตของนักบินอังกฤษจาก จาก 295 ชั่วโมง เหลือแค่ 92 ชั่วโมงในช่วงเดือนเมษายน 1917

ชีวิตของริชท์โฮเฟินเต็มไปด้วยเรื่องราวการผจญภัย แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการเดินทางของเขาไม่ได้จบลงหลังความตาย ร่างของเร้ดบารอนผู้เป็นดั่งวีรบุรุษของชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์อันเป็นเหตุผลให้ศพของเขาถูก “ขุด” และ “ฝัง” เป็นจำนวนครั้งมากถึง 4 ครั้งในเวลา 57 ปี! นี่คือเรื่องราวไม่ธรรมดาของชายที่ได้รับการจดจำในฐานะนักบินที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติเยอรมัน

มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน กับเครื่องบินสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์

ริชท์โฮเฟินได้ฉายาเร้ดบารอนจากสองเหตุผล อย่างแรกคือเครื่องบินของเขามีสีแดงสด อีกเหตุผลคือตัวเขามีตำแหน่งเป็น บารอน จริงๆ (อย่างน้อยก็ในความเข้าใจของคนอังกฤษ) มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน เกิดในครอบครัวขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ในพื้นที่โลว์เออร์ไซลีเซีย – ปัจจุบันคือบริเวณเมืองวรอตสวัฟของประเทศโปแลนด์ ตำแหน่งของริชท์โฮเฟินจริงๆ แล้วคือไฟรแฮร์ เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าอัศวิน แต่ตำกว่าเคานต์ เทียบได้กับบรรดาศักดิ์บารอนของอังกฤษ ที่ต่างกัน คือตำแหน่งไฟรแฮร์ของเยอรมันเป็นยศที่มอบให้ทายาทชายทุกคนของครอบครัว (ไม่ต้องรอให้พ่อตาย แล้วส่งผ่านแค่ลูกชายคนโตเหมือนในอังกฤษ) ดังนั้นมันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟินจึงได้บรรดาศักดิ์นำหน้าชื่อเป็น ไฟรแฮร์ หรือ บารอน ตั้งแต่พ่อของเขายังมีชีวิตอยู่ (ส่วนทายาทหญิงของตระกูลจะถูกเรียกนำหน้าว่าไฟร์อืน จนกว่าจะแต่งงาน)

มันเฟรท ฟ็อน ริชท์โฮเฟิน เป็นลูกคนที่สอง เขามีพี่สาวหนึ่งคนและน้องชายอีกสองคน / มันเฟรท, พ่อของเขา และน้องชาย – โลทา เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1

ริชท์โฮเฟินเข่าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะอายุ 22 ปี เขาเสียชีวิตในปี 1918 อายุ 25 ขณะนำเครื่องขึ้นต่อสู่ในแนวรบตะวันตก เครื่องบินของเขาถูกยิงโดยปืนกลของทหารออสเตรเลีย ริชท์โฮเฟินยังมีสติพอจะนำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัยแต่เสียชีวิตในเวลาไม่นาน คำพูดไม่กี่คำยังหลุดจากปากของเร้ดบารอนในขณะมีลมหายใจ แต่เนื่องจากทหารออสเตรเลียไม่เข้าใจภาษา พวกเขาจับความได้แค่คำว่า “kaput” หมายถึงเสียหายหรือถูกทำลาย

เร้ดบารอนและเครื่องบินของเขา

ศพของริชท์โฮเฟินได้รับการชันสูตรโดยฝ่ายสัมพันธมิตร พบว่าเขาเสียชีวิตจากกระสุนปืนกลที่ถูกยิงทะลุปอดและหัวใจ ร่างของเขาถูกถ่ายภาพในชุดเครื่องแบบเต็มยศ พิธีศพถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติโดยมีการบรรจุร่างของเร้ดบารอนลงในโลงไม้ ประดับดอกไม้และริบบิ้นสีประจำชาติเยอรมัน (ในขณะนั้นคือสีแดง ขาว และดำ)

ทหารออสเตรเลีย 6 คน แบกโลงศพของนักบินคนดังนำเข้าสู่หลุมฝังในโดยมีบาทหลวงคอยทำพิธีและมีทหารจำนวนมากยืนไว้อาลัย หลุมศพแรกของเร้ดบารอนอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ บนแผ่นดินฝรั่งเศส กองทหารสัมพันธมิตรยังประดับไม้กางเขนและดอกไม้จำนวนมากเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย หลุมศพของเร้ดบารอนถูกถ่ายภาพไว้ และนำไปโปรยแจกจ่ายในดินแดนของเยอรมันเพื่อเป็นการยืนยันว่าเร้ดบารอนของพวกเขาเสียชีวิตแล้ว และฝ่ายสัมพันธมิตรได้แสดงน้ำใจสุดท้ายด้วยการจัดพิธีศพให้อย่างสมศักดิ์ศรี

งานศพครั้งแรกของเร้ดบารอนจัดโดยสัมพันธมิตร
ศพถูกฝังในหมู่บ้านเล็กๆ ในฝรั่งเศส

น่าเสียดายที่หลุมศพแรกของริชท์โฮเฟินถูกทำลายภายในคืนแรกโดยชาวบ้านฝรั่งเศสผู้เกรี้ยวกราด พวกเขาทำลายไม้กางเขน รุมทึ้งดอกไม้จนเสียหาย กองทหารฝ่ายสัมพันธมิตรประณามการกระทำครั้งนี้ และมีการสร้างไม้กางเขนอันใหม่จากชิ้นสวนของเครื่องบินเพื่อปักลงไปแทน

หลุมศพแรกของเขาในฝรั่งเศส

ริชท์โฮเฟินถูกฝั่งอยู่ในหลุมศพนี้เพียงไม่กี่ปีเมื่อมีการตัดสินใจครั้งใหญ่จากรัฐบาลฝรั่งเศสในทศวรรษที่ 1920s ย้ายศพของทหารเยอรมันทั้งหมดไปฝังรวมกันไว้ในสุสานใหญ่ที่ Fricourt

ในช่วงปี 1920s รัฐบาลฝรั่งเศสนำศพทหารเยอรมันมารวมกันที่สุสาน Fricourt ถือเป็นการฝังครั้งที่ 2

ครอบครัวของเร้ดบารอนไม่พอใจการตัดสินใจ ในเมื่อจะมีการย้ายหลุมศพทั้งที ครอบครัวที่เยอรมนีก็อยากได้ศพของลูกชายกลับไปฝังในที่ดินของครอบครัว (ข้างกันกับบิดาของเขาและน้องชายอีกคนที่เสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่ 1) คำขอของครอบครัวได้รับการตอบรับแต่ในขณะที่ร่างของเร้ดบารอนกำลังจะถูกขนออกจาก Fricourt รัฐบาลเยอรมันก็ยื่นขอเสนอใหม่ ขอให้มีการฝังเร้ดบารอนที่สุสาน Invalidenfriedhof ในกรุงเบอร์ลิน Invalidenfriedhof เป็นสุสานที่ฝังร่างวีรบุรุษสงครามของเยอรมัน มันถูกสร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าเฟเกอริกมหาราช และเป็นที่พำนักสุดท้ายของนายพลผู้ยิ่งใหญ่ในยุคสงครามนโปเลียนอย่าง เกอราด ฟ็อน ชานฮอส

ก่อนจะถูกย้ายมาฝั่งครั้งที่ 3 ในเยอรมัน โดยมีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

ครอบครัวของเร้ดบารอนเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล และแล้วร่างไร้วิญญาณของนักบินชื่อดังก็ถูกฝั่งเป็นครั้งที่ 3 ที่สุสานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน งานศพถูกจัดขึ้นอีกครั้งโดยสาธารณรัฐไวมาร์ สุสานหินอ่อนถูกทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษสงคราม มีการเดินขบวนรำลึก เชิญศพเข้าสู่สุสานเพื่อเพื่อเป็นการต้อนรับ ถ้านั่นคิดว่ายิ่งใหญ่แล้ว รอจนถึงบรรทัดต่อไป

งานศพที่จัดโดยรัฐบาลไวมาร์
หลุมศพที่ 3 เวอร์ชั่นแรก

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 พรรคนาซีซึ่งขึ้นมามีอำนาจในเยอรมันคิดว่าการฝังศพที่ Invalidenfriedhof นั้นก็ดี แต่หลุมศพของริชท์โฮเฟินยังไม่แกรนด์พอ หลังสถาปนากองทัพอากาศเยอรมัน (ลุฟท์วัฟเฟอ) ได้ไม่นาน มีการจัดพิธีรำลึกขึ้นอีกครั้ง โดยมีการเปลี่ยนหลุมศพธรรมดาให้กลายมาเป็นอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูวีรบุรษ ป้ายหินขนาดใหญ่ถูกทำขึ้น และเผื่อคนที่ผ่านมาจะไม่รู้ ตัวอักษรชื่อ “RICHTHOFEN” ขนาดใหญ่ถูกสลักขึ้นบนนั้น พิธีรำลึกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ นักบินจากสงครามโลกครั้งแรกมารวมตัวกัน โดยมีแฮร์มัน เกอริง อดีตเพื่อนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และผู้บัญชาสูงสุดแห่งกองทัพอากาศเยอรมันในปัจจุบัน เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์

หลุมศพที่ 3 เวอร์ชั่นสอง เพิ่มป้ายอันใหญ่เขียนให้เห็นชัดๆ ว่า “RICHTHOFEN”
แฮร์มัน เกอริง อดีตเพื่อนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และผู้บัญชาสูงสุดแห่งกองทัพอากาศเยอรมันในปัจจุบัน เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์

ตอนนี้ริชท์โฮเฟินกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาเพื่อเชิดชูความยิ่งใหญ่ของทหารเยอรมัน สุสาน Invalidenfriedhof หลังจากนั้น กลายเป็นที่ฝังนายทหารนาซียศสูงที่สละชีพในสงคราม ยกตัวอย่างเช่น ไรน์ฮาร์ท ไฮดริช ผู้อารักขาไรช์ประจำโบฮีเมียและโมราเวีย ซึ่งถูกลอบสังหารไปในปี 1942

น่าเสียดายที่เกียรติยศสูงสุดคงอยู่ไม่นาน เบอรลินถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักในช่วงปี 1945 หลุมศพของริชท์โฮเฟิน (เช่นเกียวกับหลุมศพอื่นๆ ใน Invalidenfriedhof) เสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดและการรบในเบอร์ลิน เรื่องมันยิ่งจะร้ายไปกว่านั้นเมื่อสุสาน Invalidenfriedhof ดันไปอยู่ในพื้นที่ยึดครองของสหภาพโซเวียต และเมื่อมีการสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นเพื่อแยกเบอร์ลินออกจากกัน หลุมศพของเร้ดบารอนนั้น ก็ดันไปอยู่ใกล้จุดข้าม ทำให้กระสุนปืนที่ถูกยิงเพื่อสกัดประชาชนที่ประสงค์จะข้ามฝั่ง พุ่งมาโดนป้ายหลุมศพหลายครั้งจนเกิดความเสียหาย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองหลุมศพโดนลูกหลงจากการสู้รบและกระสุนของทหารที่ประจำการใกล้กำแพงเบอร์ลิน

ครอบครัวของริชท์โฮเฟิน แน่นอนว่าไม่ต้องการให้หลุมศพของสมาชิกครอบครัวอยู่ในสภาพถูกทอดทิ้ง มีคำขออีกครั้งส่งไปยังรัฐบาลเยอรมันตะวันออกเพื่อขอร่างของเร้ดบารอนกลับมาฝั่งเป็นครั้งที่ 4 รอบนี้ไม่ใช่ในฐานะนักบิน หรือวีรบุรุษ แต่ในฐานะลูกชายและสมาชิกของครอบครัว ตระกูลริชท์โฮเฟินไม่มีปราสาทหลังใหญ่และไม่เหลือที่ดินมากมายเหมือนในอดีต พื้นที่ของพวกเขาถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตและกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์

ครอบครัวริชท์โฮเฟินที่บัดนี้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเยอรมันตะวันตกได้รับคำอนุญาตจากรัฐบาลในปี 1975 และแล้วร่างไร้วิญญาณก็ถูกย้ายเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อถูกฝังอย่างถาวรในเมืองวีสบาดึน

หลุมศพสุดท้ายใต้ความดูแลของครอบครัว

แม้ร่างของเร้ดบารอนจะไม่ได้ถูกฝั่งในเบอร์ลิน แต่ปัจจุบันป้ายอนุสรณ์ขนาดใหญ่ประดับตัวอักษร “RICHTHOFEN” ก็ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าแม้เต็มไปด้วยรอยกระสุน มันเป็นหลักฐานสำคัญที่เป็นทั้งประจักษ์พยานของความยิ่งใหญ่ และการล่มสลายของอาณาจักรไรช์ที่สามของเยอรมนี

References:

The Red Baron – Buried Four Times!

The Red Baron – Manfred von Richthofen

Who Killed The Red Baron?

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like