สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์มากมาย หนึ่งในนั้นคือการล่มสลายของราชวงศ์เก่าแก่ที่ปกครองยุโรปมาอย่างยาวนานยกตัวอย่างเช่น ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นของเยอรมัน และ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ของออสเตรีย
ในปี 1916 จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี พบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อฟรันทซ์ โยเซ็ฟ จักรพรรดิชราผู้ครองบัลลังก์กว่า 60 ปี สวรรคตในระหว่างสงครามกำลังเข้าช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน แถมผู้ขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ เป็นหลานชายอายุน้อยที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันคืออาร์ชดยุกคาร์ล
คาร์ลนั้นได้รับตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทอย่างกะทันหันหลังอาร์ชดยุกฟรันทซ์ เฟอร์ดินันด์ รัชทายาทลำดับหนึ่งถูกลอบสังหารที่ซาราเยโว เขาไม่สนับสนุนการทำสงครามและทันทีที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งก็พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อหยุดสงครามที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ไม่น่าส่งผลดีต่อจักรวรรดิ
ออสเตรีย-ฮังการีมีปัญหายาวนานเรื่องการแตกแยกภายในเพราะบรรดารัฐน้อยใหญ่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ คาร์ลที่เคยรบอยู่แนวหน้ารู้ด้วยซ้ำว่ากองทัพที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติของพระองค์แทบไม่สามารถทำการรบต่อได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมัน ดังนั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชย์จึงทรงมีปณิธานสำคัญสามอย่างคือ
1.นำจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ออกจากสงคราม
2.รักษาจักรวรรดิที่บอบช้ำให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด
3.ปกป้องอำนาจของราชวงศ์ให้พ้นจากการปฏิวัติ
แต่การจะถอนตัวออกจากสงครามนั้นไม่ง่าย ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ จักรพรรดิพระองค์ก่อน ทำสัญญาไว้กับไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ของเยอรมัน ห้ามไม่ให้มีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเยอรมันไม่มีแนวคิดจบสงครามหากปราศจากชัยชนะ ทางเลือกที่เหลืออยู่สำหรับคาร์ล คือการเจรจายุติสงครามในทางลับ โดยใช้เส้นสายของราชวงศ์จากฝั่งภรรยา – เจ้าหญิงซีต้า แห่งบูร์บง-ปาร์มา
หนึ่งในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ถูกโยนเข้ามาในชีวิตคาร์ลอย่างไม่เต็มใจ ซีต้าเป็นความโชคดีของชีวิต การสมรสระหว่างคาร์ลกับซีต้า แม้จะเกิดขึ้นเพราะความเหมาะสม แต่ก็บ่มเพาะด้วยความรักเป็นพื้นฐาน ซีต้า เป็นราชนิกูลของราชวงศ์แห่งบูร์บงทางฝั่งสเปน อันที่จริง เจ้าหญิงเป็นหนึ่งในทายาทที่สืบสายเลือดโดยตรงมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ได้ไปเป็นกษัตริย์สเปนหลังราชวงศ์ฮับส์บูร์สายสเปนหมดผู้สืบทอด ดังนั้นแม้ว่าราชวงศ์บูร์บงสายหลักในฝรั่งเศสจะล่มสลาย แต่ผ่านทางครอบครัวของซีต้า ทายาทหลายคนยังคงเป็นชนชั้นนำที่รู้จักกับบุคคลสำคัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส
ในปี 2017 ที่กรุงเวียนนามีการค้นพบเอกสารลับของเคานต์โทมาส แอร์ดอดี หนึ่งในผู้ใกล้ชิดของคาร์ลและซีต้า บันทึกส่วนตัวของเขามอบข้อมูลใหม่ให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความพยายามครั้งสุดท้ายในการจบสงครามของราชวงศ์ฮับส์บูร์
ในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 คาร์ลและซีต้ามอบจดหมายลับผ่านทางโทมาสเพื่อนำไปมอบให้เจ้าชายซิกตัสและเจ้าชายซาวิเย – พี่ชายสองคนของเจ้าหญิงซีต้าผู้เป็นตัวแทนเจรจาจากฝรั่งเศส เจ้าชายทั้งสองรู้จักเป็นการส่วนตัวกับแรมง ปวงกาเร ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และได้นำข้อเรียกร้องจากฝั่งฝรั่งเศสมามอบให้ออสเตรียเพื่อประกอบการเจรจา ความต้องการของฝรั่งเศสนั้นแน่ชัด ออสเตรีย-ฮังการีจะต้องเหลือทางออกทะเลให้เซอร์เบียร์ เบลเยียมต้องได้กลับไปปกครองอาณานิคมคองโก และที่สำคญที่สุดแคว้นอาลซัส-ลอแรนจะต้องกลับคืนสู่ฝรั่งเศส
“เจ้าชายกล่าวถึงข้อเสนอที่แทบเป็นไปไม่ได้ ทรงลงพระนามในเอกสารเพื่อยืนยันความต้องการของฝรั่งเศส” โทมาส แอร์คอดีได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ในความเห็นของเขา สิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการนั้นมากเกินความพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอคืนอาลซัส-ลอแรนซึ่งเป็นตัวแทนความขัดแย้งยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน เยอรมันนั้นผนวกอาลซัส-ลอแรนมาอยู่ในเขตแดนของตนหลังรบชนะฝรั่งเศสในสงครามฟรังโก-ปรัสเซียเมื่อปี 1871 ว่ากันตรงนี้ อาลซัส-ลอแรน มีพื้นที่พิเศษเป็นเหมือนความภูมิใจของชาติเยอรมัน พอๆ กับที่มันเป็นความอับอายขายหน้าของชาวฝรั่งเศส
โทมาส แอร์คอดี คิดว่าข้อเสนอของฝรั่งเศสคงไม่ผ่านการพิจารณา แต่ปรากฎว่าจักรรพรรดิคาร์ลที่ 1 เมื่อได้อ่านข้อเสนอก็ตอบรับในทันทีบอกว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ เจ้าชายซิกตัสและเจ้าชายซาวิเยเดินทางมาพบคาร์ลและซีต้าเป็นการส่วนตัวที่ลักเซมเบิร์ก แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นความลับ โทมาสอยู่ที่นั้นด้วย เขากล่าวว่าการพบกันระหว่างสองเจ้าชายและซีต้าเป็นฉากน่าประทับใจ ทั้งสามพระองค์ไม่ได้เจอกันตั้งแต่สงครามเพราะสองครอบครัวถือว่าอยู่กันคนละฝั่ง คาร์ลตัดสินใจว่าเขาจะเป็นตัวกลางเจรจาขออาลซัส-ลอแรนคืนจากเยอรมัน จดหมายลับของคาร์ลถูกส่งต่อถึงมือประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และไปจบที่พระหัตถ์ของพระเจ้าจอร์ชที่ 5 กษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษในยุคนั้น
“การกระทำของคาร์ลนั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่าคำพูดและความต้องการของจักรพรรดิมีความสำคัญยิ่งกว่ามติของรัฐบาล พระองค์ใช้เส้นสายทางครอบครัวเพื่อเปิดการเจรจาลับโดยไม่ผ่านการเห็นชอบของบรรดานักการทูตมากมาย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาตามมาเพราะนั่นเท่ากับว่าพระองค์กำลังหักหลังเยอรมัน – พันธมิตรหนึ่งเดียวของออสเตรีย-ฮังการีในยุโรป” เกอฮาร์ท เฮิร์ชเฟลด์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสตุ๊ตการ์ท ให้ความเห็น
น่าสนใจว่าคาร์ลที่เคยรับปากเป็นตัวกลางเจรจากับเยอรมัน เมื่อมีโอกาสได้เจอกันจริงๆ กลับไม่กล้า ซีต้าให้สัมภาษณ์ในปี 1972 บอกว่าคาร์ลนั้นทำได้เพียงกล่าวเป็นนัยกับไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 “ถ้าสันติภาพไม่เกิดขึ้นเร็ววัน กลัวว่าประชาชนจะหาทางออกอื่น” ความผิดพลาดครั้งแรกของพระองค์จะนำไปสู่เส้นทางที่น่ากลัวยิ่งกว่า เพราะในขณะที่คาร์ลยอมตบปากรับคำเรื่องอาลซัส-ลอแรนของเยอรมัน พระองค์กลับน้ำท่วมปากเมื่ออิตาลี – อีกหนึ่งชาติสัมพันธมิตรยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมขอเมืองทรีเอสต์ หนึ่งในเมืองท่าสำคัญของออสเตรีย (ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี)
อิตาลีเข้าร่วมสงครามช้ากว่าชาติอื่น และเมื่อสงครามเริ่มเข้าช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน อิตาลีก็ตัดสินใจย้ายฝั่งไปอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยหวังจะได้ส่วนแบ่งดินแดนจำนวนมากจากออสเตรีย ราคาที่อิตาลีเสนอสำหรับสันติภาพทำให้คาร์ลถึงขั้นพูดไม่ออก ทรงตัดสินใจรับปากจะเจรจามอบดินแดนของเยอรมันให้ฝรั่งเศส แต่เมื่อมาถึงดินแดนของพระองค์เอง พระองค์กลับยอมไม่ได้ ในเมื่อจักรพรรดิไม่อาจมอบทรีเอสต์ให้ศัตรูผู้ทรยศ ความพยายามทั้งหมดก็สูญเปล่า ข้อเสนอสันติภาพของคาร์ลถูกถอนไปในที่สุด
การยกเลิกข้อเสนอสันติภาพยังไม่ใช่จุดจบที่เลวร้ายที่สุดของออสเตรีย ในปี 1917 เมื่อรัสเซียถอนตัวออกจากสงคราม เยอรมันเริ่มระดมสรรพกำลัง เดินหน้ารุกหนักในฝั่งตะวันตก เคานต์เชนิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของออสเตรียกล่าวสุนทรพจน์ในเชิงที่ว่า ฝรั่งเศสนั้นแอบมาเจรจาลับๆ กับตนเพื่อถกเถียงเรื่องสันติภาพ คำกล่าวหาของเคานต์เชนินจุดระเบิดทางการเมืองครั้งใหญ่ กลายเป็นสงครามข่าวปลอมที่โต้กันไปมา จนฝรั้งเศสตั้งใจจบปัญหาด้วยการนำจดหมายลับของจักรพรรดิคาร์ลออกมาประจานกลางวงสื่อ
13 เมษายน 1918 จดหมายลับของจักรพรรดิออสเตรียถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แทนที่คาร์ลจะยอมรับ บอกว่าพระองค์ตั้งใจหยุดสงคราม สิ่งที่คาร์ลทำกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ทรงกล่าวว่าไม่รู้เรื่องจดหมายและไม่เคยคิดจะเจรจากับฝรั่งเศสมาก่อน แน่นอนว่าไม่มีใครเชื่อพระองค์อีกต่อไป คาร์ลแห่งออสเตรียเสียภาพลักษณ์ของการเป็นกษัตริย์หนุ่มความหวังใหม่ กลายเป็นจอมโกหกที่หักหลังได้แม้แต่เยอรมัน ซึ่งเป็นเพื่อนแท้เพียงชาติเดียว
เยอรมัน แน่นอนว่าผิดหวังเป็นอย่างมากและต้องการแก้แค้น ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 เรียกตัวคาร์ลมาพบที่เมืองสปาในเบลเยี่ยม เมื่อเจอกันต่อหน้า วิลเฮล์มไม่ปิดบังความรู้สึกที่พระองค์มีต่อจักรพรรดิออสเตรีย ทรงกล่าวว่าคาร์ลนั้นอ่อนแอและคิดคด เพื่อเป็นการลงโทษ วิลเฮล์มสั่งให้คาร์ลเซ็นเอกสารทุกฉบับ มอบอำนาจการบริหารกองทัพให้เยอรมัน ถือเป็นการสิ้นสุดบทบาทของออสเตรียอย่างเป็นทางการ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตอนนี้เป็นแค่รัฐบริวารของเยอรมัน ไม่ใช่พันธมิตรที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันอีกต่อไป
รัชสมัยของคาร์ลที่ 1 จบลงด้วยความอัปยศ ในสายตานานาชาติคาร์ลแห่งออสเตรียเป็นจักรพรรดิผู้อ่อนแอและกลับกลอก ในสายตาคนในประเทศ จักรพรรดิของพวกเขาเป็นพวกขายชาติ ยอมเซ็นเอกสารมอบออสเตรีย-ฮังการีให้กลายเป็นเมืองขึ้นของเยอรมัน ไม่มีใครต้องการจักรพรรดิคาร์ลและอำนาจของพระองค์ก็จบสิ้น
5 เดือนหลังคาร์ถูกลงโทษ เกิดการปฏิวัติใหญ่ในออสเตรีย-ฮังการี บรรดารัฐต่างๆ พากันประกาศตัวเป็นอิสระ ฮังการีเป็นประเทศสุดท้ายที่แยกตัวออกจากจักรวรรดิ โดยเลือกประกาศอิสรภาพในวันที่ 31 ตุลาคม 1918 มงกุฎสุดท้ายในฐานะกษัตริย์แห่งออสเตรียของคาร์ลถูกถอดออกพร้อมๆ กับการแพ้สงครามอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 เป็นการปิดฉากการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ ผู้กุมอำนาจในยุโรปกลางมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12
“ข้าพเจ้าขอสละทุกการมีส่วนร่วมในอำนาจบริหารรัฐกิจ” คาร์ลที่ 1 จักรพรรดิคนสุดท้ายของออสเตรีย-ฮังการีเลือกถ้อยคำอย่างชาญฉลาด ตามความเข้าใจของพระองค์ ทรงไม่ได้สละฐานะการเป็นจักรพรรดิ เพียงแค่มอบอำนาจการปกครองให้ผู้อื่นเพียงเท่านั้น คาร์ลกลับมาทวงคืนมงกุฎกษัตริย์แห่งฮังการีอีกสองครั้ง ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลวถึงสองหน เพื่อป้องกันไม่ให้จักรพรรดิเจ้าปัญหากลับมาอีก คาร์ลถูกเนรเทศไปไกลถึงมาเดรา เกาะในปกครองของโปรตุเกสที่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ถึง 900 กิโลเมตร จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์สวรรคตในวันที่ 1 เมษายน 1922 อายุเพียง 34 ปี
“บางที่คาร์ลอาจเป็นคนที่มาถูกที่ถูกเวลา เพราะเขาชี้ให้เห็นปัญหาทุกอย่างของระบบกษัตริย์ การที่ใครคนหนี่งมีอำนาจเหลือล้นแต่กลับไม่สามารถใช้มันได้อย่างเหมาะสม” แคทเธอรีน อุนเทอไรเนอร์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนาให้ความเห็นส่งท้าย เรื่องราวของคาร์ลอาจต่างไปหากพระองค์ยอมตัดใจมอบทรีเอสต์ให้อิตาลี หรือที่จริงแล้วออสเตรีย-ฮังการีก็ต้องถึงจุดจบอยู่ดีไม่ว่าทางไหน… แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
References:
How The Austro-Hungarian Empire Destroyed Itself – The Fall Of The Habsburgs