ความจริงกับนิยาย – เมื่อเจ้านายรัสเซียฟ้องค่ายหนังหลังพาดพิงสมาชิกราชวงศ์ในภาพยนต์ Rasputin & The Empress (1932)

ทุกวันนี้ผลงานภาพยนตร์ ซีรีย์ หรือหนังสือนิยายที่มีการพาดพิงหรือหยิบเอาเรื่องราวของราชวงศ์โรมานอฟมาใช้เป็นแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่พบเห็นกันทั่วไปแทบทุกสื่อ แต่ย้อนกลับไป 80 ปีก่อน ตอนสมาชิกราชวงศ์ส่วนใหญ่ยังมีชีวิต การหยิบเอาตัวละครที่มีเส้นแบ่งซ้อนทับระหว่างความจริงกับนิยายเคยกลายเป็นคดีฟ้องร้องครั้งใหญ่จนเกือบทำให้ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ต้องลมละลาย ค่ายหนังที่ว่าคือ MGM (Metro-Goldwyn-Mayer) ส่วนผู้ฟ้องร้อง คือเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ – ผู้สังหารรัสปูติน

ในช่วงทศวรรษที่ 1930s เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะชายผู้วางแผนสังหารรัสปูติน อันที่จริง เจ้าชายเคยออกหนังสือเพื่ออธิบายแผนการของพระองค์เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการทำหนังเกี่ยวกับรัสปูตินที่มีเจ้าชายเฟลิกซ์เป็นตัวละครหลักจึงไม่น่าเป็นปัญหา ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าค่ายหนัง MGM ต้องการทำหนังให้ได้กำไร นอกจากจะได้นักแสดงดังอย่างสามพี่น้องแบร์รีมอร์มาร่วมตัวกันในหนังเป็นครั้งแรก(และครั้งเดียว) ยังได้นักเขียนบทและกวีชื่อดังอย่างเมอเซดี เด อาคอสต้า มาเป็นผู้เขียนบท

เฟลิกซ์และอิริน่า เจ้านายโรมานอฟที่ทำการฟ้องร้อง MGM เฟลิกซ์เป็นเพียงคนเดียวของตระกูลยูสซูปอฟ ราชสกุลที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซียเป็นรองแค่พระเจ้าซาร์ ส่วนอิริน่าเป็นหลานลุงของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระมารดาของพระองค์คือแกรนด์ดัชเชสเชเนีย น้องสาวพระเจ้าซาร์ผู้หลบหนีการปฏิวัติมาพำนักอยู่ที่อังกฤษ

เมอเซดีรู้จักเจ้าชายยูสซูปอฟ เธอเคยได้ยินเจ้าชายเล่าเรื่องแผนลอบสังหารรัสปูตินดังนั้นจึงใช้เส้นสายส่วนตัวเพื่อสัมภาษณ์เจ้าชายเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องราว หลังจากค้นคว้าอยู่สักพัก เมอเซดีเสนอค่ายหนังเปลี่ยนแกนหลักจากการโฟกัสที่ชีวิตส่วนตัวของรัสปูติน ไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับราชวงศ์โรมานอฟ ค่ายหนังเห็นด้วยในประเด็นนี้ แต่ต้องการให้เมอเซดีเพิ่มฉากรุนแรงเข้าไปเพื่อเรียกเรตติ้ง ฉากที่ว่าคือการล่อลวงเจ้าหญิงอิริน่า – ภรรยาของเจ้าชายยูสซูปอฟโดยรัสปูติน เออร์วิง ทัลเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายผลิตของค่ายหนังกล่าวว่าฉากนี้ต้อง “รุนแรงและน่ากลัวมาก” เพื่อให้คนดูรู้สึกว่ารัสปูตินเป็นคนชั่วร้าย เมอเซดีไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ เธอกล่าวว่าเจ้าชายยูสซูปอฟ ย้ำเสมอเรื่องเจ้าหญิงอิริน่า ทรงกล่าวว่าภรรยาของพระองค์ไม่เคยพบรัสปูตินมาก่อน ดังนั้นการเพิ่มฉากที่ว่าเข้าไปถือว่าไม่เคารพบุคคลในประวัติศาสตร์ (ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และอาจได้รับผลกระทบจากหนัง)

รัสปูตินล่อลวงหญิงสาว ภาพจากภาพยนต์เจ้าปัญหา Rasputin & The Empress

บันทึกของเมอเซดีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เธอติดต่อไปหาเจ้าชายยูสซูปอฟ กล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เธอต้องการนำมาใช้ในหนัง เจ้าชายไม่ขัดข้อง ขอเพียงอย่างเดียวคือหนังต้องไม่กล่าวถึงเจ้าหญิงอิริน่า ทรงย้ำว่าหากมีการนำอิริน่าเข้ามาเกี่ยวข้อง พระองค์จะฟ้องร้องค่ายหนังข้อหาหมิ่นประมาท บันทึกของเมอเซดีอ้างว่าเธอได้นำคำบอกของเจ้าชายไปถึงค่าย หนัง แต่เออร์วิง ทัลเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายผลิตของ MGM ไม่สนใจ เขากล่าวว่า “บริษัทต้องมาก่อนความสัมพันธ์ส่วนตัว มาก่อนประวัติศาสตร์ มาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง” เมอเซดีถูกไล่ออก และให้ชาร์ล แมคอาเธอร์ นักเขียนบทชื่อดังอีกท่านมารับงานแทน

ค่ายหนังประกาศข่าวอย่างเป็นทางการ สามพี่น้องแบร์รีมอร์จะมาร่วมตัวกันเป็นครั้งแรกโดยมีลีโอแนล – พี่ชายคนโต รับบทเป็นรัสปูติน เอทอล – น้องสาวคนรอง รับบทซารีน่าอเล็กซานดร้า ส่วนจอห์น – น้องชายคนเล็ก รับบทเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ (ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าชายพอล เชโกดาเยฟ)

แมคอาเธอร์หลังเข้ามาปั่นบทให้ทันวันฉาย พบปัญหาเดียวกันเรื่องฉากล่อลวงเจ้าหญิงอิริน่า แมคอาเธอร์และเอทอล แบร์รีมอร์ แย้งค่ายหนังว่าครอบครัวยูสซูปอฟเป็นบุคคลจริงและยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาอาจไม่พอใจหากมีการกล่าวถึงเจ้าหญิงในทางเสื่อมเสีย การประท้วงในครั้งนี้ทำให้ค่ายหนังตัดสินใจเปลี่ยนชื่อตัวละครเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ เป็นเจ้าชายพอล เชโกดาเยฟ และเปลี่ยนชื่อเจ้าหญิงอิริน่าเป็นเจ้าหญิงนาตาชา อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับนิยายไม่ชัดเจนนัก ในยุคนั้นใครๆ ก็ทราบว่าผู้สังหารรัสปูตินคือเจ้าชายยูสซูปอฟ ส่วนภรรยาของพระองค์ก็ต้องเป็นเจ้าหญิงอิริน่า

จอห์น แบร์รีมอร์ ผู้รับบทเจ้าชายพอลให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าตัวละครของเขาเบสมาจากเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ ส่วนบทหนังเวอร์ชั่นแรกก็ยังเขียนชื่อตัวละครเป็นเฟลิกซ์กับอิริน่า หลังหนังถ่ายทำจนจบ ตัวหนังมีการเพิ่มข้อความเปิดซึ่งจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ “ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าการล่มสลายของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากความทะเยอทะยานอันบ้าคลั่งของชายเพียงคนเดียว ตัวละครในเรื่อง บางท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่เหลือพบความตายที่น่าสะเทือนใจ”

ราชวงศ์โรมานอฟ ภาพจากภาพยนต์เจ้าปัญหา Rasputin & The Empress

Rasputin & The Empress เข้าฉายในสหรัฐฯ วันที่ 23 ธันวาคม 1932 หนังทำเงินไปได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์ และยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ (แม้ค่ายหนังจะไม่พอใจนักเพราะคาดหวังมากกว่านี้) ข่าวดีคือเสียงวิจารณ์เป็นไปในแง่บวก ภาพยนตร์เรื่อง Rasputin & The Empress กล่าวถึงเจ้าหญิงนาตาชา ญาติของพระเจ้าซาร์ที่เป็นผู้แนะนำรัสปูตินเข้ามาในราชสำนัก รัสปูตินได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วแต่เจ้าชายพอล เชโกดาเยฟ – คู่หมั้นของนาตาชา เห็นว่ารัสปูตินจะทำลายราชวงศ์ เขาวางแผนลอบสังหารครั้งแรกแต่ล้มเหลวเพราะรัสปูตินใส่เสื้อกันกระสุน เพื่อเป็นการแก้แค้น รัสปูตินใช้กำลังกับนาตาชา เขากล่าวว่า “พวกเราจะมาลงโทษพอลด้วยกัน” หนังไม่ได้เล่าชัดๆ ว่าเกิดอะไรหลังจากนี้ นาตาชาพูดกับเจ้าชายพอลในภายหลังว่าเธอนั้น “ไม่เหมาะสมจะเป็นภรรยาของเขาอีกต่อไป” ไคลแม็กซ์ของหนังคือฉากต่อสู้กันระหว่างพอลกับรัสปูติน เจ้าชายเป็นฝ่ายชนะ และนำร่างของรัสปูตินไปทิ้งในแม่น้ำ ซาร์นิโคลัสที่ 2 ลงโทษพอลด้วยการเนรเทศ ซารีน่าอเล็กซานดร้าขอให้เจ้าชายพานาตาชาออกไปด้วย ทั้งสองลี้ภัยไปอังกฤษในขณะที่สมาชิกราชวงศ์ที่เหลือถูกสังหารในการปฏวัติ

เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟฟ้องร้องบริษัทหนังกล่าวว่าเจ้าหญิงนาตาชามีความใกล้เคียงกับอิริน่าและฉากของเธอกับรัสปูตินทำให้เจ้าหญิงเสื่อมเสีย บริษัทต้องหยุดการฉายหนังและออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ MGM ไม่ยอมทำตาม ดึงดันจะนำหนังไปฉายต่อที่อังกฤษในฤดูร้อนปี 1933 ครอบครัวยูสซูปอฟว่าจ้างแฟนนี่ โฮสแมน ทนายชื่อดังที่เคยสร้างชื่อในคดีที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง แฟนนี่เดินทางไปพบแกรนด์ดัชเชสเชเนีย น้องสาวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่อังกฤษ เชเนียเป็นมารดาของเจ้าหญิงอิริน่า พระองค์เชื่อว่าคดีนี้ต้องจบลงด้วยชัยชนะ มีการตัดสินใจว่าการฟ้องร้องจะต้องเกิดที่อังกฤษเนื่องจากคดีเรื่องการหมื่นประมาทในประเทศนี้มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า แถมครอบครัวของเจ้าหญิงอิริน่าส่วนมากใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ ภายใต้ความดูแลของราชวงศ์วินเซอร์

เฟลิกซ์และอิริน่าในปี 1934 เมื่อคดีถูกนำขึ้นศาลที่อังกฤษ

พระเจ้าจอร์จที่ 5 ถึงขั้นเอ่ยปากให้ทีมกฎหมายของพระองค์ลงว่าความในคดีเพราะแฟนนี่เป็นชาวอเมริกัน จำเป็นต้องมีตัวแทนและสำนักงานกฎหมายที่อังกฤษเป็นผู้ดำเนินการเรื่องเอกสาร ทีมกฎหมายของพระองค์ปฏิเสธ เห็นว่าไม่คุมกันที่จะนำชื่อเสียงราชวงศ์ไปเสี่ยงหากคดีเกิดแพ้ขึ้นมา แฟนนี่จึงว่าจ้างสำนักงานกฎหมายอื่น และได้ตัวเซอร์แพทริก แฮสติง – นักกฎหมายชื่อดังชาวอังกฤษอีกท่านมาเป็นบาริสเตอร์ ทำหน้าที่ว่าความในศาล

คดีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจน MGM ตัดสินใจตัดฉากล่อลวงเจ้าหญิงและประโยค “ฉันไม่เหมาะสมจะเป็นภรรยาของคุณ” ออกไปก่อนหนังเข้าฉายจริงที่อังกฤษ เจ้าหญิงอิริน่าให้การว่า ตัวละครเจ้าหญิงนาตาชาในเรื่องคือตัวเธออย่างชัดเจน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว (1913-1916) พระเจ้าซาร์ไม่มีหลานสาวคนไหนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ทางฝั่ง MGM โต้กลับโดยกล่าวว่า หากตัวละครนาตาชาคล้ายเธอจริง ก็ต้องมีเพื่อนสนิทใกล้ชิดติดต่อมาบ้าง เจ้าหญิงอิริน่กล่าวว่าเธอไม่เคยได้รับการติดต่อจากเพื่อนคนไหน เพราะตัวเธอไม่ได้ตอบจดหมาย ตัวแทนของ MGM ถามเจ้าหญิงว่าทราบหรือไม่ว่าตัวหนังได้มีการตัดฉากที่เป็นปัญหาออกไปแล้ว เจ้าหญิงถามกลับ แล้วมันสำคัญอย่างไร ในเมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว (เพราะหนังฉายที่อเมริกาไปก่อน) ตัวแทน MGM กล่าวว่าตัวละครนาตาชาไม่เหมือนอิริน่าเพราะเจ้าหญิงอิริน่าไม่ได้แนะนำรัสปูตินให้ราชสำนัก “มันไม่ตลกไปหน่อยหรือหากจะเชื่อมโยงตัวละครทั้งหมดเข้ากับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง” คราวนี่เจ้าหญิงตอบคำถามได้ดี “แล้วจะไม่ให้คิดได้อย่างไรในเมื่อตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องล้วนมีตัวตนอยู่จริง”

เซอร์แพทริก แฮสติง ตัวแทนของฝั่งราชวงศ์ กล่าวชื่นชมเจ้าหญิงว่า “ตอบคำถามได้ตรงไปตรงมา สง่างาม ปราศจากความลังเล” เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ ให้การต่อมากล่าวว่าหนังได้ใส่รายละเอียดหลายอย่างที่ชี้นำว่านาตาชาคือเจ้าหญิงอิริน่า ยกตัวอย่างเช่นวังของเจ้าชายพอลคือพระราชวังโมยก้า – พระราชวังอันเป็นที่พำนักเก่าแก่ของตระกูลยูสซูปอฟของพระองค์ ฝ่าย MGM แย้งว่าการสังหารรัสปูตินเป็นการกระทำของบุคคลมากกว่าหนึ่ง แกรนด์ดยุกดิมิทรี พาฟโลวิช ก็มีส่วนเกี่ยวข้องดังนั้นบุคคลที่สังหารรัสปูตินอาจมองเป็นพระองค์ก็เป็นได้ ส่วนเจ้าหญิงนาตาชาต่างจากอิริน่าเนื่องจากนาตาชาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของซารีน่า แต่อิริน่าตัวจริงนั้นไม่ใช่ ตัวแทนของฝ่ายราชวงศ์แย้งว่าบุคคลเดียวที่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สังหารรัสปูตินคือเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ และเจ้าหญิงอิริน่าคือคู่สมรสของพระองค์ เซอร์แพทริก แฮสติงกล่าวสรุปได้อย่างสวยงาม ยกเอาประโยคเปิดเรื่องที่กล่าวว่า

“ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าการล่มสลายของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากความทะเยอทะยานอันบ้าคลั่งของชายเพียงคนเดียว ตัวละครในเรื่อง บางท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่เหลือพบความตายที่น่าสะเทือนใจ

ในเมื่อสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟที่ถูกนำเสนอในเรื่องไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าซาร์ ซารีน่า และลูกๆ ของพระองค์ล้วนสิ้นพระชนม์ไปหมดแล้ว ดังนั้นตัวละครที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงสองคนคือพอลและนาตาชา ซึ่งหมายถึงเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ และเจ้าหญิงอิริน่า MGM จะหมายถึงใครไปได้อีก?

สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟ ภาพจากภาพยนต์เจ้าปัญหา Rasputin & The Empress

คดีถูกตัดสินยกให้เจ้าหญิงอิริน่าเป็นฝ่ายชนะ โดยให้มีการจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 25,000 ปอนด์ เจ้าหญิงอิริน่ายิ้มออกในท้ายสุด หนังสือพิมพ์กล่าวว่าเจ้าหญิงโทรหาแกรนด์ดัชเชสเชเนียหลังจากนั้น พระองค์ให้สัมภาษณ์ว่าทรงมีความสุขที่สุดในรอบหลายปี และจะเก็บเงินนี้ให้ลูกสาวเพื่อที่เธอและหลานๆ จะได้ไม่ต้องเจอกับชีวิตที่ยากลำบากเหมือนพระองค์ ในช่วงทศวรรษ 1930s มีข่าวลือมากมายกล่าวว่าเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ ทายาทเพียงคนเดียวของราชสกุลยูสซูปอฟเริ่มถังแตก พระองค์ขายงานศิลปะและเครื่องเพชรไปจนหมดและบางครั้งต้องจ่ายค่าอาหารด้วยเครดิต เจ้าชายพยายามหารายได้จากการเปิดแบรนด์เสื้อผ้า ออกแบรนด์น้ำหอม กระทั่งเปิดร้านอาหาร แต่กิจการไปได้ไม่ดีนัก ตัวแทนของ MGM มองว่าคดีของเจ้าหญิงอิริน่าเป็นไปเพื่อการหาประโยชน์ด้านเงินตรา มากกว่าการปกป้องชื่อเสียง เขากล่าวว่า แฟนนี่ – ทนายของเจ้าหญิง เคยต่อสายตรงไปหา MGM เพื่อเรียกค่าเสียหายก้อนใหญ่หากไม่ต้องการให้คดีเข้าสู่ชั้นศาล อิริน่าปฏิเสธ กล่าวว่าหากแฟนนี่ทำจริง เธอก็ไม่ได้เป็นคนออกคำสั่ง และไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก MGM เสนอเงินก้อนใหญ่อีก 75,000 ปอนด์ เพื่อเป็นข้อตกลงในการนำหนังเรื่องนี้ออกฉายในประเทศต่างๆ ร่วมถึงยอมตัดฉากที่มีปัญหาออกไป เปลี่ยนประโยคเปิดเรื่องเป็น ‘เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องแต่ง’ และออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ

เงินค่าเสียหายที่เจ้าหญิงอิริน่าได้ไปจากค่ายหนังยักษ์ใหญ่คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 ปอนด์ เทียบเท่าเงินปัจจุบันประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 100 ล้านบาท) ถือเป็นค่าเสียหายที่หนักที่สุดที่วงการภาพยนตร์เคยจ่ายในคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมื่นประมาท (ในยุคนั้น) นักกฎหมายของอังกฤษให้ความห็นว่า คำตัดสินอาจต่างไปหากประโยคเปิดของหนังใช้คำว่าเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง แต่ตัวละครเป็นบุคคลสมมุติ กรณีของเจ้าหญิงอิริน่ากลายเป็นบทเรียนสำคัญ ทุกวันนี้หนังต่างๆ จากฝั่งอเมริกา หากมีการอ้างอิงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หรือมีตัวละครที่คล้ายบุคคลจริง ก็มักจะขึ้นประโยคเพื่อปฎิเสธความรับผิดชอบโดยย้ำว่า ‘บุคคลในหนังเป็นตัวละครสมมติ’

Reference:

The Princess on the Witness Stand: Irina Yusupova vs. MGM

How Rasputin’s killer made Hollywood ALWAYS use a disclaimer!

Youssoupoff v Metro-Goldwyn-Maher Pictures Ltd (1934): Ra Ra Rasputin – Not the Lover of this Russian Queen

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like