แอนน์และชาร์ล จะเป็นอย่างไรหากเจ้าหญิงแอนน์ได้สืบทอดบัลลังก์

เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ สาวแกร่งของบ้าน – จะเป็นอย่างไรหากแอนน์และชาร์ลสลับหน้าที่กัน

“ถ้าพวกโจรลักพาตัวแอนไปจริงๆ เธอต้องทำให้พวกเขาเสียใจแนเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ กล่าวไว้เช่นนี้เมื่อรู้ข่าวการพยายามลักพาตัวเจ้าหญิงแอนในปี 1974 เจ้าหญิงในขณะนั้นอายุ 24 ทรงเสียงดังใส่โจรลักพาตัวที่พยายามพาตัวเธอลงจากรถพระทีนั่ง “Not bloody likely” – ไม่มีวันเสียล่ะ! เจ้าหญิงกล่าว และสิ่งที่แอนน์ทำในเช้าวันรุ่งขึ้น คือการกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ นิสัยสู้คน ดุดัน และตรงไปตรงมาของแอนน์ถูกมองว่า ภาพจำลองที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้วของเจ้าชายฟิลิปผู้เป็นพระบิดา หลายคนบอกว่าเจ้าหญิงแอนน์เป็นลูกชายแบบที่ฟิลิปอยากได้และไม่เคยมี และหลายคนตั้งข้อสงสัย จะเป็นอย่างไรหากเจ้าหญิงแอนน์เป็นรัชทยาทบัลลังก์อังกฤษและได้ขึ้นนั่งบัลลังก์แทนที่กษัตริย์ชาร์ล?

แอนน์ เจ้าหญิงราชกุมารี ลูกสาวคนโปรดของเจ้าชายฟิลิป

เจ้าหญิงแอนน์เป็นลูกคนที่สองและเป็นพระธิดาองค์เดียวของควีนเอเลิซาเบธที่ 2 กับ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทลำดับ 3 เมื่อแรกประสูติ ตามหลังเพียงเจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ยศในขณะนั้นของพระมารดา) และเจ้าชายชาลส์ (พระเชษฐา) เมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นเป็นพระราชินี แอนน์กลายมาเป็นรัชทายาทลำดับ 2 และเมื่อเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดประสูติในอีกราวสิบปีต่อมา เจ้าหญิงแอนน์ตกอันดับไปเป็นรัชทายาทลำดับ 4 – ตามกฎการสืบราชบัลลังก์ของอังกฤษที่ให้สิทธิ์ทายาทเพศชายก่อนเพศหญิง ปัจจุบันเจ้าหญิงแอนอยู่ในลำดับที่ 16 ตามกฎการสืบทอดบัลลังก์ ตามหลังพี่น้องผู้ชายทั้งหมด และลูกชาย/ลูกสาว ของทุกพระองค์ (กฎที่ว่านี้ยกเลิกไปในภายหลัง เปลี่ยนเป็นการเรียงลำดับตามการเกิด ทำให้เจ้าหญิงชาร์ล็อต – พระธิดาของเจ้าชายวิลเลียมมีลำดับการสืบราชบัลลังก์อยู่นำหน้าน้องชายคือเจ้าชายหลุยส์)

เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ เจ้าฟ้าชายชาร์ล(ปัจจุบันคือกษัตริย์ชาร์ลที่ 3) กับพระบิดาและพระมารดา

ตอนควีนเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา (พระเจ้าจอร์ชที่ 6) เจ้าหญิงแอนน์เพิ่งมีอายุได้ 2 ขวบ ทรงอ่อนกว่าเจ้าชายชาร์ล 18 เดือน และเนื่องจากพระมารดาของพระองค์ต้องทำงานแทบจะตลอดเวลา ทำให้ชาร์ลและแอนน์เป็นพี่น้องที่สนิทกัน ตรงกันข้ามกับชาร์ลที่เป็นคนอ่อนโยนและคิดมาก แอนเป็นกล้าคิดกล้าทำ และมักจะนำหน้าพี่ชายอยู่เสมอ เป็นที่รู้กันว่าแอนน์เป็นลูกสาวคนโปรดของเจ้าชายฟิลิป ทรงกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าแอนเหมือนพระองค์ที่เป็นคน “ตรงประเด็น”

ต่างจากเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต – สมเด็จน้า ที่ได้รับการสั่งสอนในราชวัง เจ้าหญิงแอนน์เป็นราชวงศ์ชั้นสูงฝ่ายหญิงคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนร่วมกับสามัญชน ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ไมใช่นักวิชาการและทรงเลือกจะไม่ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแต่เริ่มทำงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงตั้งแต่อายุ 18 ปี เจ้าหญิงแอนน์ขึ้นชื่อว่าเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่รับงานหนักที่สุด ทรงออกงานวันละ 4-5 ครั้ง และสมัครใจจะเดินทางไปสกอตแลนด์ในตอนเช้า บินกลับมาร่วมงานที่ลอนดอนในตอนค่ำ ทุกคนกล่าวขวัญว่าแอนเป็น “มืออาชีพมากที่สุด” และมักถูกส่งไปปฎิบัติหน้าที่ในประเทศที่มี “ความยากลำบากทางการทูต” อย่างตะวันออกกลาง แอนน์เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษคนแรกที่เดินทางไปสหภาพโซเวียตในปี 1990 ราชวงศ์อังกฤษไม่เคยเหยียบแผ่นดินรัสเซียอีกเลยหลังเกิดการปฏิวัติและปลงพระชนม์ซาร์นิโคลัสที่ 2 กินเวลายาวนานร่วม 70 ปี

มือหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ผู้ทำหน้าที่เต็มเวลา

การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหญิงแอนได้รับเสียงชื่นขมว่า “มีประสิทธิภาพ” และ “เป็นมืออาชีพ” ในขณะที่ควีนเอลิซาเบธมักนิ่งเงียบเพื่อสังเกตการณ์ แอนน์เป็นคนชอบตั้งคำถามและมักสนทนาด้วยท่าทีผ่อนคลาย ทรงมีมุกตลกมากมายและเก่งในการล้อเล่นผสมจริงเหมือนเจ้าชายฟิลิป ถึงอย่างนั้นเจ้าหญิงก็มีช่วงเวลาที่ยากลำบากกับวงการสื่อ ทรงไม่สนใจทำตัวให้ ‘ป๊อปปูล่า’ ทรงไม่ชอบตอบคำถาม ไม่ยิ้มหน้ากล้อง และไม่ชอบการสร้างกระแสในทุกทาง หลายคนมักติดภาพเจ้าหญิงไดอาน่า (พระชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ล ตามยศในขณะนั้น) ทำงานการกุศลในพื้นที่ยากลำบากอย่างแอฟริกา แต่หลายคนไม่ทราบว่าเจ้าหญิงแอนน์ทำงานเช่นนี้มาก่อนและเคยลงพื้นที่กับองค์กรมากมายไม่ต่างจากไดอาน่า เมื่อมีคนถามว่าแอนรู้สึกอย่างไรที่พระองค์ไม่ได้รับความนิยม ทรงกล่าวสั้นๆ “เราอยากได้รับความเคารพมากว่าความชื่นชม โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เราแทบไม่รู้จัก”

เจ้าฟ้าหญิงแอนน์และเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งมีวิธีปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อุปนิสัยเรียบง่ายของแอนสะท้อนให้เห็นชัดที่สุดผ่านชีวิตครอบครัว เจ้าหญิงสมรสครั้งแรกกับกัปตันมาร์ก ฟิลิป นักกีฬาขี่ม้าชาวอังกฤษผู้เคยคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกที่เยอรมนี งานสมรสของทั้งสองแม้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในวิหารเวสต์มินสเตอร์ แต่แอนน์กลับเลือกชุดแต่งงานอย่างง่ายและใช้ช่างตัดเสื้อเจ้าประจำแทนที่จะเป็นแบรนด์ชุดแต่งงานหรูหรา เค้กแต่งงานของแอนน์ทำจากเบเกอรี่ของกองทัพเรือ และเมื่อคู่สมรสได้รับการเสนอตำแหน่งเอิร์ลจากราชินี แอนน์และมาร์กปฎิเสธ (ตามธรรมเนียมอังกฤษจะมีการมอบยศให้ลูกเขยของราชวงศ์ที่สมรสกับเจ้าหญิงระดับ Royal Princess เช่นเดียวกับที่แอนโทนี อาร์มสตรอง-โจนส์ คู่สมรสของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตได้รับการแต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งสโนว์ดอน)

ชุดแต่งงานของเจ้าหญิงแอนน์กับพระสวามีคนแรกคือกัปตันมาร์ก ฟิลิป

การตัดสินใจของแอนน์และมาร์กมาจากความจริงที่ว่าทั้งสองอยากให้ลูกๆ ที่กำลังจะเกิดมาสามารถใช้ชีวิตแบบสามัญชนโดยไร้ซึ่งตำแหน่ง ปีเตอร์และซาร่า บุตรและธิดาของทั้งสองเป็นหลานเพียงสองคนของราชินีที่ไม่มียศนำหน้า การตัดสินใจของแอนน์ต่างจากเจ้าชายแอนดรูว์ที่ต้องการให้พระธิดาทั้งสองของพระองค์ดำรงยศอย่างสูงสุดและได้รับความคุ้มครองอารักขาอย่างแน่นหนา ที่เป็นแบบนี้เพราะแอนทราบดีว่าตำแหน่งหมายถึงหน้าที่ และเธอในฐานะ Royal Princess ต้องทำหน้าที่ตอบแทนสิทธิที่มีมาแต่กำเนิด

เมื่อเวลาผ่านไป และควีนเอลิซาเบธมีอายุมากขึ้นจนต้องงดการเดินทางต่างประเทศ เจ้าหญิงแอนน์มักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ราชินีเลือกให้ทำหน้าที่แทนพระองค์ ภาพสะท้อนของควีนเอลิซาเบธที่ฉายทับเจ้าหญิงแอนน์ ทำให้หลายคนสงสัย จะเป็นอย่างไรหากเจ้าหญิงแอนกับเจ้าชายชาร์ลสลับบทบาทกัน?

แอนน์ในบทบาทรัชทายาทและราชินี?

เคธี่ นิโคล นักขาวราชสำนักจาก Vanity Fair กล่าวถึงเจ้าหญิงแอนน์ว่า “นิสัย ‘หน้าที่มาก่อนเรื่องส่วนตัว’ ของพระองค์ เป็นสิ่งที่ทรงได้รับมาจากพระมารดา ทรงเป็นเจ้าหญิงที่ทรงงานหนัก พึ่งพาได้ และที่สำคัญ มีความรับผิดชอบต่อประเทศ คุณค่าเหล่านี้ทำให้ทรงได้รับการถกเถียงว่าเป็นทายาทที่คู่ควรกับบัลลังก์มากที่สุดในบรรดาลูกๆ ทั้งหมดของราชินี”

ในขณะที่เพนนี จูนอร์ ผู้เขียนชีวประวัติราชวงศ์วินเซอร์เห็นต่าง เธอมองว่า นิสัย ‘ขวานผ่าซาก’ ของเจ้าหญิง ไม่เหมาะกับการเป็นราชินี “เป็นไปได้ว่าเจ้าหญิงแอนน์จะปฏิบัติตัวต่างไปหากทรงเป็นทายาทลำดับหนึ่ง แต่ฉันสงสัยในเรื่องนั้น เจ้าหญิงทรงเหมือนพระบิดามากเกินไป และเจ้าชายฟิลิป แน่นอนว่าทรงสร้างสีสันมากมายให้ราชวงศ์ แต่เราเห็นตรงกันว่าควีนเอลิซาเบธทำหน้าที่ของเธอได้ดีกว่า”

แอนน์และชาร์ล สองพี่น้องที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าหากสลับที่กัน โฉมหน้าของราชวงศ์อังกฤษจะเป็นอย่างไร

เอมิลี แอนดรูว์ ที่ปรึกษาราชวงศ์เชื่อว่าเจ้าหญิงแอนมี ‘Persona’ (ลักษณะนิสัย) ที่เหมาะสมกับการเป็นราชีนี เพราะ “ทรงไม่สนใจว่าใครจะพูดถึงพระองค์ว่าอย่างไร ทรงไม่ชอบเล่นเกมกับสื่อ ในทางกลับกัน ทรงทำงานของพระองค์อย่างดีที่สุด และทิ้งหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นของประชาชนโดยอิสระ”

อย่างไรก็ดี เจนนี บอนน์ อดีตนักข่าวราชสำนักของ BBC มองมุมกลับและกล่าวว่าอุปนิสัยเหล่านี้นี่แหละที่เป็นข้อเสีย “เจ้าหญิงแอนน์ไม่สนใจคำวิจารณ์และเป็นไปได้มากว่าพระองค์จะทำอะไรแบบเดิมๆ โดยไม่สนใจกระแสสังคม ราชวงศ์อังกฤษในยุคปัจจุบันต้องการผู้นำที่เปิดกว้าง และรับฟังมากกว่านี้ ชาร์ล และวิลเลียมเป็นสองตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะทั้งสองพระองค์แคร์ความรู้สึกของประชาชนมากกว่า”

“ชาร์ลเป็นคนคิดมาก เขาอ่อนไหว และให้ความสำคัญกับเรื่องราวระหว่างทาง แต่ไม่ใช่ว่าคนแบบเรากับแอนจะไม่แคร์ความรู้สึกใคร เรารู้ว่าทำให้ทุกคนถูกใจไม่ได้ และเราสนใจผลลัพท์กันมากกว่า” เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เคยกล่าวเปรียบเทียบนิสัยของลูกชายและลูกสาว

ในปี 2020 เจ้าหญิงแอนมีพระชนมายุครบ 70 ปี เมื่อสื่อต่างๆ ถามพระองค์ว่า ทรงมีข้อคิดกับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างไร ทรงตอบด้วยประโยคสั้นๆ “อย่าลืมเรื่องพื้นฐาน – Don’t forget the basics”

Reference:

แปลและเรียบเรียงจากสารคดี

Princess Anne: The Daughter Who Should Be Queen | 2020 Documentary

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like