เส้นทางชีวิตสุดเศร้าของเจ้าชายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด จากหลานชายคนเล็กของควีนวิกตอเรีย สู่นายทหารนาซีคนสนิทของฮิตเลอร์

ในปี 1953 ชายแก่วัยใกล้ฝั่งกำลังดูภาพบันทึกงานฉลองขึ้นครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในโรงหนังแห่งหนึ่งที่ประเทศเยอรมนี ชายคนนี้มีผมสีขาวโพลน สายตาแย่จนแทบมองไม่เห็น ท่านเพ่งมองภาพแสนสุขตรงหน้าราวกับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกแสนห่างไกล ทั้งที่ในความจริง ท่านเองก็มีสิทธิ์ร่วมฉลองกับเหตุการณ์แสนสุขอยู่ตรงนั้น หากไม่เกิดเหตุพลิกผันที่ผลักดันให้ท่านต้องมาจบชีวิตบั้นปลายโดยไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน ชายชราผู้นั้นคือเจ้าชายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งอังกฤษและหลานชายคนเล็กของควีนวิกตอเรีย

เจ้าชายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด หรือ ชาลี เป็นลูกชายเพียงคนเดียวของเจ้าชายลีโอพอล – ลูกชายคนสุดท้องของควีนวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรกับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามี ลีโอพอลมีชะตาชีวิตน่าสงสารเพราะเกิดมาพร้อมโรคฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดไหลไม่หยุด) ทรงมีสุขภาพอ่อนแอและเสียชีวิตไปก่อนจะได้เห็นหน้าลูกชาย เจ้าชายชาลีจึงมีความสำคัญตั้งแต่ยังไม่คลอด เพราะต้องเป็นผู้สืบทอดสมบัติและยศศักดิ์ทั้งหมดของพระบิดา การเสียชีวิตของเจ้าชายลีโอพอลนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ครอบครัว และเป็นเหตุสำคัญให้ควีนวิกตอเรียซึ่งเป็นสมเด็จย่า หันมาให้ความสนใจและเอาใจใส่ครอบครัวของเจ้าชายลีโอพอลมากเป็นพิเศษ

เจ้าชายชาลี

เจ้าชายชาลีมีพี่สาวเพียงคนเดียวคือเจ้าหญิงอลิส ทั้งสองสนิทสนมและมักไปไหนมาไหนด้วยกันจนถูกเรียกด้วยความเอ็นดูว่าเป็นฝาแฝด ชาลีมีวัยเด็กที่สมบูรณ์แบบ ควีนวิกตอเรียมักมาเยี่ยมหลานๆ อยู่เสมอ เจ้าหญิงอลิสกล่าวถึงควีนวิกตอเรียว่า “ทรงเป็นท่านย่าที่น่ารัก มักเล่าเรื่องตลกและมีใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่เสมอ ในวันที่พวกเราเสียฟันน้ำนมซี่แรก ท่านยามอบเงินให้พวกเราแทนค่าฟัน หลังจากนั้นทุกครั้งที่ฟันหลุด เราจะเก็บฟันไว้เพื่อไปแลกเงินจากท่านย่า ครั้งหนึ่งเราเก็บฟันไปให้ 3 ซี่ด้วยกัน ท่านตอบกลับมาว่า ‘ที่รัก นี่มันแพงมากนะรู้มั้ย’”

เจ้าชายชาลีกับพี่สาว – เจ้าหญิงอลิซ

เจ้าชายชาลีรับสืบทอดตำแหน่งดยุกแห่งออลบานี ต่อจากพระบิดา สำหรับเจ้าชายน้อย ชีวิตแสนสุขเหมือนจะไม่มีวันจบลง ชาลีในวัย 14 เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนอีตัน แต่ในปีนั้นเหตุการณ์พลิกผันก็เกิดขึ้น เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ลูกชายคนที่สองของควีนวิกตอเรียสิ้นพระชนม์โดยไม่มีทายาทชาย ตำแหน่งที่ว่างลงกลายเป็นที่สนใจของควีนวิกตอเรียที่ต้องการให้ลูกชายหรือหลานชายสืบทอดตำแหน่งนี้ต่อไป โคบวร์คเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญมากมายในเยอรมัน ถึงอย่างนั้นเมืองนี้กลับมีคุณค่าทางใจเพราะเป็นสถานที่แทนตัวเจ้าชายอัลเบิร์ต – พระสวามีสุดที่รักของราชินีที่สิ้นพระชนม์ไปเมื่อหลายปีก่อนหน้า (เนื่องจากเจ้าชายอัลเบิร์ดมาจากเมืองนี้และ ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ก็เป็นชื่อราชสกุลที่ควีนวิกตอเรียทรงใช้หลังสมรส)

ตำแหน่งดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ถูกปฎิเสธจากเจ้าชายอาเธอร์ ลูกชายคนที่สามที่ไม่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเยอรมนี ควีนวิกตอเรียมองมาที่หลานชายคนเล็กและเห็นว่าเจ้าชายชาลีสมควรรับสืบทอดตำแหน่งนี้ ทรงยืนยันเด็ดขาดว่าหน้าที่ของเจ้าชายคือทำตามคำสั่งของราชินี ส่วนเหตุที่ควีนวิกตอเรียกดดันชาลีอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรงมีอิทธิพลเหนือครอบครัวของเจ้าชายมาแต่ต้น และอีกหนึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะทรงเชื่อเสมอว่าเจ้าชายลีโอพอล พระบิดาของชาลีที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน เป็นลูกชายที่ละม้ายคล้ายเจ้าชายอัลเบิร์ตมากที่สุด

เจ้าชายชาลีต้องออกจากอังกฤษในทันทีเพื่อไปรับหน้าที่ใหม่ในเยอรมัน ทรงแทบตรัสภาษาเยอรมันไม่ได้และต้องย้ายจากอีตันไปเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในเยอรมันตามราชประเพณี อนาคตของเจ้าชายต่อจากนี้ ได้รับการดูแลใกล้ชิดโดยไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย – ลูกพี่ลูกน้องซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายคนโตของควีนวิกตอเรีย ไกเซอร์วิลเฮล์มดูแลใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าชาลีเติบโตเป็นเจ้าชายเยอรมันเต็มตัว แม้แต่คู่สมรสก็ทรงจัดหาให้ – เจ้าหญิงวิกตอเรีย อาเดลไฮด์ นอกจากจะเป็นเจ้าหญิงเยอรมันโดยสายเลือด ยังเป็นหลานสาวแท้ๆ ของไกเซอร์

เจ้าชายชาลีไปรับตำแหน่งที่เยอรมัน

ควีนวิกตอเรียสวรรคตหลังเจ้าชายชาลีเดินทางไปรับตำแหน่งในเยอรมันได้ไม่ถึงหนึ่งปี และในปี 1914 จุดพลิกผันครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนนั้นเจ้าชายชาลีในวัย 30 กำลังกลับมาเยี่ยมเจ้าหญิงอลิสที่อังกฤษ ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่าเป็น “จุดสิ้นสุดของความสุข” ในฐานะดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ทรงมีหน้าที่ทำการรบให้ฝั่งเยอรมัน ถึงอย่างนั้นก็ทรงประกาศชัด ไม่ขอประจันหน้ากับกองทัพอังกฤษและเลือกจะไปคุมกองกำลังในแนวรบตะวันออก การสิ้นสุดลงของสงครามที่ตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ทำให้เจ้าชายต้องสูญเสียยศศักดิ์และอำนาจในการปกครองเมืองไปทั้งหมด ที่แย่กว่านั้น คือทรงถูกถอดยศออกจากราชวงศ์ฝั่งอังกฤษ แม้แต่ตำแหน่งดยุกแห่งออลบานีซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากพระบิดาก็ไม่สามารถเก็บไว้

ชาร์ล็อต ซีฟวาร์ต นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษกล่าวว่าเหตุการณ์นี้กระทบจิตใจเจ้าชายเป็นอย่างมาก “พระองค์มักเซ็นชื่อด้วยคำว่า ‘ออลบานี’ มาตั้งแต่อายุยังน้อย การสูญเสียครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการสูญเสียตัวตนของพระองค์” ความโชคร้ายของเจ้าชายยังไม่หมดแค่นั้น กระแสคอมมิวนิสต์เริ่มเป็นที่นิยมในเยอรมัน คนงานเริ่มเดินขบวนประท้วงสร้างความหวาดกลัวให้ราชวงศ์ในเยอรมันเป็นอย่างมาก (เพราะมีตัวอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์โรมานอฟ) เจ้าชายมองว่าทางเดียวที่จะนำความสงบกลับมาคือการพึ่งพาพรรคนาซีที่กำลังมีอิทธิพลในขณะนั้น ชาลีเปิดวังต้อนรับฮิตเลอร์ ทรงเป็นเจ้าชายคนแรกที่เข้าร่วมกับพรรคนาซีตั้งแต่ปี 1922 ทรงเขียนจดหมายไปหาเจ้าหญิงอลิสในอังกฤษ “มันพิเศษมากที่เราสามารถกลับมามีตำแหน่งทางการทหารและการเมืองได้อีกครั้ง ในที่สุดก็มีคนต้องการเราเสียที”

ฮิตเลอร์ตั้งเจ้าชายชาลีให้เป็นประธานสมาคมมิตรภาพอังกฤษ-เยอรมัน ภารกิจของพระองค์คือ การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างอังกฤษและเยอรมนีและสืบหาความเป็นไปได้ในการทำสัญญาระหว่างทั้งสองประเทศ ด้วยตำแหน่งหน้าที่ใหม่ เจ้าชายสามารถเดินทางกลับไปอังกฤษได้อีกครั้งหลังถูกเนรเทศเพราะเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1

เจ้าชายชาลีหลังเข้าร่วมกับฮิตเลอร์

“ท่านปู่ของฉันเป็นคนขี้อาย แต่ท่านก็ตลกในบางครั้ง สำหรับพวกเราทุกคน ท่านเป็นคนสุภาพและอ่อนโยน ทรงเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษอย่างเต็มตัว และต้องดื่มชาของอังกฤษเท่านั้น ทุกวัน ในเวลา 5 โมงเย็น” วิกตอเรีย ฮันนิงตัน-ไวทเลย์ หลานสาวของเจ้าชายชาลีกล่าว หนึ่งในเชื้อพระวงศ์ที่ทรงสนิทสนมมากที่สุด คือเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ก่อนสละราชมบัติเพื่อสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน ม่ายสาวชาวอเมริกัน) ทั้งสองมีความชื่นชมฮิตเลอร์ไม่แพ้กัน ทรงมั่นใจมากว่าหากเอ็ดเวิร์ดขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อไหร่ อังกฤษจะไม่มีวันประกาศสงครามกับเยอรมัน

ชาลียังได้รับบทสำคัญเป็นประธานกาชาดเยอรมัน หน่วยงานซึ่งมีความสำคัญมากเพราะควบคุมดูแลพยาบาลร่วมสีแสนคน หมออีกกว่าห้าพัน และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ หน่วยงานใต้การดูแลของเจ้าชายมีส่วนร่วมสำคัญในโครงการอัคซีโยน เท4 ดูแลการสังหารหมู่ผ่านด้วยการการุณยฆาต สำหรับพลเมืองที่ป่วยเป็นโรคทางจิต พิกลพิการ หรือป่วยเรื้อรังหมดทางรักษา ซึ่งถึอว่าเป็นกลุ่มอ่อนแอของสังคม ชาลียังสนับสนุนนโยบายกวาดล้างยิวในโคบวร์ค และประกาศว่าเมืองของเขาเป็นเขตปลอดยิว แนวคิดต่อต้านยิวของเจ้าชาย มาจากความคิดที่ทรงรู้สึกว่าคอมมิวนิสต์กับยิวเป็นพวกเดียวกัน และการกำจัดยิวก็ถือเป็นการสร้างความปลอดภัยให้พระองค์และครอบครัว

เจ้าชายชาลีหลังเข้าร่วมกับฮิตเลอร์

การประกาศสงครามระหว่างอังกฤษและเยอรมันที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ผลักเจ้าชายชาลีให้อยู่ในฐานะยากลำบากอีกครั้ง ครั้งนี้จะเป็นเส้นทางที่ไม่สามารถหันหลังกลับ ลูกชายทั้งสามของเจ้าชายล้วนสมัครเป็นทหารและรบให้ฝ่ายเยอรมัน เจ้าชายฮูแบร์ตุส ลูกชายคนโปรดของชาลี เสียชีวิตในสงคราม และเมื่อการรบมาถึงจุดสิ้นสุด ฮิตเลอร์ ซึ่งกำลังเตรียมการฆ่าตัวตายได้ส่งโทรเลขมาที่โคบวร์คเพื่อสั่งการทหารในเมืองเป็นครั้งสุดท้ายขอให้ปกป้องเจ้าชายไม่ให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายศัตรู อย่างไรก็ดี กองทัพอเมริกามาถึงโคบวร์คในท้ายที่สุด เจ้าชายชาลีและครอบครัวมองทหารอเมริกันเดินเข้าเมืองผ่านปราสาทของพวกเขาในมุมสูง

“ผู้บัญชาการทหารของฝ่ายอเมริกันมาที่ปราสาท ขอพบท่านปู่และพาตัวท่านไป ท่านย่ารอท่านปู่อยู่หลายวัน เราคิดว่าท่านจะกลับมาทันเวลาอาหารค่ำของวันนี้ ไม่ก็อาหารกลางวันของวันถัดไป แต่ท่านก็ไม่กลับมา ท่านปู่หายไปร่วมสัปดาห์จนเรากังวล ท่านปู่จำเป็นต้องทานยา แล้วไหนจะเสื้อผ้าอีก? พวกเขาเอาตัวท่านไปไหน?” วิกตอเรีย หลานสาวของเจ้าชายให้สัมภาษณ์ ตอนนั้นเธอเพิ่งมีอายุได้ 10 ปี เจ้าชายถูกขังในค่ายกักกันเชลยศึกของฝ่ายอเมริกัน เจ้าหญิงอลิส พี่สาวของเจ้าชาย เดินทางมาเยอรมันเพื่อขอพบน้องชาย ทรงตกใจที่ได้เห็นสภาพซูบผอมของพระองค์ หลานชายผู้แสนมีค่าของควีนวิกตอเรีย บัดนี้กลายเป็นชายแก่ที่ต้องค้นหาเศษอาหารจากถังขยะ ทรงพยายามใช้เส้นสายเพื่อช่วยเหลือน้องชายแต่ก็ไม่เป็นผล เจ้าชายชาลีถูกนำตัวขึ้นศาลและได้รับการตัดสินว่ามีความผิดในฐานะสมาชิกพรรคคนสำคัญของนาซี ทรงต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมากจนแทบล้มละลาย แต่ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเพราะทรงป่วยและชรามากแล้ว

“ฉันตกใจมากเมื่อได้พบท่านปู่อีกครั้ง ท่านเคยเป็นคนแข็งแรงกว่านี้ก่อนจากไป ตอนนี้ท่านเป็นชายชราที่ดูป่วยหนักและร่างกายอ่อนแอ แต่เราก็มีความสุขในที่สุด ท่านได้อยู่กับครอบครัวที่รักท่าน เรามีภาพเก่าๆ มีสุนัขตัวโปรด และแม้บ้านของเราจะหลังเล็กแต่เราก็ได้อยู่พร้อมหน้า ไม่มีใครต้องถูกขังคุกอีกแล้ว”

เจ้าชายถูกเนรเทศห้ามเข้าประเทศอังกฤษอีกตลอดชีวิต แต่ไม่เคยลืมสายใยที่ทรงมีต่อประเทศบ้านเกิด ในปี 1953 เจ้าชายออกจากบ้านเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเดินทางไปโรงภาพยนต์ ทรงรับชมภาพงานฉลองขึ้นครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เพียงลำพัง

“ฉันคิดว่าท่านปู่คงร้องไห้ ทรงเสียใจมากที่ไม่ได้รับการยอมรับให้กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทรงเห็นเจ้าหญิงอลิส พี่สาวที่ท่านทรงรักมาก ท่านคงอดคิดไม่ได้ว่าหากชีวิตไม่เล่นตลกร้าย ท่านอาจได้อยู่ตรงนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน”

Reference:

The Disturbing Story Of The Nazi Royal | Hitler’s Favourite Royal | Real Royalty

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like