ว่าด้วยคดีแอนนา แอนเดอร์สันกับการตามหาอนาสตาเซีย – แกรนด์ดัชเชสที่หายไป

แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซียเป็นลูกสาวคนที่สี่ของพระเจ้าซาร์คนสุดท้าย พระบิดาของพระองค์คือพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ส่วนพระมารดาคือซารีน่าอเล็กซานดร้า (พระนามเดิมเจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์และไรน์)

การเกิดของลูกสาวคนที่สี่แทนที่จะเป็นลูกชายสร้างความลำบากใจให้พ่อแม่เป็นอย่างมาก นอกจากทั้งคู่จะมีลูกสาวอยู่แล้วถึงสามคน ความนิยมของพระเจ้าซาร์และซารีน่าในตอนนั้นก็ไม่สู้ดี – โดยเฉพาะกับตัวซารีน่าที่ไม่ป็อปปูล่าอยู่แล้วในหมู่คนรัสเซีย

มองมาถึงตรงนี้ การเกิดของอนาสตาเซียจึงนำมาซึ่งความผิดหวังพอๆ กับดีใจ พระเจ้าซาร์ถึงขั้นต้องออกไปเดินทำใจสงบสติอารมณ์อยู่พักใหญ่ ก่อนเข้าไปเยี่ยมภรรยากับลูกสาวที่เพิ่งคลอด

“แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซียลืมตาดูโลกในเวลาหกโมงเช้า การคลอดปกติ และกินเวลาสามชั่วโมง พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดให้อภัยพวกเราด้วยที่รู้สึกผิดหวังมากกว่าดีใจ เราอยากได้ทารกชาย แต่นี่เป็นลูกสาวคนที่สี่” – ญาติของพระเจ้าซาร์เขียนไว้ในบันทึก

“โชคยังดีที่อเล็กซานดร้ายังยิ้มได้” – นิโคลัสที่ 2 กล่าวเพียงสั้นๆ

ในจำนวนลูกสาวทั้งสี่คนของพระเจ้าซาร์ อนาสตาเซียถือเป็นเด็กซนที่มีสีสันมากที่สุด โอลก้า – ลูกสาวคนโต เป็นคนฉลาด จริงจัง และมุ่งมั่น ทาเทียน่า – ลูกสาวคนรอง สวยสง่า มีความเป็นผู้นำ ส่วนมาเรีย – ลูกวาวคนที่สาม เป็นสาวหวานที่มีจิตใจอ่อนโยนและว่าง่าย

แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซียเกินในวันที่ 18 มิถุนายน 1901 สร้างความผิดหวังให้ราชสำนักและคนรัสเซีย ทำให้ความนิยมของซารีน่าอเล็กซานดร้าที่ไม่สู้ดีอยู่แล้วยิ่งดึ่งเหว ที่เป็นแบบนี้เพราะคนรัสเซียยังคงชื่นชอบพระนางมาเรีย ฟีโอโดรอฟน่า ซารีน่าพระองค์ก่อนซึ่งเป็นพระมารดาของซาร์นิโคลัสมากกว่า

ปิแอร์ กิลเลียต อดีตครูสอนภาษาฝรั่งเศสของราชวงศ์โรมานอฟ กล่าวถึงอนาสตาเซียว่าเป็นเด็กฉลาดและพรสวรรค์ด้านภาษา แต่ชอบหาเรื่องแกล้งครูผู้สอนอยู่บ่อยครั้ง ญาติในรุ่นเดียวกันกล่วว่าความขี้แกล้งของอนาสตาเซียนั่นแทบจะเรียกได้ว่าร้ายกาจ ถึงอย่างนั้นแกรนด์ดัชเชสก็เป็นคนที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนรอบข้างอยู่เสมอ

หลังอนาสตาเซียเกิดได้ไม่นานพระเจ้าซาร์ก็ได้ลูกชายสมใจ อเล็กเซย์ ลูกชายเพียงคนเดียวเกิดหลังอนาสตาเซียราวสามปี น่าเสียดายที่ทรงเกิดมาพร้อมข่าวร้าย เพราะได้รับการวินิจฉัยว่าทรงป่วยเป็นโรคฮีโมฟิเลียหรือโรคเลือดไหลไม่หยุดซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สืบทอดจากครอบครัวฝั่งมารดา

ครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถ้าไม่มองในมุมการปกครองซึ่งอาจจะทำผิดพลาดไปหลายอย่าง ก็ต้องยอมรับว่าพระเจ้าซาร์และซารีน่าเป็นพ่อแม่ที่อบอุ่นและรักกัน ครอบครัวของพระองค์เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีภาพถ่ายและฟุตเทจฟิล์มขาวดำเยอะมากที่สุดในยุโรป พระเจ้าซาร์เป็นพ่อที่รักใคร่และอุทิศตน ทรงไม่เข้มงวดเรื่องการศึกษาและหวังให้ลูกๆ มีวัยเด็กที่สดใสมากกว่าคาดหวังให้เด็กๆ ต้องทำหน้าที่ยิ่งใหญ่อย่างการรับใช้ชาติ

กิลเลียต ครูสอนฝรั่งเศสกล่าวถึงลูกๆ ของพระเจ้าซาร์ว่าล้วนเป็นเด็กฉลาดแต่ขาดเรียนบ่อยเพราะพ่อแม่ชอบพาไปพักร้อนทีละหลายๆ เดือนที่ไครเมีย พอกลับมาก็ต้องมารื้อเนื้อหากันใหม่หมด

ปิแอร์ กิลเลียต อดีตครูสอนภาษาฝรั่งเศสของราชวงศ์โรมานอฟกับแกรนด์ดัชเชสมาเรีย และแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย

ลอร์เมานต์แบ็ตเทน ญาติสนิทของครอบครัว (ญาติจากทางฝั่งซารีน่าอเล็กซานดร้า) กล่าวว่า “ไม่มีอะไรทำให้พระเจ้าซาร์มีความสุขได้มากกว่าการใช้เวลากับลูกๆ ทรงเป็นคนใจดี เรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนไม่เด็ดขาดและค่อนข้างโลเล” อย่างไรก็ดี ความสุขเหลานี้อยู่ไม่นานเมื่อเกิดการปฎิวัติขึ่นในปี 1917 ครอบครัวของพระเจ้าซาร์ถูกจับกุมและคุมขัง ทั้งครอบครัวยังถูกย้ายไปหลายที่เพราะกลัวกลุ่มทวงคืนอำนาจพระเจ้าซาร์จะตามมาพบ

ที่คุมขังสุดท้ายของครอบครัวพระเจ้าซาร์มีชื่อว่าบ้านอิปาเตียฟ (บ้านเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ) ในเมืองเยคาเตรินบุร์ก ในวันที่ครอบครัวของพระเจ้าซาร์ถูกตัดสินประหารชีวิต อนาสตาเซียเพิ่งมีอายุ 17 ปี ส่วนเหตุที่ต้องประหารก็เพราะมีข่าวว่ากลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้าซาร์จะบุกมาถึงพื้นที่ในไม่ช้า มีคนถูกสังหารทั้งหมด 11 คน เป็นผู้หญิง 6 คน และผู้ชายอีก 5 ประกอบด้วยครอบครัวของพระเจ้าซาร์ (ซาร์นิโคลัสที่ 2 หรือ มิสเตอร์ โรมานอฟ – นิโคลัส อเล็กซานโดรวิช, ซารีน่าอเล็กซานดร้า, ลูกสาวทั้ง 4 และลูกชาย: แกรนด์ดัชเชสโอลก้า, แกรนด์ดัชเชสทาเทียน่า, แกรนด์ดัชเชสมาเรีย, แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย และซาเรวิชอเล็กเซย์) รวมไปถึงผู้ติดตามอีก 4 คน คือ เยฟเกเนีย วอตกิน (หมอหลวง), อันนา เดมิโดว่า (นางกำนัลของซารีนา), อเล็กเซย์ ทราฟ (พ่อบ้าน), อีวาน คาริโตนอฟ (พ่อครัวหลวง) บ้านถูกเก็บกวาดในชั่วข้ามคืน

ทุกวันนี้เรารู้แน่ชัดแล้วว่า เหตุฆาตกรรมพระเจ้าซาร์เกิดขึ้นในระหว่างคืนวันที่ 16 ถึงช่วงเช้าของวันที่ 17 กรกฎาคม 1918 แต่ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1920 การตายของอดีตผู้ปกครองรัสเซียเต็มไปด้วยม่านหมอกและข่าวลือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรในแผ่นดินห่างไกลที่เต็มไปด้วยการปกปิดข้อมูล มีผู้คนมากมายอ้างตัวว่าเป็นทายาทพระเจ้าซาร์ ซึ่งสามารถหลบหนีความตายออกมาได้ด้วยวิธีต่างๆ

ในบรรดาเรื่องเล่าร่วมสมัย ไม่มีกรณีใดจะโด่งดังไปกว่าคดีของแอนนา แอนเดอร์สัน หญิงสาวผู้อ้างตัวเป็นแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทฤษฎีสมคบคิดว่าลูกสาวคนเล็กของพระเจ้าซาร์อาจหลบหนีความตายได้อย่างปาฎิหาริย์ จนสร้างแรงบันดาลใจให้การ์ตูนชื่อดังของ Fox Animation Studios เรื่องAnastasia(1997)

แอนนา แอนเดร์สัน // แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย (ลงสีโดย Natsafan)

เรื่องของแอนนาเริ่มในปี 1920 ที่ประเทศเยอรมนี มีคนพบผู้หญิงกำลังพยายามกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่ถูกตำรวจช่วยไว้ได้ เธอไม่มีชื่อ ไม่มีเอกสาร ไม่มีความทรงจำ เธอกลัวการถ่ายภาพ พูดเยอรมันติดสำเนียงรัสเซีย เนื้อตัวเต็มไปด้วยบาดแผลและน่าจะเคยผ่านเหตุการณ์รุนแรงมา หญิงสาวปริศนาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล และถูกเรียกว่า miss unknown

ในปี 1921 หญิงปริศนาอ้างตัวว่า เธอคือแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย ลูกสาวคนสุดท้ายของพระเจ้าซาร์ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ (ชื่อแอนนาก็เป็นชื่อที่เธอเลือกให้ตัวเองมาจากคำว่าอนาสตาเซีย)

ข่าวของแอนนากลายเป็นเรื่องฮือฮาทั่งยุโรป เธอถูกสอบถามและเป็นที่สนใจของวงสังคม มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อว่าเธอคืออนาสตาเซียตัวจริง สำหรับคนที่เชื่อ แอนนามีแผลเป็นบางส่วนที่เหมืองกับของแกรนด์ดัชเชส เช่นแผลเป็นที่เท้าซึ่งไม่น่าจะมีใครเหมือนได้ เธอยังมีใบหูและดวงตาที่ดูคล้ายเจ้าหญิงมาก

ใบหูของแอนนาถูกวิเคราะห์ว่าเหมือนอนาสตาเซียถึง 4 ใน 5 แม้จะไม่มากพอยืนยัน 100% แต่ใบหูก็เป็นสิ่งพิเศษที่ไม่เปลี่ยนเลยตลอดชีวิต (หลังจากร่างกายเติบโตถึงวัยหนึ่ง) แม้แต่แฝดแท้ก็ยังไม่สามารถมีใบหูแบบเดียวกัน

หูซึ่งเป็นประเด็นหลักของการสอบสวน

ลายมือของแอนนากับอนาสตาเซียยังถูกนำมาวิเคราะห์ละพบว่ามีความเหมือนกันอย่างน่าตกใจ หนึ่งในผู้อุปถัมที่เชื่อปักใจว่าเธอคืออนาสตาเซียคือบารอน วอน ครีด ขุนนางชาวเยอรมันที่รับแอนนาไปดูแล

ลายมือของอนาสตาเซียและแอนนา มีความคล้ายกันอยู่หลายส่วน

ว่ากันว่าเรื่องราวทั้งหมดที่แอนนาเล่า ถูกสร้างขึ้นผ่านการปะติดปะต่อโดยบารอน ทำให้ที่มาของเรื่องราวมีความน่าสงสัย แอนนาเองก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการให้สัมภาษณ์ บางครั้งสติแตก บางทีร้องไห้ แถมไม่ยอมพูดรัสเซียเพราะบอกว่าภาษานี้เต็มไปด้วยความทรงจำที่เลวร้าย

แอนนาเล่าถึงคืนที่ทั้งครอบครัวถูกสังหาร โดยกล่าวว่าที่เธอรอดมาได้นั้น เพราะเธอถูกยิง แต่ไม่ตาย (เนื่องจากร่างของพี่สาวล้มมาทับตัวเธอไว้) เธอถูกแบกขึ้นรถและได้รับการช่วยชีวิตจากชายที่ชื่ออเล็กซานเดอร์ เชคอฟสกี้ซึ่งเป็นลูกครึ่งรัสเซียโปแลนด์

ครอบครัวเชคอฟสกี้พาเธออกจากรัสเซียมาโปแลนด์ พวกเธอพักอาศัยอยู่ในเมืองบูคาเรสช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเธอได้ขายเครื่องประดับมีค่าของราชวงศ์ที่แอบนำติดตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน

ทันทีที่เรื่องถูกเผยแพร่ออกไป ผู้คนจำนวนมากก็แห่ไปสัมภาษณ์ร้านเครื่องประดับในบูคาเรสและปรากฎว่ามีผู้คนบางส่วนออกมายืนยันว่าเคยซื้อเครื่องเพชรที่อาจเป็นของราชวงศ์โรมานอฟไปจริงๆ

เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ญาติๆ หลายคนมาเยี่ยมแอนนาเพื่อหาทางพิสูจน์ หนึ่งในนั้นคือเจ้าหญิงอิริน่าแห่งปรัสเซีย พี่สาวของซารีน่าอเล็กซานดร้า ปรากฎว่าแอนนาจำป้าตัวเองไม่ได้ แต่เธอก็แก้ตัวว่าเวลาผ่านมานานและเธอเองเพิ่งผ่านเรื่องเลวร้ายมา มันไม่ใช่เรื่องโหดร้ายหรอกหรือที่ต้องถูกญาติของตัวเองทดสอบและตั้งคำถาม น่าสนใจว่าแอนนาสามารถบอกชื่อบุคคลบางคนในภาพถ่ายเก่าได้ถูกต้อง และพยานอีกคนที่ได้รับการเชิญตัวมาก็คือ ปิแอร์ กิลเลียต อดีตครูสอนฝรั่งเศสที่สนิทสนมใกล้ชิดกับลูกๆ ของพระเจ้าซาร์

ปรากฎว่ากิลเลียตนั้นไม่เชื่อว่าแอนนาคืออนาสตาเซีย เพราะเธอพูดฝรั่งเศสไม่ได้ ผิดกับภาพจำของเขาที่เคยกล่าวว่าอนาสตาเซียมีพรสวรรค์ด้านภาษา

แอนนา แอนเดอร์สันอ้างตัวว่าเป็นแกรนด์ดัชเชส แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษารัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ สร้างความแปลกใจให้คนจำนวนมากที่เชื่อว่าภาษาไม่ใช่เรื่องที่ลืมกันได้

แกรนด์ดัชเชสโอลก้า น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าซาร์ก็ไม่เชื่อแอนนาเช่นกัน แม้แต่สมเด็จย่า – พระนางมาเรีย เฟเดรอฟน่า ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ เธอเชื่อว่าเชื่อว่าลูกชายของเธอ – ซาร์นิโคลัส และบรรดาหลานๆ ทุกคนยังไม่ถูกสังหาร พวกเขายังอยู่ด้วยกันที่ไหนสักแห่งเพื่อรอการช่วยเหลือ (เรื่องนี้แม้ได้รับการยืนยันในภายหลังว่าไม่จริง แต่พระนางมาเรียจะเชื่อตลอดชีวิตว่าครอบครัวของลูกชายยังมีชีวิตอยู่)

หนึ่งในกรณีเลื่องชื่อที่สุด คือการสืบหาของแกรนด์ดยุกแอร์นส์ หลุยส์ แห่งเฮสส์และไรน์ พี่ชายของซารีน่าอเล็กซานดร้าที่จริงจังกับเรื่องนี้ถึงขั้นจ้างนักสืบ จนพบว่าแอนนา แอนเดอร์สันจริงๆ แล้วคือ ฟรานเชสก้า เชนโคสก้า คนงานชาวโปลิชที่มีประวัติเรื่องปัญหาทางจิตและเคยได้รับบาดเจ็บจากเหตุโรงงานระเบิด จนเป็นเหตุให้เธอมีบาดแผลเต็มตัว การสืบหาของแกรนด์ดยุกเป็นข่าวใหญ่ มีนักข่าวที่เชื่อเรื่องนี้และนำไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ เปรียบเทียบไทม์ไลน์ว่าช่วงเวลาที่ฟรานเชสก้าหายตัวไป ใกล้เคียงกับช่วงที่แอนนาปรากฎตัวในเยอรมัน ประกอบกับสำเนียงรัสเซียของเธอ จริงๆ อาจเป็นสำเนียงโปลิชก็ได้

แม้จะมีหลักฐานน่าสนใจ แต่หลายคนไม่เชื่อเรื่องนี้ มองว่าแกรนด์ดยุกกุข่าวร่วมกับสำนักพิมพ์ เพราะไม่อยากแบ่งสมบัติของพระเจ้าซาร์ที่ยังเหลืออยู่ในยุโรปให้หลานสาว

เรื่องราวของแอนนาดำเนินต่อไป ครอบครัวของฟรานเชสก้าถูกพาตัวมาเพื่อให้ปากคำ แม้พวกเขาจะเชื่อว่าแอนนาคือญาติที่หายไป แต่ไม่มีใครกล้าเซ็นชื่อในเอกสารยืนยัน เพราะนั่นอาจทำให้แอนนาต้องติดคุกเพราะพูดโกหก

แอนนาไม่ยอมรับว่าตัวเองคือฟรานเชสก้า ยืนยันไม่รู้จักครอบครัวจากโปแลนด์ การถกเถียงเรื่องตัวตนของเธอยังดำเนินต่อไปแม้เธอจะเสียชีวิตไปก่อน

ในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย มีการขุดที่ฝังศพพระเจ้าซาร์ขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ DNA และพบว่ามีศพสองศพหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซาเรวิชอเล็กเซย์และแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย (ไม่ก็มาเรีย เพราะทั้งสองอายุไล่เลี่ยกัน)

เรื่องนี้ทำให้ข่าวเกี่ยวกับโอกาสรอดชีวิตเป็นไปได้สูงมาก และเคสของแอนนา แอนเดอร์สันก็ถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง – คราวนี้ด้วยการพิสูจน์หลักฐานแบบใหม่คือการตรวจหา DNA

มีการนำตัวอย่าง DNA จากเส้นผมของแอนนา (โชคดีว่าสามีของเธอเก็บปอยผมของภรรยาไว้) ไปประกอบกับเนื้อเยื่อของเธอเธอที่เคยถูกเก็บตัวอย่างไว้ มาเทียบเคียงกับตัวอย่าง DNA จากสองคนคือ

1.DNA ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นญาติของซารีน่าอเล็กซานดร้า เนื่องจากทั้งสองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงอลิซ – ลูกสาวคนที่สองของควีนวิกตอเรีย (ยายของเจ้าชายฟิลิปเป็นลูกสาวคนโตของเจ้าหญิงอลิซ ส่วนซารีน่าอเล็กซานดร้าเป็นลูกสาวคนสุดท้องของเจ้าหญิงอลิซ)

2.DNA จากคาร์ล มัลเชอร์ ญาติของฟรานเชสก้า – คนงานชาวโปแลนด์ที่แกรนด์ดยุกแอร์นส์เคยอ้างว่าคือตัวตนที่แท้จริงของแอนนา

ผลปรากฎว่า DNA ของแอนนา ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ เจ้าชายฟิลิป แต่มีความเกี่ยวข้องคาร์ล มัลเชอร์ จากโปแลนด์ DNA ไม่โกหก ดังนั้นเคสจึงถูกปิดได้ในตอนนั้น แอนนา แอนเดอร์สันไม่ใช่แกรนด์ดัชเชส แต่เป็นคนงานจากโปแลนด์

ครอบครัวของพระเจ้าซาร์  ‘โอลก้า ดูดี ฉลาดและสง่างาม ทาเทียน่าเป็นสาวสวย ส่วนมาเรีย อ่อนหวาน น่ารัก และมีน้ำใจ เชื่อว่าใครก็ห้ามใจไม่ให้รักเธอได้ยาก แต่อนาสตาเซียตัวน้อยต่างจากใคร เธอซุกซน ร่าเริงและมีเสนห์กว่าเด็กหญิงใดๆ ที่ฉันเคยรู้จัก’ มาร์กาเร็ต เอเกอร์ พี่เลี้ยงของสาวๆ เคยกล่าวไว้ ลูกสาวทั้งสี่ของพระเจ้าซาร์ แกรนด์ดัชเชสโอลก้า ทาเทียน่า มาเรีย และอนาสตาเซีย มักเขียนจดหมายโดยใช้ชื่อรหัสร่วมกันว่า OTMA ย่อมาจาก Olga, Tatiana, Maria, และ Anastasia

แล้วแกรนด์ดัชเชสตัวจริงหายไปไหน?

ความหวังหริบหรี่ว่าอนาสตาเซียอาจรอดไปได้ ถูกปิดตายอย่างถาวรเมื่อมีการพบศพอีกสองร่างถูกฝังแยกกันกับหลุมหลัก ห่างกันไปเพียงเล็กน้อย

ตามบันทึกของจาคอป เยรอฟสกี้ – ผู้นำการสังหารพระเจ้าซาร์ เขาได้เขียนรายงานส่งให้เลนนิน กล่าวว่าการจัดการศพของโรมานอฟค่อยข้างยุ่งยากพอควร ตอนแรกเขานำศพทั้งหมดไปฝังในเหมืองเก่า แต่ปรากฎว่าหนึ่งในทีมงานของเขาเกิดเมาแล้วเอาเรื่องไปเล่าให้คนในหมู่บ้าน ทั้งทีมเลยต้องกลับมารื้อศพเพื่อฝังใหม่

อย่างไรก็ดีคืนก่อนหน้านั้นฝนตก ทำให้พื้นกลายดินเป็นโคลน ทีมงานเหนื่อยกับการขนย้ายเลยมีความคิดจะทำลายศพด้วยการเผา เริ่มจากการนำร่างที่มีขนาดเล็กที่สุดสองร่างออกมา ตัดร่างออกเป็นส่วนๆ ราดกรดลงไป ก่อนจุดไฟเผา จุดประสงค์คือการทำลายอัตลักษณ์ให้ไม่สามารถจดจำได้

อย่างไรก็ดีการเผาร่างต้องใช้ไฟแรงและอาศัยเวลานาน ทีมงานที่เหนื่อยเริ่มถอดใจเพราะยังเหลือศพขนาดใหญ่อีก 9 ร่าง จึงทำการฝังสองศพที่ถูกทำลายไว้ด้วยกัน จากนั้นนำศพที่เหลือไปฝังในอีกหลุมแยก

ข้อมูลจากรายงานตรงกับสภาพศพที่ถูกพบในภายหลังเพราะมีสภาพยับเยินกว่าศพในหลุมหลัก เพราะมีทั้งร่องรอยการถูกตัดและถูกเผา

เมื่อเราทราบข้อมูลจากบันทึก การยืนยันต่อไปคือการตรวจหา DNA ซึ่งได้ผลออกมาว่าร่างทั้งสองคือลูกชายและลูกสาวของพระเจ้าซาร์จริง

แม้ผลจาก DNA จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเด็กหญิงในหลุมเป็นอนาสตาเซียหรือมาเรีย แต่นั่นก็มากพอที่จะบอกว่า ไม่มีใครเลยที่รอดจากการสังหารหมู่ไปได้ในคืนนั้น

References:

Mystery of Anastasia by Amanda McBrien, DNA Learning Center

Romanovs: The Missing Bodies | National Geographic

Mysterious Woman Who was Believed to be Russia’s Royal Princess

Imprisoned with the Romanovs: The story of a very unlucky French tutor

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like