ลูกชายคนโตได้ทุกอย่าง? จริงหรือไม่ที่สาวอังกฤษในยุครีเจนซี่ไม่สามารถรับมรดกจากบิดา? ว่าด้วยกฎหมายที่ดินและทรัพย์สินจากนิยายเจน ออสเตน

แฟนนิยายเจน ออสเตน หรือแฟนซีรีย์ Netflix เรื่องดังอย่าง Bridgerton อาจสงสัยว่าทำไมพี่ชายคนโตของบ้านอย่างแอนโธนี่ ในเรื่อง Bridgerton ถึงกลายเป็นผู้ครอบครองทรัยพ์สินทุกอย่างทั้งที่บ้านมีลูกชายถึง 4 คน ที่น่าสับสนไปกว่านั้นคือสถานการณ์น่าอึดอัดของตัวเอกนิยายดัง Pride and Prejudice – เอลิซาเบธ เบนเน็ต กับบรรดาพี่สาวน้องสาวถูกกดดันให้หาสามีเพราะหากบิดาเสียชีวิต Longbourn มรดกของบ้าน จะถูกยกให้ญาติห่างๆ ที่ไม่มีใครชอบหน้าอย่างวิลเลียม คอลลินส์

เป็นความจริงหรือไม่ที่ผู้หญิงไม่สามารถรับมรดกและทำไมลูกชายคนโตถึงเป็นผู้ได้รับสืบทอดทรัพย์สมบัติทุกอย่าง วันนี้เราจะมาตอบคำถามชวนสงสัยโดยการวิเคราะห์กฎหมายการรับมรดกของยุครีเจนซี่ที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนเป็นอย่างมากเพราะตั้งอยู่บนหลักการสำคัญสองอย่างคือ

1.สิทธิของบุตรคนแรก (Primogeniture)

2.สิทธิการตกทอดของมรดกในทางกฎหมาย (Entailment)

สิทธิของบุตรคนแรก ไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่เป็นค่านิยมทางสังคมของอังกฤษที่มักยกทรัพย์สินและที่ดินทั้งหมดให้บุตรคนโตโดยไม่มีการแบ่ง (ต่างจากค่านิยมของฝรั่งเศสที่มักแบ่งที่ดินให้ลูกชายเป็นจำนวนเท่าๆ กัน) ที่เป็นแบบนั้นเพราะสังคมอังกฤษให้ค่ากับความมั่งคังในทางที่ดินและอสังหาฯ หากบิดามีที่ดิน 100 ไร่ เมื่อเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ลูกชาย 5 คน คนละ 20 ไร่เท่าๆ กัน หมายความว่าในรุ่นต่อมา อำนาจบารมีของตระกูลจะถูกลดลงเหลือแค่ 1 ใน 5 และถ้าลูกชายแต่ละคนมีบุตรชายและเลือกแบ่งที่ดินให้หลานรุ่นต่อไป อำนาจบารมีของตระกูลก็จะยิ่งตกลงไปตามจำนวนที่ดินที่ถูกแบ่งจนเหลือน้อยลง

คนอังกฤษกลัวกันมากว่าทรัพย์สินของครอบครัวจะถูกแบ่ง และมีค่านิยมในการปกป้องมรดกกับชื่อเสียงของวงตระกูลมากกว่าจะสนใจความเป็นอยู่ของทายาทแต่ละคน ทำให้คนอังกฤษส่วนใหญ่ในยุคนั้น นิยมทำพินัยกรรมให้มีความสอดคล้องกับแนวคิดสิทธิของบุตรคนแรก คือการยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้บุตรคนโต เพราะบุตรคนโตเท่านั้นที่มีหน้าที่สืบทอดชื่อเสียงและความมั่งคั่งของวงศ์ตระกูล

สุภาพบุรุษอังกฤษยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอีกอย่างคือการไม่ทำงาน (คนรวยต้องไม่ทำงาน คนทำงานแปลว่ารวยไม่จริง) ดังนั้นทรัพย์สินที่ตกทอดให้บุตรคนโต จะต้องมากพอให้เขาดำรงชีวิตแบบมีหน้ามีตาโดยไม่ต้องประกอบอาชีพ การหั่นชิ้นมรดกออกเป็น 5 ส่วน อาจทำให้ทรัพย์สินเหลือไม่มากพอให้ใครสักคนสบายไปทั้งชาติ กลายเป็นว่าหน้าตาของครอบครัวจะตกต่ำเพราะสุภาพบุรุษในรุ่นหลังต้องทำงาน!

มันอาจเป็นเรื่องเศร้าที่เรามักพบว่าลูกชายคนโตของบ้านคือคนที่ได้ทุกอย่าง ส่วนลูกชายคนถัดมา มักต้องหาอาชีพเพื่อหารายได้ โดยอาจทำงานด้านกฎหมาย รับราชการทหาร หรือกระทั่งบวชเป็นพระ

อย่างไรก็ดี ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สิทธิของบุตรคนแรกไม่ได้เป็นข้อบังคับตามกฎหมาย เป็นไปได้ว่าบางครอบครัวอาจะเลือกทำพินัยกรรมในทิศทางอื่นที่ต่างไป บางครอบครัวอาจยกที่ดินให้ลูกชายทุกคนในจำนวนเท่าๆ กัน หรือบ้างบ้านอาจหัวก้าวหน้ากระทั่งทำพินัยกรรมยกมรดกที่ดินให้ลูกสาว กรณีนี้เป็นไปได้ เพราะอังกฤษนั้นยกให้ “สิทธิกากรตกทอดของมรดกในทางกฎหมาย (Entailment)” มีศักดิ์สูงกว่า “สิทธิของบุครคนแรก (Primogeniture)” โดยสิทธิของบุตรคนแรก (Primogeniture) จะถูกนำมาบังคับใช้ ก็ต่อเมื่อไม่มีการทำพินับกรรมไว้เท่านั้น

ในนิยายของเจน ออสเตนเรื่อง เอมม่า (Emma) มิสเตอร์วู้ดเฮาส์ผู้มั่งคั่งมีลูกสาวสองคนคืออิสซาเบลและเอมม่า เขาไม่มีทายาทชายแต่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ลูกสาวทั้งสอง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเอมม่าถึงมีชีวิตสุขสบาย ไม่ได้ถูกกดดันให้หาสามีแต่งงานเท่ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเบนเน็ตในนิยายเรื่อง Pride and Prejudice

เอมม่ากับมิสเตอร์วู้ดเฮาส์ผู้เป็นบิดา (ภาพจากภาพยนต์เรื่อง Emma 2020)

มิสเตอร์เบนเน็ตจากเรื่อง Pride and Prejudice มีลูกสาวถึง 5 คน แต่มรดกของเขาถูกบังคับให้ต้องมอบต่อให้ทายาทชายเท่านั้น สถานการณ์ของครอบครัวเบนเน็ตไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิทธิ์ของลูกชายคนแรก แต่เป็นเพราะบรรพบุรุษของครอบครัวเคยทำพินัยกรรมไว้ บังคับให้ทรัพย์สินของครอบครัวไม่ถูกแบ่ง และตกทอดให้ทายาทชายคนโตเท่านั้น การทำพินัยกรรมแบบนี้เป็นไปได้ในอังกฤษ แต่มีข้อกำหนดทางกฎหมายให้สามารถบังคับใช้ได้ไม่เกิน 3-4 รุ่น (กฎหมายของอังกฤษไม่สามารถตั้งเวลาให้มีผลบังคับใช้ตลอดไป ดังนั้นเมื่อครบกำหนดเวลา ทายาทในปัจจุบันสามารถปรับเปลี่ยนพินัยกรรมได้ตามเห็นสมควร)

จะเกิดอะไรขึ้นหากครอบครัวเบนเน็ตไม่มีทายาทชายเหลืออยู่เลย? ทรัพย์สมบัติของบ้านก็จะไม่มีใครเป็นเจ้าของจนกว่าข้อกำหนดเวลาในพินัยกรรมจะสิ้นสุดลง หมายความว่าถึงมิสเตอร์เบนเน็ตไม่ยกทรัพย์สินให้มิสเตอร์ คอลลินส์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติ ทรัพย์สมบัติของบ้านก็จะไม่ตกทอดมาสู่ลูกสาวทั้ง 5 อยู่ดี

กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครทุกคนใน Pride and Prejudice เลดี้แคทเธอรีน เดอ เบิร์ก คุณป้าสุดรวยของมิสเตอร์ดาร์ซี่ มีฐานะมั่งคั่งเพราะเธอได้รับสืบทอดทรัพย์สินของบ้าน และแม้ว่าเลดี้แคทเธอรีนจะมีลูกสาวแค่คนเดียว แต่แอนน์ – ลูกสาวของเธอ ก็จะได้รับสืบทอดทรัพย์สินของครอบครัวต่อไป กรณีของตระกูลเดอ เบิร์ก บอกให้เรารู้ว่าแนวคิดผู้หญิงห้ามถือครองทรัพย์สิน ที่ดิน อสังหาฯ หรือไม่สามารถรับสืบทอดมรดกจากบิดาได้นั้น ไม่เป็นความจริงเสมอไป (เลดี้แคทเธอรีนและแอนน์ มีสิทธิสมบูรณ์ในการควบคุมดูแลที่ดิน โดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบของผู้ชาย)

ครอบครัวเบนเน็ตจากเรื่อง Pride and Prejudice ซึ่งมีลูกสาวมากถึง 5 คน

อย่างไรก็ดี การมอบที่ดินและอสังหาฯ ให้ทายาทหญิงไม่เป็นที่นิยมในอังกฤษ เนื่องจากทรัพย์สินของฝ่ายหญิงจะตกเป็นของสามีหลังสมรส ยกเว้นจะมีการทำข้อตกลงก่อนแต่งงาน แบ่งทรัพย์สินบางส่วนออกมาให้เป็นของภรรยาโดยเฉพาะ หากมีข้อตกลงที่ว่า สามีจะไม่สามารถแตะต้องทรัพย์สินส่วนของภรรยาได้

พินัยกรรมของอังกฤษมักถูกเขียนอย่างละเอียด และบางครั้งมีข้อกำหนดซับซ้อนยุ่งยาก ยกตัวอย่างเช่นกรณีของวิลเลียม คาเวนดิช ดยุกที่ 5 แห่งเดวอนเชียร์ ในตอนที่เขาได้รับสืบทอดตำแหน่งดยุกจากบิดา ตัวเขาได้รับทรัพย์สินเพียงบางส่วนเท่านั้นเนื่องจากพินัยกรรมที่บิดาเขียนไว้ มีข้อกำหนดให้วิลเลียมได้รับทรัพย์สินทั้งหมดเมื่อตัวเขาแต่งงานและมีทายาทชายที่ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ท่านดยุกต้องรีบร้อนมีลูกชายเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่บรรลุตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ ท่านดยุกคนใหม่ก็จะไม่สามารถนำทรัพย์สินและที่ดินที่ถูกกันไว้ออกมาใช้จ่าย

แม้ทายาทชายคนโตจะเป็นผู้ได้รับมรดกทุกอย่าง (หากครอบครัวทำพินัยกรรมไว้ดังนั้น) แต่สังคมอังกฤษก็มีจารีตนิยมที่เข้มแข็งมากเรื่องการดูแลมารดา หรือการดูแลพี่สาวน้องสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน หากพี่ชายคนโตได้รับสืบทอดมรดกแต่ไล่แม่หรือพี่น้องออกจากบ้าน การกระทำของเขาจะกลายเป็นขี้ปาก ส่งผลร้ายกับตัวเขาเองให้ไม่มีที่ยืนในวงสังคม ดังนั้นผู้สืบทอดสมบัติคนต่อไปจึงถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องเข้ามาจัดแจงเรื่องสินสมรสของพี่สาวน้องสาว และต้องดูแลมารดาที่กลายเป็นม่าย (สำหรับภรรยาที่เป็นม่าย บางครั้งสามีอาจทำพินัยกรรมโดยยกทรัพย์สินบางส่วนให้ภรรยาม่ายไว้ก่อนล่วงหน้า โดยทรัพย์สินที่ถูกมอบให้ภรรยาม่าย เรียกกันว่า jointure จะมากจะน้อยแล้วแต่ความพึงพอใจของสามี)

ในเคสของครับครัวเบนเน็ต เนื่องจากทั้งบ้านไม่มีพี่ชายหรือน้องชาย คุณแม่จึงพยายามผลักดันให้ลูกสาวได้แต่งงานเพราะกลัวว่าจะไม่มีใครดูแลในยามที่พวกเขาจากไป

นอกจากประเด็นเรื่องทรัพย์สิน อีกส่วนหนึ่งที่เราต้องพิจรณาต่างไปคือตำแหน่ง การสืบทอดตำแหน่งของอังกฤษเป็นสิทธิ์ที่มอบให้จากราชสำนัก และมีข้อกำหนดแน่ชัดว่าต้องสืบทอดให้ทายาทชายคนแรก ดังนั้นหากครอบครัวไม่มีลูกชาย ก็ต้องหาทายาทชายสายใกล้ที่สุด ซึ่งหากไม่มี แปลว่าสายตระกูลนั้นจะหมดสิทธิ์สืบทอดตำแหน่ง (extinct) ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งดกยุกแห่งลีดส์ เดิมทีเป็นของตระกูลออสบอร์น แต่ตระกูลนี้หมดผู้สืบทอดไปในปี 1964 ทำให้ปัจจุบันนี้ตำแหน่งดยุกแห่งลีดส์สิ้นสุดลงที่ดยุกคนที่ 12

การสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทหญิง จะต้องได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจากทางราชสำนัก ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งดยุกแห่งมาร์ลบะระ เป็นของตระกูลเชอร์ชิล แรกเริ่มเดิมทีจอห์น เชอร์ชิล ดยุกที่ 1 แห่งมาร์ลบะระ มีแต่ลูกสาว แต่ราชสำนักอนุญาตให้ตำแหน่งของเขาสามารถสืบทอดต่อผ่านทายาทหญิงได้ ทำให้ตำแหน่งดยุกแห่งมาร์ลบะระถูกสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นตำแหน่งที่สืบทอดให้ลูกชายคนโตของตระกูลสเปนเซอร์-เชอร์ชิล

References:

Myth busting: inheritance law in the Regency Era

Why is Mr Collins inheriting Longbourn? | Pride and Prejudice Inheritance Laws

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like