อาร์เบลล่า สจ๊วต ผีสุดเฮียนที่เคียดแค้นเพราะไม่ได้แต่งงาน!?

เกือบได้เป็นราชินี – อาร์เบลล่า สจ๊วต ผีสุดเฮี้ยนที่เคียดแค้นเพราะไม่ได้แต่งงาน!?

“เรามาถึงหอคอยแห่งลอนดอนในปี 1995 และได้เข้าพักในห้อง Lennox room ของหอคอย ขณะที่ภรรยาของผมกำลังเตรียมตัวเข้านอนอยู่นั้น โดยที่ไม่ทันตั้งตัว เธอถูกผลักอย่างแรงจากด้านหลัง แรงผลักหนักมากกระทั่งตัวเธอกระเด็นออกจากห้อง ไม่มีใครบอกว่าห้องที่เราอยู่มีผี แต่เมื่อนำเรื่องนี้ไปเล่า คนฟังต่างพากันหน้าซีดและบอกว่าห้องนั้นเฮี้ยนสุดยอด! บางคนบอกว่าตัวเคยฝันร้ายและรู้สึกว่าถูกรัดคอจนต้องตื่นตอนกลางดึก ที่สำคัญคือมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นเหยื่อ… เพราะมีเหตุการณ์ซ้ำๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง หอคอยเลยตั้งกฎหลัก ห้ามคุณผู้หญิงเข้าพักตามลำพังหากไม่มีผู้ติดตาม ผมฟังแล้วตกใจ อะไรจะขนาดนี้? เพิ่งมาทราบทีหลังว่า Lennox room ที่พวกเราเข้าพัก เป็นที่เสียชีวิตของอาร์เบลล่า สจ๊วต ผีที่เฮี้ยนสุดๆ ตนหนึ่งของหอคอยแห่งลอนดอน”

-พลตรีเจฟฟรีน์ ฟิลล์ ผู้ดูแลหอคอยในช่วงปี 1994-2006 ให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความ Monarchs Who Never Were – Hauntings at the Tower of London

อาร์เบลล่า สจ๊วตเป็นใคร ทำไมถึงเฮี้ยนแต่กับผู้หญิง?

ในปี 1575 เลดี้อาร์เบลล่า สจ๊วต ถือกำเนิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง พ่อของเธอ ชาร์ล สจ๊วต เอิร์ลแห่งเลนน็อกซ์ มีศักดิ์เป็นหลานชายของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ พี่สาวของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 นั่นทำให้อาร์เบลล่ามีฐานะเป็นญาติห่างๆ ของควีนเอลิซาเบธที่ 1 ( ผู้ปกครองสูงสุดของอังกฤษในตอนนั้น) อาร์เบลล่ายังมีศักดิ์เป็นเชื้อพระวงศ์ฝั่งสกอตแลนด์เพราะเป็นหลานสาวของราชินีแมรี่แห่งสก็อต และเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ (ต่อมาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ)

เฮนรี่ สจ๊วต ลอร์ดดาร์นลีย์ และน้องชายแท้ๆ – ชาร์ล สจ๊วต ผู้เป็นบิดาของอาร์เบลล่า ลอร์ดดาร์นลีย์สมรสกับพระนางแมรี่ ราชินีสกอตแลนด์ และเป็นบิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อต (เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ) เฮนรี่และชาร์ล สจ๊วต เป็นหลานยายของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ – พี่สาวของเฮนรี่ที่ 8

แม้จะมีเชื้อสายกษัตริย์จากอังกฤษและสกอตแลนด์ แต่ชีวิตของอาร์เบลล่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พ่อของเธอเสียชีวิตตอนอาร์เบลล่ายังไม่ 2 ขวบดี ส่วนแม่ก็มามีอันเป็นไปตอนเธออายุ 7 ขวบ ทรัพย์สมบัติและที่ดินของอาร์เบลล่าถูกริบเข้าคลังฝั่งสก็อตด้วยเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่าอาร์เบลล่าเป็นคนอังกฤษ พระเจ้าเจมส์ซึ่งเป็นญาติใกล้ในตอนนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงไม่สามารถตัดสินใจได้ (ทรงมีอายุแก่กว่าอาร์เบลล่า 9 ปี ) ราชินีเอลิซาเบธที่ 1 เขียนจดหมายไปประท้วงเรื่องทรัพย์สมบัติของอาร์เบลล่า แต่ก็ไร้ผล

แม้ว่าที่ดินของอาร์เบลล่าจะถูกมอบคืนให้ แต่ทรัพย์สมบัติและอัญมณีมีค่าของครับครัวที่ถูกริบไปก็ไม่ถูกส่งคืน กระทั้งตำแหน่งเคาน์เตสแห่งเลนน็อกซ์ (Countess of Lennox) ซึ่งเป็นของบิดา อาร์เบลล่าก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ (ตามกฎที่ต้องมีการมอบยศให้สืบทอดกันเฉพาะทายาทเพศชายเท่านั้น) 2 ปี ให้หลังเมื่อมาร์กาเร็ต ดักลาส – ย่าของอาร์เบลล่า เสียชีวิต ทรัพย์สินทั้งหมดของมาร์กาเร็ตก็ไม่ผ่านมาถึงอาร์เบลล่า แต่ถูกฝั่งอังกฤษยึดกลับไปให้ควีนเอลิซาเบธที่ 1 เพราะถือว่ามาร์กาเร็ต ดักลาส เป็นลูกสาวของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ สมบัติของเธอจึงนับเป็นของอังกฤษมากกว่า

อาร์เบลล่าในตอนเด็กกำพร้าทั้งพ่อแม่ อยู่ในความดูแลของยาย

อาร์เบลล่า เด็กกำพร้ากับย่าผู้เข้มงวด

อาร์เบลล่าที่เป็นกำพร้าอยู่ใต้ความเบธแห่งฮาร์ทวิก ผู้มีศักดิ์เป็นยาย เธอเลี้ยงดูอาร์เบลล่าเช่นเดียวกับเจ้าหญิง อาร์เบลล่าได้เรียนภาษาละติน กรีกโบราณ ฝรั่งเศส สเปนและอิตาเลี่ยน คนรับใช้ส่วนใหญ่เรียกเธอว่า ‘ฝ่าบาท’ แทนที่จะเป็น ‘ท่านหญิง’ ที่เป็นแบบนี้เพราะเบธเคยกล่าวลอยๆ ว่าหลานสาวคนนี้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษเช่นเดียวกับพระเจ้าเจมส์แห่งสกอตแลนด์

แม้จะมีความเป็นอยู่ไม่เลวร้าย แต่อาร์เบลล่าได้รับการบันทึกว่าเป็นเด็กที่โดดเดี่ยว เธอไม่มีเพื่อนวัยเดียวกัน นานๆ ครั้งจะได้พบแมรี่ ราชินีแห่งสก๊อต ผู้มีศักดิ์เป็นป้าและถูกกักบริเวณไว้ใต้ความดูแลของครอบครัวดักลาส

อาร์เบลล่าในวัยเด็กถูกทาบทามโดยชายชั้นสูงมากมายในอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือลูกชายของโรเบิร์ด ดัดลีย์ เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ แต่เด็กชายตายตั้งแต่ยังเด็ก อาร์เบลล่ายังเคยเกือบหมั้นหมายกับลูกชายของดยุกแห่งพาร์มาแต่กลายเป็นว่าทั้งราชินีเอลิซาเบธและพระเจ้าเจมส์ในตอนนั้น ไม่ต้องการให้อาร์เบลล่าแต่งงานเพราะลูกที่เกิดมาอาจทำให้สายการสืบราชวงศ์ยิ่งสับสน

ช่วยให้เธอมีชีวิตของตัวเอง ในปี 1588 อาร์เบลล่าได้เข้าวังรับใช้ราชินีเอลิซาเบธเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถูกส่งตัวกลับเพราะมีข่าวชู้สาวกับเอิร์ลแห่งเอสเซกซ์ หนุ่มคนโปรดของราชินี

อาร์เบลล่าเมื่อเริ่มโตเป็นสาวก็เป็นที่หมายปองของชายมากมาย แต่ด้วยสายเลือดราชวงศ์ของพระองค์ทำให้การแต่งงานถูกแทรกแซงทั้งโดยเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ และเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์

อาร์เบลล่า ผู้ท้าชิงตำแหน่งราชินีต่อจากเอลิซาเบธที่ 1

การเรียกอาร์เบลล่าเข้าวังของควีนเอลิซาเบธเป็นเรื่องน่าสนใจ หลายคนมองว่าทรงทำแบบนี้ เพราะเตรียมจะดูตัว มอบบัลลังก์ให้หลานสาวที่อายุน้อยกว่าร่วม 40 ปี เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ ในปี 1588 เป็นปีที่อังกฤษกำลังเผชิญสงครามกับกองเรืออาร์มาด้าของสเปน เป็นที่ถกเถียงกันว่าหากเอลิซาเบธแพ้ครั้งนี้ หรือเสียชีวิต บัลลังก์อังกฤษควรส่งต่อให้ใครมากกว่า จะเป็นอาร์เบลล่าหรือเจมส์? เจมส์เป็นญาติผู้พี่ของอาร์เบลล่าอาจมีสิทธิ์ในการขึ้นครองบัลลังก์มากกว่า แต่พระมารดาของพระองค์ถูกประหารในข้อหากบฏแถมเจมส์นั้นยังถูกเลี้ยงดูในสกอตแลนด์และเป็นคาทอลิก อาร์เบลล่า ในทางตรงกันข้าม เกิดและเติบโตในอังกฤษ เธอไม่มีพ่อและแม่คอยบงการ และไม่ได้มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าอาร์เบลล่าศรัทธาคาทอลิกหรือโปรแตสแตนท์มากกว่ากัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเอลิซาเบธอาจเคยพิจารณามองอาร์เบลล่าเป็นตัวเลือกลำดับหนึ่ง…

แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น หลังออกจากวัง อาร์เบลล่าใช้เวลาหลายปีต่อมาใต้ความดูแลของผู้เป็นยายอีกครั้ง และเมื่อไม่มีใครจับคู่ให้ อาร์เบลล่าทำผิดครั้งใหญ่ด้วยการพยายามจะแต่งงานโดยไม่ได้รับการอนุญาตกับเอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์ ทายาทจากอีกหนึ่งตระกูลขุนนางที่สามารถอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษ เรื่องนี้ทำให้เอลิซาเบธโกรธมาก เอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์นั้นสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงแมรี่ น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หากอาร์เบลล่าและเอ็ดเวิร์ดแต่งงานกัน ทายาทที่เกิดจากทั้งสอง จะยิ่งมีสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษมากยิ่งขึ้น เอลิซาเบธแม้จะขวางการแต่งงานแต่ก็ไม่ได้ลงโทษอาร์เบล่ากับเอ็ดเวิร์ดแต่อย่างใด

เอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์ ลอร์ดบีแชม ชายหนุ่มที่อาร์เบลล่าพยายามจะแต่งงานด้วยเป็นลูกชายของแคทเธอรีน เกรย์ (น้องสาวของเจน เกรย์ ราชินี 9 วัน) ทั้งเอ็ดเวิร์ดและอาร์เบลล่าล้วนมีสายเลือดเกี่ยวพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การแต่งงานถูกแทรกแซงโดยควีนเอลิซาเบธ ในตอนนี้ อาร์เบลล่าอายุ 27 ปี และยังไม่มีวี่แววจะได้สมรส

อาร์เบลล่าในยุคสมัยของเจมส์ที่ 1 จากคนโปรดสู่การจองจำทั้งชีวิต

ในปี 1603 ราชินีเอลิซาเบธสวรรคต อาร์เบลล่าได้กลับมาทำงานในวังอีกครั้งในสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 อาร์เบลล่าอยู่ในใกล้ 30 ยังไม่ได้แต่งงานและเพิ่งมีโอกาสได้พบญาติของเธอเป็นครั้งแรก อาร์เบลล่าได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าเจมส์ให้คอยดูแลเจ้าหญิงเอลิซาเบธ – ลูกสาวคนโตของเจมส์ และยังได้รับเกียรติให้เป็นแม่ทูนหัวของเจ้าหญิงแมรี่ที่เพิ่งประสูติ ในยุคของพระเจ้าเจมส์ อาร์เบลล่าเป็นคนโปรด เธอได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์และเงินทองมากมาย เรื่องราวคงจบลงแบบแฮปปี้ ถ้าอาร์เบลล่ายอมทิ้งความคิดที่จะแต่งงาน

กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (และเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของอาร์เบลล่า

ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือควาในใจที่ทำให้อาร์แบลล่าอยากมีสามีเป็นตัวตน เป็นไปได้ว่าการใช้ชีวิตหลายสิบปีกับเบธ แห่ง ฮาร์ทวิก ยายที่เข้มงวดอาจทำให้หญิงสาวคิดอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง เป็นไปได้เหมือนกันที่อาร์เบลล่าซึ่งเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก โหยหาชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ เมื่อพบว่าพระเจ้าเจมส์ไม่มีพระประสงค์จะหาคู่ให้ อาร์เบลล่าก็เล่นใหญ่ คราวนี้หนีไปแต่งงานลับๆ กับ วิลเลียม ซีมัวร์ น้องชายของเอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์ ชายที่เธอเคยอยากแต่งงานด้วยเมื่อหลายปีก่อน วิลเลียมคนนี้อายุเพียง 22 ปี ในขณะที่อาร์เบลล่าอยู่ในวัย 35 การแต่งงานที่ว่าทำเอาพระเจ้าเจมส์ทรงพระกริ้วหนัก รับสั่งให้จับตัวทั้งสองทันที วิลเลี่ยมถูกขังในหอคอยแห่งลอนดอนส่วนอาร์เบลล่าถูกกักบริเวณในบ้านที่เลมเบิร์ท

วิลเลียม ซีมัวร์ น้องชายของชายที่อาร์เบลล่าเคยอยากแต่งงานด้วยเมื่อหลายปีก่อน วิลเลียมสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงแมรี่ ทิวเดอร์ – น้องสาวของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 เช่นเดียวกันกับพี่ชาย มันอาจจะง่ายและเป็นไปได้กว่านี้ถ้าอาร์เบลล่าไม่เลือกสมรสกับชายที่มีเชื้อสายราชวงศ์

เรื่องมันยิ่งจะไปกันใหญ่เมื่อทั้งคู่วางแผนหลบหนีจากอังกฤษไปฝรั่งเศส ฝ่ายวิลเลี่ยมโชคดีทำสำเร็จ แต่อาร์เบลล่าถูกจับได้ คราวนี้พระเจ้าเจมส์เลยจับญาติผู้น้องไปขังลืมใน Lennox Room ที่หอคอยลอนดอน

อาร์เบลล่าใช้ชีวิตในหอคอยตั้งแต่ปี 1612 ช่วงสองปีแรก เธอยังคิดว่าอีกไม่นานเจมส์ก็คงหายกริ้วและยอมให้เธอกลับไปรับใช้ในวังเหมือนเก่า อาร์เบลล่าถึงขั้นสั่งให้คนรับใช้เตรียมชุดใหม่สำหรับเข้าร่วมพิธีแต่งงานของเจ้าหญิงเอลิซาเบธในปี 1613 แต่เมื่องานวิวาห์ผ่านไปโดยไร้คำอภัยโทษ อาร์เบลล่าเริ่มตรอมใจไม่ยอมกินอาหาร เธอเสียชีวิตในปี 1615 อายุเพียง 39 ปี

อาร์เบลล่า สจ๊วตในวัยสามสิบกว่า

เจมส์ปฎิเสธที่จะทำพิธีศพให้อาร์เบลล่าในฐานะราชนิกูล แต่ใจดีพอจะยอมให้ศพของอาร์เบลล่าถูกฝังในที่เดียวกับแมรี่ ราชินีแห่งสก็อต พระมารดาของพระองค์ ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของอาร์เบลล่า

แม้จะเป็นการตายจากการอดอาหาร แต่หลายสำนักก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาร์เบลล่าน่าจะถูกวางยาพิษเพื่อตัดปัญหาเรื่องความอยากแต่งงานและผลิตทายาทที่อาจอ้างสิทธิ์บัลลังก์อังกฤษในภายหลัง

เจ้าหญิง เคาน์เตส หรือ เลดี้ อาร์เบลล่า เสียชีวิตโดยไม่เคยมีโอกาสได้เห็นหน้าวิลเลียม สามีที่มอบชีวิตแต่งงานอันแสนมีค่าให้อาร์เบลล่าในเวลาเพียง 16 วัน

References:

The story of Lady Arbella Stuart

Arbella Stuart – Cursed by the line of succession

Monarchs Who Never Were – Hauntings at the Tower of London 

Lady Arbella Stuart: England’s Lost Queen?

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like