“มีแต่การแต่งงานเพื่อเป็นราชินี ที่จะคู่ควรกับลูกสาวของฝรั่งเศส” ว่าด้วยลูกสาวทั้ง 8 ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

Mesdames de France คือตำแหน่งที่ใช้เรียกบรรดาลูกสาวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ครองตัวเป็นโสด ไม่ได้แต่งงานไปไหนแต่อาศัยอยู่ในราชสำนักแวร์ซายจนถึงการปฎิวัติปี 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มีลูกสาวมากถึง 8 คน ทรงมีลูกชายเพียง 2 คนเท่านั้น คือ หลุยส์ เฟอร์ดินันด์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (พระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) และ ฟีลิปเป ดยุกแห่งอ็องฌู (เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)

เมื่อเป็นลูกสาวของกษัตริย์ เจ้าหญิงทั้ง 8 ได้รับตำแหน่งแต่กำเนิดว่า Filles de France (A Daugther of France – ลูกสาวของฝรั่งเศส) และได้รับการเรียกว่า Madame (มาดาม) ตามด้วยชื่อ หรือลำดับการเกิด ในจำนวนนี้ มีเพียงเจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธ มาดามรอแยล (ตำแหน่งของลูกสาวคนโต) ที่ได้แต่งงานไปกับเจ้าชายเฟลีเปแห่งสเปน (ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นดยุกแห่งปาร์มา)

การแต่งงานของเจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธไม่ได้รับความนิยมนักในราชสำนักเพราะแม้ว่าเจ้าชายฟิลิปจะเป็นลูกชายกษัตริย์สเปน แต่ก็เป็นเพียงลูกชายคนรอง แทบไม่มีโอกาสได้ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ราชสำนักฝรั่งเศสมองว่าตำแหน่ง Filles de France สูงส่งกว่า Infanta of Spain (เจ้าหญิงแห่งสเปน) หลุยส์ที่ 15 มองต่าง พระองค์เห็นว่าการสมรสระหว่างฝรั่งเศสและสเปนมีความจำเป็น เนื่องจากพระองค์มีชนักติดหลัง เคยถอนหมั้นลูกสาวกษัตริย์สเปนจนทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศบาดหมาง

เจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธมีชีวิตแต่งงานที่ไม่เลวร้าย พระองค์เข้ากันได้กับพระสวามี แต่ไม่ถูกกับแม่สามีเป็นอย่างมาก ภายหลังเมื่อฟิลิปได้รับตำแหน่งเป็นดยุกแห่งปาร์มา หลุยส์ เอลิซาเบธพอใจมากกว่าที่ได้ย้ายไปใช้ชีวิตในราชสำนักของตัวเอง ที่ซึ่งพระองค์สั่งสอนลูกๆ ด้วยธรรมเนียมแบบฝรั่งเศส ลูกชายคนเดียวของเจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธ- เฟอร์ดินันด์ ต่อมาจะสมรสกับพี่สาวของมารี อ็องตัวเน็ต – อาร์ชดัชเชสมาเรีย อมาเลีย

เจ้าหญิงลุยส์ เอลีซาเบธ มาดามรอแยล
เจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธ มาดามรอแยล

หลังการแต่งงานของลูกสาวแรก พระเจ้าหลุยส์แทบไม่ให้ความสนใจกับการส่งออกลูกสาวไปราชสำนักไหน ส่วนแรกเป็นเพราะเจ้าหญิงฝรั่งเศสต้องแต่งงานกับเจ้าชายที่นับถือคาทอลิกด้วยกัน ส่วนหลังมาจากความจริงที่ว่าการหาเจ้าชายศักดิ์สูงสำหรับลูกสาวทุกคนแทบจะเป็นเรื่องเกินฝัน บรรดาลูกสาวที่ครองโสดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มีรายนามดังนี้

เจ้าหญิงอ็องรีเอ็ต มาดามที่สอง (Madame Seconde)

เจ้าหญิงอ็องรีเอ็ต มาดามที่สอง ผู้มีหน้าตาสวยกว่าพี่สาวฝาแฝดของตัวเอง
เจ้าหญิงอ็องรีเอ็ต มาดามที่สอง

น้องสาวฝาแฝดของเจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธ การถือกำเนิดของแฝดสาวแม้จะสร้างความผิดหวังอยู่บ้าง เนื่องจากราชสำนักย่อมคาดหวังทายาทชายมากกว่าหญิง แต่ในขณะที่สองสาวถือกำเนิด หลุยส์ที่ 15 เพิ่งอายุ 17 ปี และยังมีโอกาสผลิตทายาทอีกมาก พระองค์ออกจะดีใจมากกว่าเพราะเป็นการประกาศว่าทรงสามารถมีทายาทที่แข็งแรงได้พร้อมกันถึงสองคน! 

อ็องรีเอ็ตได้รับคำบรรยายว่าสวยงามกว่าแฝดพี่ มีนิสัยอ่อนโยน สุภาพ และเก็บตัว (ในขณะที่แฝดพี่เป็นคนมั่นใจในตัวเองและเฉลียวฉลาด ถือเป็นบุคลิกที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง) เธอมีพรสวรรค์ด้านดนตรีและสามารถเล่น Viol (เครื่องดนตรีต้นแบบของเชลโลและดับเบ้ลเบสในปัจจุบัน) ได้ไพเราะไม่เหมือนใคร ในวัยสาว อ็องรีเอ็ตรักอยู่กับเจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง ญาติผู้พี่ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนัก (สายตระกูลออร์เลอ็อง สืบเชื้อสายมาจากน้องชายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เห็นดีกับความคิดนี้ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจเพราะไม่อยากให้ตระกูลออร์เลอ็องที่มั่งคั่งเข้ามามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ อ็องรีเอ็ตไม่เคยแต่งงาน ไม่ได้หมั้นหมายและครองตัวเป็นโสดหลังจากนั้น 

อ็องรีเอ็ตเสียชีวิตด้วยไข้ทรพิษตอนอายุเพียง 24 พระเจ้าหลุยส์เสียใจกับการตายของลูกสาวคนโปรดและสั่งให้จัดงานศพเต็มพระเกียรติ์ งานศพของเธอถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ เปิดให้พลเมืองสามารถเข้ามาไว้อาลัยต่อเจ้าหญิงที่ถูกตั้งพระศพไว้อย่างสวยงามที่พระราชวังตุยเลอรีแทนที่จะเป็นแวร์ซาย ผลตอบรับกลับตรงข้าม ชาวเมืองเฉลิมฉลองการตายของเจ้าหญิงด้วยการดื่มกินอย่างสนุกสนาน เป็นสัญญาณว่าการใช้ชีวิตของราชวงศ์ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอีกต่อไป

การตายของอ็องรีเอ็ตสร้างความเสียใจให้พี่สาวฝาแฝดของพระองค์เป็นอย่างมาก โดยเจ้าหญิงหลุยส์ เอลิซาเบธ มีรับสั่งว่า หากพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อไหร่ ให้นำร่างของพระองค์มาฝังไว้ข้างน้องสาว ครอบครัวของเจ้าหญิงทำตามสัญญา ทำให้ศพของมาดามรอรัลได้รับการฝังไว้ที่ประเทศฝรั่งเศสแม้พระองค์จะมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นดัชเชสแห่งปาร์มา

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ มาดามที่สาม (Madame Troisième)

เจ้าหญิงมารี ลุยส์ มาดามที่สาม ภาพวาดขณะยังเป็นเด็กอายุไม่ถึง 8 ขวบ
เจ้าหญิงมารี ลุยส์ มาดามที่สาม

ลูกสาวคนที่สามสร้างความผิดหวังอีกครั้งให้ราชสำนักที่รอคอยเจ้าชายรัชทายาท ทันทีที่ทารกคลอดเป็นหญิง พิธีสำหรับฉลองทั้งหมดถูกยกเลิก มีเพียงการร้องประสานเสียงเล็กๆ เพื่อเป็นเกียรติให้ลูกสาวคนใหม่ เจ้าหญิงหลุยส์มีชีวิตอยู่เพียง 8 ปี ก่อนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เจ้าหญิงอเดไลด์ มาดามที่สี่ (Madame Quatrième) (ต่อมาคือมาดามที่สามหลังเจ้าหญิงหลุยส์สิ้นพระชนม์)

เจ้าหญิงอเดไลด์ มาดามที่สี่ เจ้าหญิงที่ว่ากันว่าสวยที่สุดในหมู่พี่น้อง เพราะมีโครงหน้าแบบฝรั่งเศสแท้ๆ
เจ้าหญิงอเดไลด์ มาดามที่สี่

อเดไลด์เป็นลูกสาวที่สวยที่สุดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ความงามของเธอได้รับการบรรยายว่า เป็นแบบสาวราชวงศ์บูร์บงแท้ๆ คือ “สวย สง่า เธอมีดวงตาสีเข้มขนาดใหญ่ แลดูน่าหลงใหลและนุ่มนวลในเวลาเดียวกัน” อเดไลด์เป็นคนฉลาด เธอชอบเอาชนะ หยิ่งผยอง เป็นผู้นำและในบางครั้งก็ขาดความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ

เมื่ออเดไลด์ถึงวัยแต่งงาน เธอประกาศชัด ไม่ต้องการแต่งงานกับเจ้าชายที่ฐานันดรต่ำกว่าหรือไม่ได้เป็นเจ้าชายรัชทายาทของราชบัลลังก์ บรรดาเจ้าชายที่เคยสู่ขอเจ้าหญิง คือเจ้าชายแห่งคอนติ (แคว้นเล็กๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส) และ เจ้าชายฟรานซิส ซาเวีย แห่งแซกโซนี (ลูกชายคนรองของกษัตริย์โปแลนด์) ล้วนได้รับการปฎิเสธเพราะฐานันดรไม่สูงพอ

ตอนวัยรุ่นอเดไลต์เคยตกหลุมรักทหารราชองครักษ์ของพระเจ้าหลุยส์ เธอส่งกล่องยานัตถุ์ไปให้พร้อมข้อความ “จงเทิดทูนสิ่งนี้ เพราะอีกไม่นานคุณจะทราบว่าใครเป็นเจ้าของ” นายทหารนำกล่องไปให้หัวหน้า ซึ่งนำไปแจ้งต่อให้พระเจ้าหลุยส์ทันที พระเจ้าหลุยส์ทราบว่าลายมือนี้เป็นของลูกสาว จึงมอบรางวัลให้นายทหารก่อนสั่งให้ไปประจำการในที่แสนไกล

อเดไลด์เป็นเจ้าหญิงที่มีอิทธิพลเหนือพี่น้องคนอื่นๆ เมื่อพระมารดาของเธอสิ้นพระชนม์ เธอสนับสนุนให้พระบิดาแต่งงานใหม่ โดยเสนอให้เลือกเจ้าสาวที่สวย อายุน้อย และหัวอ่อน หนึ่งในข้อเสนอคือเจ้าหญิงมาเรีย เตเรส แห่งซาวอย ภรรยาม่ายของเจ้าชายแห่ง Lamballe และอาร์ชดยุกมารี เอลิซาเบธ เจ้าหญิงที่โด่งดังด้านความงามจากออสเตรีย (พี่สาวอีกคนของมารี อ็องตัวเน็ต) น่าเสียดายที่ทั้งสองข้อเสนอล้วนล้มเหลว (เจ้าหญิงมาเรีย แตเรส ปฎิเสธ ส่วนอาร์ชดยุกมาเรีย เอลิซาเบธป่วยเป็นไข้ทรพิษจนมีแผลเป็นบนใบหน้า) ยังมีข่าวลือว่าอเดไลด์ มีความสัมพันธ์ชู้สาว กับพระเจ้าหลยุส์ที่ 15 กระทั่งคลอดลูกนอกสมรสของบิดาตัวเอง ข่าวลือที่ว่านี้ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่มองว่าน่าจะเป็นข่าวซุบซิบเพื่อป้ายสีสมาชิกราชวงศ์เสียมากกว่า

หลังการสิ้นพระชนม์ของบรรดาพี่สาว รวมไปถึงพระมารดา อเดไลด์กลายเป็นสตรีที่มีบรรดาศักดิ์สูงที่สุดในราชสำนัก ก่อนตำแหน่งนี้จะถูกแทนที่โดยมารี อ็องตัวเน็ต มเหสีของหลุยส์ที่ 16 ผู้มีศักดิ์เป็นหลานสะใภ้ อเดไลด์เป็นผู้ริเริ่มการเรียกมารี อ็องตัวเน็ตว่า “ผู้หญิงออสเตรีย” (The Austrian Woman) ซึ่งจะเป็นคำดูแคลนที่หลอกหลอนมารี อ็องตัวเน็ตไปตลอดชีวิต อเดไลด์ยังเป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลในราชสำนักฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก พระองค์สนิทสนมกับพี่ชาย – เจ้าชายหลุยส์ เฟอร์ดินันด์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นองค์รัชทายาท ถึงขนาดที่หลุยส์ เฟอร์ดินันด์เก็บเอกสารของพระองค์ไว้กับน้องสาว เพื่อขอให้อเดไลด์ส่งต่อทุกอย่างให้ลูกชายของพระองค์ – พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 การตายก่อนวัยอันควรของหลุยส์ เฟอร์ดินันด์สร้างความเจ็บปวดให้อเดไลด์เป็นอย่างมาก แต่ก็ทำให้พระองค์มีอิทธิพลเหนือหลานชายมากเช่นกัน

เจ้าหญิงวิกตัวร์ มาดามที่สี่ (Madame Quatrième)

เจ้าหญิงวิกตัวร์ มาดามที่สี่ พระองค์หน้าตาดีไม่แพ้พี่สาว ถือเป็นอีกหนึ่งเจ้าหญิงที่ได้รับความนิยมในราชสำนัก
เจ้าหญิงวิกตัวร์ มาดามที่สี่

วิกตัวร์เป็นเจ้าหญิงคนแรกที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงในแวร์ซาย เพราะค่าเลี้ยงดูเจ้าหญิงในวังมันสูงไป ไม่มีความจำเป็นกับเจ้าหญิงองค์หลังๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า (บวกกับหลุยส์ที่ 15 ทำใจแยกจากลูกสาวคนแรกๆ ที่พระองค์สนิทสนมด้วยไม่ได้) เธอและบรรดาน้องสาว ถูกส่งตัวไปอยู่วิหารหลวงฟองเตอัวเพื่อรับการศึกษาแบบสาวชั้นสูงในคอนแวนต์ วิกตัวร์เพิ่งได้กลับวังหลังอายุ 15 เป็นที่รู้กันว่าวิกตัวร์แทบเขียนฝรั่งเศสไม่ได้ และได้รับการศึกษาเพียงเล็กน้อย เธอเพิ่งเรียนประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษและอิตาลีหลังกลับเข้าวัง

วิกตัวร์ประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชมในราชสำนัก เธอเป็นสาวสวย ร่าเริงและเปี่ยมด้วยความเมตตาอารี วิกตัวร์มีดวงตาสีน้ำตาลอ่อนซึ่งกล่าวกันว่าได้รับสืบทอดมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทุกครั้งที่เธอยิ้ม คล้ายว่าความสุขอันเปี่ยมล้นถูกถ่ายทอดผ่านสายตา เมื่อถึงวัยแต่งงาน เคยมีข้อเสนอให้วิกตัวร์แต่งงานกับพี่สามีของพี่สาว – พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 6 แห่งสเปน (พี่ชายของเจ้าชายเฟลิเป สวามีของเจ้าหญิงลุยส์ เอลิซาเบธ) หลังราชินีของพระองค์ บาร์บาร่าแห่งโปรตุเกส กำลังป่วยหนักใกล้สิ้นใจ กลายเป็นว่าบาร์บาร่ารอดตายมาได้ และการแต่งงานของวิกตัวร์ไม่เคยถูกเสนออีก

อเดไลด์และวิกตัวร์ เป็นสองเจ้าหญิงที่มีชีวิตถึงเหตุการณ์ปฎิวัติในปี 1789 ทั้งสองหลบหนีไปอยู่โรม ก่อนย้ายไปเนเปิลส์ (เพราะมารี คาโรลิน่า พี่สาวของมารี อองตัวเน็ต เป็นสมเด็จพระราชินีอยู่) เมื่อเนเปิลส์ถูกฝรั่งเศสรุกราน สองเจ้าหญิงหนีไปตรีเยสเต เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี ทั้งสองเสียชีวิตที่นั่น  

 เจ้าหญิงโซฟี มาดามที่ห้า (Madame Cinquième)

เจ้าหญิงโซฟี มาดามที่ห้า ลูกสาวที่ถูกกล่าวว่าไม่สวย และดูไม่มั่นใจ
เจ้าหญิงโซฟี มาดามที่ห้า

ลูกสาวที่เป็นที่รู้จักน้อยที่สุดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 การเกิดของพระองค์แทบไม่มีความสำคัญและแทบจะเป็นเรื่องเศร้าเพราะฟีลิปเป ดยุกแห่งอ็องฌู พี่ชายของพระองค์ และลูกชายคนเล็กของหลุยส์ที่ 15 เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน โซเฟียถูกส่งไปวิหารหลวงฟองเตอัวเช่นเดียวกับวิกตัวร์ แต่เมื่อกลับมาแวร์ซาย โซเฟียกลับไม่ประสบความสำเร็จในวังเท่าพี่สาว เธอได้รับคำบรรยายว่า ไม่สวย และขาดความมั่นใจ เจ้าหญิงเดินไปไหนมาไหนด้วยความเร็ว มองผู้คนผ่านๆ เหมือนกระต่ายป่า เธอขี้อายและอาจไม่เอ่ยวาจาได้เป็นวัน โซฟีชอบเรียนหนังสือ แต่มักเรียนด้วยตัวเอง การปรากฏตัวของบุคคลที่สองและสามทำให้เธอประหม่า เธอมักถูกชักจูงและทำอะไรตามความต้องการของเจ้าหญิงอเดไลด์ ถึงอย่างนั้นโซเฟียก็เป็นคนสุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน

การแต่งงานของโซฟีไม่เคยมีการกล่าวถึง โซฟีจากไปเงียบๆ ตอนอายุ 47 ปี ชื่อของเธอ ถูกนำมาตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้ลูกสาวคนเล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารี อองตัวเน็ต ทุกวันนี้เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหญิงโซฟียังเป็นปริศนา แม้แต่ภาพลักษณ์ของเจ้าหญิงที่ถูกบรรยายว่า ‘ไม่สวยจนน่าตกใจ’ ในบันทึกของมาดามคัมปาน – ครูผู้ดูแลเจ้าหญิง ก็อาจแฝงด้วยอคติอันเกิดจากบุคลิกที่เข้าใจยากของพระองค์ มองกันตามตรงจากภาพวาดของเจ้าหญิง หากเราเชื่อว่าภาพนี้นำเสนอใบหน้าของพระองค์จริงๆ เจ้าหญิงพระองค์นี้ก็ดูห่างไกลจากคำว่า ‘ไม่สวย’ ไปมากโข

เจ้าหญิงเตเรส มาดามที่หก ( Madame Sixième)

เจ้าหญิงเตเรสร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก เธอถูกส่งไปวิหารหลวงฟองเตอัวตั้งแต่อายุสองขวบ ก่อนป่วยและเสียชีวิตด้วยไข้ทรพิษตอนอายุ 8 ปี ความตายของเตเรสสร้างความเสียใจให้หลุยส์ที่ 15 เนื่องจากพระองค์แทบไม่เคยใช้เวลากับลูกสาวคนนี้ หลังจากเตเรสเสียชีวิต หลุยส์ที่ 15 ส่งจิตรกรของพระองค์เพื่อวาดภาพลูกสาวสามคนที่เหลือ คือวิกตัวร์ โซฟี และหลุยส์ กลับมาให้พระองค์ได้ดูต่างหน้า

เจ้าหญิงหลุยส์ มาดามคนสุดท้าย (Madame Dernière)

เจ้าหญิงลุยส์ มาดามคนสุดท้าย ลูกสาวคนเดียวที่ตัดสินใจบวชเพื่อรับใช้ศาสนา
เจ้าหญิงหลุยส์ มาดามคนสุดท้าย

ลูกสาวคนสุดท้องของพระเจ้าหลุยส์ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1737 การคลอดครั้งนี้เป็นเรื่องยากและเกือบทำให้พระมารดาต้องถึงแก่ชีวิต หลังการคลอดของเจ้าหญิง แพทย์หลวงให้คำแนะนำกับราชินีว่าพระองค์ไม่ควรมีลูกอีก พระนางจึงเลิกร่วมเตียงกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เปิดทางให้ทรงมีสนมนางในได้ตามพอใจ พระเจ้าหลุยส์รู้ว่าตัวเองจะไม่มีลูกเพิ่มกับพระมเหสี จังเรียกลุยส์ว่า มาดามคนสุดท้าย Madame Dernière (‘Madame the Last’)

หลุยส์ไม่ใช่คนสวย แต่เป็นสาวน้อยซุกซนช่างเจรจา เธอไม่กลัวที่จะตำหนิข้ารับใช้ หากรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฎิบัติอย่างสมเกียรติ มีเรื่องเล่าสมัยเจ้าหญิงอยู่วิหารหลวงฟองเตอัว เคยกล่าวตำหนินางชีที่ดูแลรับใช้เจ้าหญิงว่า “นี่ฉันไม่ใช่ลูกสาวกษัตริย์ของเธอหรือ?” นางชีตอบกลับว่า “แล้วหม่อมฉันไม่ใช่ลูกสาวพระเจ้าของคุณหรือ“ ตอนเธออายุ 11 ปี มีข่าวว่าพระเจ้าหลุยส์สนใจให้ลูกสาวคนเล็กแต่งงานกับเจ้าชายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต ผู้อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ของอังกฤษ ลุยส์ตัวน้อยตอบกลับ

“ฉันไม่สนใจการเป็นภรรยาที่ดี เพราะไม่มีสิ่งใดที่ฉันต้องการมากไม่กว่าการรับใช้พระเยซูเจ้า”

ช่วงปีแรกของชีวิตในแวร์ซาย หลุยส์กลายเป็นเจ้าหญิงที่หรูหราที่สุด เธอชอบสิ่งของฟุ่มเฟือย โปรดงานเลี้ยง และมักซื้อหาเสื้อผ้า/เครื่องประดับใหม่อยู่เสมอ อาจเป็นเพราะพระองค์ถูกส่งเข้าสำนักชีตั้งแต่อายุแค่ 11 เดือนจึงทำให้เจ้าหญิงไม่เคยรู้จักสิ่งของหรูหรามาก่อน หลุยส์ยังเป็นคนรักการอ่านและชอบให้มาดามคัมปาน – ครูของบรรดาเจ้าหญิง อ่านหนังสือให้เธอฟังครั้งละหลายๆ ชั่วโมง

ทุกเช้าเมื่อพระบิดามาเยี่ยม ทรงโปรดไปที่ห้องพักของอเดไลด์ก่อน โดยอเดไลด์จะสั่นกระดิ่งเพื่อบอกวิกตัวร์ วิกตัวร์สั่นกระดิ่งบอกโซฟี และโซฟีสั่นกระดิ่งบอกหลุยส์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เรียกสี่สาวของเขาว่า “ยัยผ้าขี้ริ้ว (อเดไลด์)” ,“ยัยหมูอ้วน (วิกตัวร์)”, “ยัยหมัด (โซฟี)”และ “ยัยขยะ (หลุยส์)”

พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 กษัตริย์ผู้รักลูกสาวของพระองค์ไม่น้อยไปกว่าลูกชาย
พระเจ้าหลุยส์ที่ 15

หลุยส์เป็นลูกสาวเพียงคนเดียวที่สละฐานะทางโลกเข้าบวชเป็นชีในสำนักคอนแวนต์ เนื่องจากในเวลาต่อมา หลุยส์เริ่มเบื่อชีวิตในวังที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย แต่ไร้ซึ่งความจริงใจ หลุยส์ตัดสินใจบวชชีในคอนแวนต์ที่ยากจนที่สุด เปลี่ยนไปใช้ชื่อทางศาสนาว่าซิสเตอร์เตเรส และไม่เคยใช้สิทธิพิเศษของการเป็นลูกสาวกษัตริย์ ต่างจากภาพลักษณ์ที่พระองค์เคยเป็นมาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในปี 1774 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ป่วยเป็นไข้ทรพิษ ทายาทฝ่ายชายและหลานสะใภ้ทั้งหลายถูกกันห่างจากห้องบรรทมเพราะกลัวติดโรคร้าย มาดามทั้งสี่เป็นสมาชิกราชวังชั้นสูงเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบพระบิดา พวกเธอไม่มีความสำคัญกับฝรั่งเศส แต่มีความสำคัญอย่างมากกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงสิ้นพระชนม์ขณะมีลูกสาวคอยเฝ้าข้างเตียงจนสิ้นใจ

References:

Mesdames: The Daughters of Louis XV and Queen Marie Leszczynska

Daughters of France 1727-1800

The Daughters of Louis XV Part 1 – Louise Elisabeth and Henriette Anne

The Daughters of Louis XV Part 2 – Marie Louise, Adélaïde and Victoire De France

The Daughters of Louis XV Part 3 – Sophie Philippine, Marie Thérèse and Louise Marie Of France

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like