สูงศักดิ์สู่สามัญ ว่าด้วยระบบขุนนางและการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส

17,000 คือจำนวนตระกูลสูงศักดิ์ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส หลังปี 1789 เป็นต้นมา ตระกูลที่ว่าถูกกวาดล้างอย่างหนักจนเหลือแค่ราว 2,800 ครอบครัวเท่านั้น

ในยุคของนโปเลียนที่ 1 จักรพรรดิพระองค์ใหม่ได้มอบบรรดาศักดิ์เป็นรางวัลให้นายพล ผู้นำด้านเศรษฐกิจและสังคมคนสำคัญอีกราว 400 ตระกูล ปัจจุบันมีตระกูลในฝรั่งเศสที่ยังถือว่าเป็นครอบครัวมีบรรดาศักดิ์อยู่ราว 3,000 สาย (คิดเป็น 0.2% ของประชากรทั้งหมด) การจะทราบว่าตระกูลไหนสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวสูงศักดิ์อาจสังเกตได้จากนามสกุลซึ่งอาจมีคำว่า de นำหน้า แต่ก็ใช่ว่าทุกนามสกุลที่เริ่มต้นด้วย de จะเป็นผู้สูงศักดิ์ ยกตัวอย่างเช่น ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)- ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกในยุคสาธารณรัฐที่ 5 ไม่ได้เป็นผู้สูงศักดิ์ ในขณะที่นักเขียนดังอย่าง อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) เป็นลูกหลานของตระกูลสูงศักดิ์ ปัจจุบันมีตระกูลสูงศักดิ์เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีคำว่า de นำหน้านามสกุล

มงกุฎพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (สร้างในปี 1722) 

การเป็นผู้สูงศักดิ์ในฝรั่งเศสหมายความว่าตระกูลของผู้นั้นต้องได้รับการแต่งตั้ง และมีเอกสารรับรอง หากมั่นใจว่าตระกูลไหนมีเอกสารถูกต้อง แต่ถูกริบยศศักดิ์ไปในระหว่างการปฏิวัติ (ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์) ปัจจุบันลูกหลานของตระกูลดังกล่าวสามารถทำเรืองขอยศคืนได้ โดยต้องส่งเอกสารผ่าน Association for the Mutual Assistance of the French Nobility (ANF) หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่สืบหาตามกลับกระทั่งเจอต้นสายตระกูลที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี การมีตำแหน่งนำหน้าในปัจจุบันแทบไม่สร้างความแตกต่างทางสังคม ดยุก/ดัชเชส มาร์ควิส/มาร์เชอเนส เคานต์/เคานต์เทส ไวเคานต์/ไวเคาน์เตส / บารอน/บารอเนส ตำแหน่งเหล่านี้สามารถปรากฏบนเอกสารราชการ แต่ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ตามกฎหมาย สำหรับทายาทของตระกูลใหญ่ที่ได้รับสืบทอดปราสาทราชวัง หน้าที่การดูแลรักษา เป็นของทายาทโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

แน่นอนว่าระบบกษัตริย์หมดไปนานแล้วจากฝรั่งเศส แต่ลองจินตนาการเล่นๆ ว่าวันหนึ่งหากระบบกษัตริย์ถูกฟืนฟูขึ้นใหม่ ภาระกิจตามหาผู้ครองบัลลังก์คนต่อไปอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการอ้างสิทธิ์ของฝรั่งเศสค่อนข้างซับซ้อนและต้องสืบย้อนกลับไปไกลถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 – 3 สายตระกูลสำคัญที่อาจเป็นผู้สมัครตำแหน่งกษัตริย์ คือ บูร์บง ออร์เลอ็อง และ โบนาปาร์ต

ราชวงศ์บูร์บง

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 // จ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งอองชู

กษัตริย์คนสุดท้ายของฝรั่งเศสก่อนการปฎิวัติ 1789 คือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงมีลูกชายเพียงคนเดียวคือพระหลุยส์ที่ 17 ซึ่งสวรรคตไประหว่างถูกคุมขังโดยคณะปฏิวัติ เมื่อสายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่สามารถไปต่อ เราจึงต้องย้อนกลับมาพิจารณาทายาทชายคนอื่นๆ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มีลูกชายที่รอดถึงวัยผู้ใหญ่เพียงคนเดียวคือหลุยส์ เฟอร์ดินันด์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส โชคร้ายว่าลูกชายของพระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนได้ขึ้นครองราชย์ ทำให้เมื่อหลุยส์ที่ 15 จากโลกนี้ไป บัลลังก์ฝรั่งเศสจึงถูกส่งผ่านมาให้หลานชายคนโตคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยในชั้นหลานนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มีหลานชายที่เกิดจากลูกชายคนเดียว 3 พระองค์ ได้แก่

1.หลุยส์ ออกัสตัส (พระเจ้าหลุยส์ที่ 16)

2.หลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 18)

3.ชาร์ล ฟิลิป (พระเจ้าชาร์ลที่ 10)

หลุยส์ เฟอร์ดินันด์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ลูกชายของหลุยส์ 15 และบิดาสามกษัตริย์ผู้พลาดโอกาสครองบัลลังก์ของตัวเอง

เห็นได้ว่าหลานชายทั้งสามของหลุยส์ที่ 15 ได้ขึ้นครองราชย์ในช่วงเวลาต่างกันตามลำดับ หลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สวรรคต เคยมีการฟื้นฟูระบบกษัตริย์และเชิญให้รัชทายาทลำดับต่อไปคือเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ กลับมาครองบัลลังก์ เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 โชคร้ายว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่มีทายาท เมื่อทรงสวรรคต บัลลังก์จึงได้รับการส่งต่อให้น้องชายคนเล็ก – ชาร์ล ฟิลิป (พระเจ้าชาร์ลที่ 10) รัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ไม่ยืนยาวเนื่องจากเกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้ง การปฏิวัติในครั้งนี้มีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม และเนื่องจากหลานชายคนเดียวของพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ไม่มีทายาท ราชวงศ์บรูบงส์สายพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จึงจบลงตรงนี้

ดังนั้นหากจะสืบหาทายาทของราชวงศ์บรูบงส์ต่อไป เราจะต้องย้อนกลับไปไกลถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีลูกชายเพียงคนเดียวคือ เจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส โดแฟ็งพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระบิดาจึงไม่ได้ขึ้นครองราชย์ โดแฟ็งหลุยส์มีลูกชายสองคนคือ 1.เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ (พระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15) และ 2.เจ้าชายฟิลิปซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน เจ้าชายฟิลิปอ้างสิทธิ์บัลลังก์สเปน ผ่านทางสมเด็จย่าของพระองค์ – พระนางมารี แตเรซ เจ้าหญิงแห่งสเปน (ราชินีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) อาจเป็นเรื่องตลกร้ายที่ต้องบอกว่า ทายาทที่ชอบธรรมของราชวงศ์บรูบงส์คนปัจจุบัน จะต้องไปหาตัวกันที่สเปน

ปัจจุบันนี้ทายาทชายสายตรงของบรูบงส์ คือเจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งอองชู (Louis Alphonse, Duke of Anjou) ทรงมีสายเลือดใกล้ชิดกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มากที่สุด และสามารถอ้างสิทธิ์บัลลังก์ฝรั่งเศสได้ตามกฎ Legitimists (Légitimistes) หมายถึงการส่งผ่านตำแหน่งกษัตริย์ต่อไปให้ทายาทชายสายตรงที่มีอายุมากที่สุดในรุ่น อย่างไรก็ดี อย่างไรก็ดี การอ้างสิทธิ์ของเจ้าชายหลุยส์ (ซึ่งหากได้ครองราชย์ก็จะเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 20) อาจจะไม่เข้มแข็งนักเพราะตอนเจ้าชายฟิลิปขึ้นเป็นกษัตริย์สเปน ได้ทำข้อตกลงสละสิทธิ์ของพระองค์และทายาททุกพระองค์ในการสืบทอดบัลลังก์ฝรั่งเศส ข้อตกลงนี้ทำขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าสเปนและฝรั่งเศส – สองประเทศที่ยิ่งใหญ่จะไม่มีกษัตริย์องค์เดียวกัน

ราชวงศ์ออร์เลอ็อง

พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปที่ 1 // เจ้าชายฌ็อง เคานต์แห่งปารีส

ออร์เลอ็องเป็นราชสกุลสายรองของบูร์บง ก่อตั้งโดย เจ้าชายฟิลิปดยุกแห่งออร์เลอ็อง ลูกชายคนเล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และน้องชายคนเดียวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เจ้านายจากสายนี้เคยขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสเป็นเวลา 18 ปี หลังพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ประกาศสละราชฯ และก่อนฝรั่งเศสจะเกิดการปฏิวัติครั้งที่ 3 เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองกลับมาเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง

กษัตริย์พระองค์เดียวของราชวงศ์ออร์เลอ็อง คือ พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปที่ 1 ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่มาจากสาแหรกของราชวงศ์บูร์บงและหากจะสืบทายาทจากสายออร์เลอ็อง ผู้มีสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์คนปัจจุบันคือเจ้าชายฌ็อง เคานต์แห่งปารีส (Jean, Count of Paris) เจ้าชายฌ็องน่าจะเป็นทายาทที่ชอบธรรมมากที่สุดเพราะทรงเป็นประมุขของตระกูล de France ในปัจจุบัน

de France เป็นนามสกุลของผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าชายสายเลือดตรงของฝรั่งเศส (หมายถึงเจ้าชายที่เป็นลูกชายของกษัตริย์) เจ้าชายของฝรั่งเศสไม่มีนามสกุลแต่ได้บรรดาศักดิ์ว่า fils de France (Son of France) จึงเป็นที่มาของนามสกุล de France ในปัจจุบัน

ราชวงศ์โบนาปาร์ต

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 // ฌ็อง คริสตอฟ เจ้าชายนโปเลียน

หากฝรั่งเศสสนใจจักรพรรดิ อีกทางเลือกที่เป็นไปได้ คือการตามหาทายาทของนโปเลียน

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มีลูกชายเพียงคนเดียว พระองค์ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 เพียงสั้นๆ ก่อนต้องลี้ภัยและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในราชสำนักเวียนนา (ซึ่งเป็นครอบครัวญาติฝั่งพระมารดา) นโปเลียนที่ 2 เสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มโดยไม่มีทายาท แต่ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โบนาปาร์ตยังไม่จบแค่นั้น หลังการปฎิวัติครั้งที่ 3 เพื่อกลับเป็นสาธารณรัฐ ฝรั่งเศสเคยกลับไปปกครองโดยจักรพรรดิอีกครั้ง ครั้งนี้โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 – หลานชายของนโปเลียนที่ 1

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีลูกชายเพียงคนเดียวคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 4 แน่นอนว่าฝรั่งเศสมีปฏิวัติและกลับมาเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง จักรพรรดินโปเลียนที่ 4 ไม่มีทายาท ดังนั้นทายาทที่ชอบธรรมจากสายนี้ จึงเป็นญาติห่างๆ จากสายตระกูลน้องชายคนเล็กของนโปเลียนที่ 1 – ฌ็อง คริสตอฟ เจ้าชายนโปเลียน (Jean-Christophe, Prince Napoléon) ทรงเป็นทายาทคนปัจจุบันของตระกูล และเป็นที่รู้จักกันในนาม เจ้าชายนโปเลียน

References:

French and noble in 2018: What remains of France’s aristocracy?

Who Would Be King of France Today?

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like