อาทิตย์ที่ผ่านมาเรามีโอกาสเข้าร่วมการบรรยายเกี่ยวกับการศึกษาของสตรีชั้นสูงในรัสเซียก่อนการปฏิวัติ จัดโดย Russian History Museum ผู้บรรยายคือด็อกเตอร์แนนซี่ โคโวลอฟ ซึ่งมีคุณย่าเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้ ครอบครัวของด็อกเตอร์โคโวลอฟอพยพจากรัสเซียช่วงการปฏิวัติและได้นำสมุดภาพเก่าของสถาบันติดตัวมาด้วย สมุดภาพเล่มนี้เป็นของขวัญที่คุณย่าได้รับจากโรงเรียน ภาพถ่ายต่างๆ แสดงให้เห็นรายละเอียดชีวิตของนักเรียนในช่วงก่อนการปฏิวัติ
ใครบ้างสามารถเข้าเรียนในสถาบันกุลสตรีแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
สมอลนืย – สถาบันกุลสตรีแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Smolny Institute for Noble Maidens) เป็นสถาบันการศึกษาสำหรับสตรีแห่งแรกในรัสเซียเริ่มก่อนตั้งในรัชสมัยของพระนางแคทเธอรีนมหาราชินีในปี 1764 จุดประสงค์ของการก่อตั้งเป็นไปเพื่อ “สร้างกุลสตรีที่มีการศึกษา สามารถเป็นแม่ที่ดี สมาชิกครอบครัวที่มีคุณภาพ และประชากรที่ทำประโยชน์แก่สังคม” แคทเธอรีนมหาราชินีมีความมุ่งมั่นพัฒนารัสเซียให้ทัดเทียมยุโรป ดังนั้นสมอลนืยจึงมุ่งเน้นเสริมสร้างวัฒนธรรมแบบตะวันตกและใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลักสำหรับการเรียนการสอน
สมอลนืยรับนักเรียนใหม่ทุกๆ 3 ปี คราวละ 50 คน เริ่มรับนักเรียนที่มีอายุ 5-6 ปี ครอบครัวที่ตัดสินใจส่งลูกสาวเข้าเรียนต้องทำสัญญาว่าจะไม่ขอตัวลูกสาวคืนก่อนอายุครบ 18 คุณสมบัติสำคัญของการเข้าเรียนที่สมอลนืยนอกจากการสอบ คือการพิสูจน์ว่าตนเองมีสายเลือดขุนนาง โดยหากสอบเข้าได้แต่ค่าเรียนไม่พอก็ยังสามารถขอทุนจากราชสำนัก เด็กๆ ในสมอลนืยจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ชั้นปี แต่ละชั้นปีสวมเครื่องแบบสีต่างกัน สีน้ำตาลกาแฟสำหรับเกรด 1 สีฟ้าสำหรับเกรด 2 สีเทาสำหรับเกรด 3 และสีขาวสำหรับเกรด 4 (ภายหลังเครื่องแบบของเกรด 4 เปลี่ยนเป็นสีเขียวเพราะสีขาวสกปรกง่าย)
ตารางเรียนของเด็กสาวในแต่ละเกรดนั้นมีความแตกต่าง เกรด 1 เรียนวิชาพระคัมภีร์ ภาษารัสเซียและภาษาต่างชาติ คณิตศาสตร์ วาดภาพ ดนตรี เต้นรำ รวมไปถึงงานเย็บปักถักร้อย เกรดสองจะมีการเพิ่มวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เกรดสามเพิ่มวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ การเขียน/แก้ไขเอกสาร และการบริหารจัดการบ้าน เกรดสี่เรียนวิชาเหมือนเกรดสามแต่มีการเพิ่มแนวคิดเรื่องมารยาทสังคม การประพฤติตน หลักของชนชั้นและสายเลือดวงศ์ตระกูล จุดประสงค์สำคัญของสมอลนืยคือการสอนเด็กๆ ให้ เข้าใจกฎเกณฑ์ทางสังคมซึ่งมีความสอดคลองกับแนวคิดทางศาสนา ยกตัวอย่างเช่นประเทศรัสเซียมีพระเจ้าคอยปกป้อง พระเจ้าซาร์เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประชาชนเข้ากับพระผู้เป็นเจ้า ด้วยแนวคิดเช่นนี้สมอลนืยจึงเต็มไปด้วยภาพลักษณ์ทางชนชั้น เป็นสัญลักษณ์ของระบบการปกครองแบบเก่าของผู้มีอภิสิทธิ์ชน
ราชวงศ์โรมานอฟกับการอุปถัมภ์สมอลนืย
หลังแคทเธอรีนมหาราชินีสวรรคต ลูกสะใภ้ของพระองค์ – มาเรีย เฟโอโดรอฟนา (มเหสีของพอลที่ 1) เข้ามาจัดระเบียบสมอลนืย พระองค์ปรับอายุของนักเรียนเกรดหนึ่งเป็น 8-9 ปี เพราะอยากให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ทรงปฏิเสธไม่ยอมรับนักเรียนที่เกิดนอกการสมรส พระองค์คัดเลือกนักเรียนด้วยตัวเองและเข้ามาจัดแจงตารางการเรียนการสอน พระนางมาเรีย เฟโอโดรอฟนาสนใจการศึกษาของสตรีถึงขั้นแก้ไขหนังสือเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการบ้านด้วยพระองค์เอง ในยุคของมาเรีย เฟโอโดรอฟนา มีโรงเรียนสำหรับสตรีถูกจัดตั้งขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ไม่มีที่ไหนจะทรงเกียรติไปมากกว่าสมอลนืย นักเรียนคนไหนทำผลงานได้ดี จะได้รับคำเชิญให้ศึกษาต่ออีกสามปีเพื่อไปประกอบอาชีพเป็นครูสำหรับธิดาชนชั้นสูง (บางบ้านนิยมจ้างครูส่วนตัวให้คอยดูแลทั้งการศึกษาและความประพฤติของบุตรี) เด็กเหล่านี้จะได้รับใบรับรองจากสถาบันสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
หลังยุคของพระนางมาเรีย เฟโอโดรอฟนา ราชวงศ์โรมานอฟไม่ได้เข้ามาจัดการบริหารสมอลนืยดังเก่า แต่ตั้งคณะบริหารขึ้นมาจัดการดูแล สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟมักเดินทางเข้าเยี่ยม หรือเป็นประธานในพิธีสอบปลายภาค นักเรียนจากสมอลนืยได้รับคำเชิญไปพระราชวังพระเจ้าซาร์ และได้เข้าเฝ้าสมาชิกราชวงศ์หลายครั้ง บางคนได้เข้าทำงานในวังหลังจบการศึกษา
หลังยุคของพอลที่ 1 มีการปรับระบบการรับนักเรียนจากสามปีครั้งเป็นเปิดรับนักเรียนใหม่ทุกปี เปลี่ยนมาสอนเป็นภาษารัสเซีย และมีการเพิ่มวิชาสายวิทยาศาสตร์เช่นวิชาฟิสิกส์เข้าไป เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาสำหรับสตรีที่ล้ำสมัยมากที่สุดของยุค
สมุดภาพเก่า และสมอนืยในระหว่างการปฏิวัติ
สมุดภาพที่ด็อกเตอร์โคโวลอฟได้รับเป็นมรดกมาจากครอบครัวคาดว่าถูกจัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีที่เจ้าหญิงเยเลน่า เลเบรน รับหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน ภาพถ่ายทั้งหมดคาดว่าถูกบันทึกในช่วงปี 1904-05 เป็นไปได้ว่าอัลบัมภาพอาจถูกมอบให้นักเรียนที่จบการศึกษาในปีนั้น หรืออาจะเป็นของขวัญพิเศษสำหรับนักเรียนที่ทำผลงานเรียนได้ดีในปีต่อๆ มา (คุณย่าของด็อกเตอร์โคโวลอฟจบการศึกษาในปี 1905 พอดี)
ในระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย สมอลนืยถูกใช้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราด เด็กๆ ที่กำลังเข้ารับการศึกษา ถูกส่งตัวไปเรียนต่อที่สถาบันสตรีอื่น จอห์น รีด นักข่าวสงครามชาวอเมริกันผู้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ระหว่างการปฏิวัติรัสเซียในช่วงเดือนตุลาคม 1917 (หรือเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) ได้กล่าวถึงสภาพของสมอลนืยในช่วงการปฏิวัติว่า
“ในสมัยซาร์ สมอลนืยเป็นโรงเรียนสตรีสำหรับธิดาขุนนางในความอุปถัมภ์ของซารีน่า สถานที่นี้ต่อมาถูกองค์กรปฏิวัติเข้ายึดเข้าใจเป็นสำนักงานอเนกประสงค์ ภายในอาคารมีห้องขนาดมหึมากว่าร้อยห้อง ปูด้วยหินอ่อนสีขาว บนประตูยังมีแผ่นโลหะจารึกลงยาบอกให้ผู้เข้าออกรู้ว่ากำลังอยู่ภายใน ‘ห้องเรียนสตรี หมายเลขสี่’ หรือ ‘สำนักงานอาจารย์’ แต่เหนือแผ่นป้ายเหล่านั้นมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ติดไว้ว่า ‘คณะกรรมการของสภาโซเวียตเปโตรกราด’ หรือ ‘สำนักงานกลางและห้องประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคการเมืองต่างๆ’
“ตามระเบียงทางเดินภายในอาคารที่หลังคาโค้งเหมือนถ้ำ มีแสงไฟส่องให้เห็นห่างๆ กัน มีแผ่นประกาศติดอยู่ทุกที่ที่มีช่องว่าง ‘สหาย เพื่อสุขภาพของท่าน โปรดรักษาความสะอาด’ มีโต๊ะอาหารวางอยู่ตรงหัวบันไดของทุกชั้น มีจุลสารของพรรคการเมืองต่างๆ วางจำหน่าย ที่ชั้นล่างบริเวณโถงใหญ่ที่เคยเป็นห้องอาหารของสถาบันยังคงถูกใช้เป็นห้องอาหารอยู่เช่นเดิม ข้าพเจ้าซื้อคูปองอาหารราคา 2 รูเบิล แล้วไปยืนแถวรอรับบริการกับคนอื่นๆ นับพันคน รอให้เข้าไปถึงโต๊ะอาหารที่มีหญิงชายยี่สิบคนยืนอยู่เหนือหม้อซุปกะหล่ำปลีขนาดยักษ์ เนื้อกองพะเนินบนโต๊ะ กองขนมปังดำวางอยู่เป็นแถว ช้อนมันๆ วางอยู่ในเข่งขนาดใหญ่ให้ทุกคนหยิบมาใช้ ม้านั่งยาวตามโต๊ะแออัดไปด้วยกรรมกรผู้หิวโหย กินอย่างตะกรุมตะกราม บ้างสนทนาวางแผน บ้างพูดเรื่องขบขัน”
ชมภาพเก่าจากสถาบันสมอลนืย
References:
ภาพประกอบและข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการบรรยายของ Russian History Museum
ข้อสังเกตของจอห์น รีด คัดลอกจากหนังสือ สิบวันเขย่าโลก: Ten Days That Shook the World โดยจอห์น รีด แปลโดย สุทิน วรรณบวร สำนักพิมพ์แสงดาว
Smolny Institute for Noble Maidens
SOCIETY FOR EDUCATION OF NOBLE MAIDENS’ (SMOLNY INSTITUTE) ESTABLISHED IN PETERSBURG