หากการปฎิวัติรัสเซียล้มเหลว, หากการต่อสู้ของกลุ่มรัสเซียขาว(ฝ่ายสนับสนุนพระเจ้าซาร์) นำมาซึ่งชัยชนะ, หากราชวงศ์โรมานอฟสามารถกลับคืนสู่อำนาจหลังการสังหารหมู่ครอบครัวพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2… ใครจะเป็นผู้ครอบครองบัลลังก์โรมานอฟที่ว่างอยู่?
ชื่อของเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา อาจไม่คุ้นหูเท่าซารีน่าอเล็กซานดร้า – ผู้ถูกจดจำว่าเป็นซารีน่าองค์สุดท้ายของราชวงศ์อันยิ่งใหญ่ แต่ถัดไปจากพระองค์เพียงนิดเดียว ถ้าประวัติศาสตร์บิดพลิ้วไปเพียงเล็กน้อย โลกเราอาจได้รู้จักซารีน่าที่มีชื่อว่าวิกตอเรีย เมลิตา ซารีน่าพระองค์นี้มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับอเล็กซานดร้า ทั้งสองล้วนเป็นหลานสาวของควีนวิกตอเรียและเป็นที่รักของสองชายผู้เป็นทายาทราชวงศ์โรมานอฟ คนแรกคือซาร์นิโคลัสที่ 2 – พระเจ้าซาร์องค์สุดท้าย อีกคนคือแกรนด์ดยุกคิรีล วลาดิโมวิช – พระเจ้าซาร์ผู้ไร้บัลลังก์
เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิต้า ประสูติในฐานะเจ้าหญิงอังกฤษ พระมารดาของพระองค์ – แกรนด์ดัชเชสมาเรีย เป็นลูกสาวคนเดียวของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย ส่วนพระบิดา – เจ้าชายอัลเฟรด เป็นลูกชายคนที่สามของควีนวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ วิกตอเรีย เมลิตา ได้รับคำบรรยายจากควีนวิกตอเรียว่า “ไม่ถึงกับสวย” ในขณะที่คำวิจารณ์รูปลักษณ์อื่นๆ คือ “สูง ผิวคล้ำตามแบบทอมบอย แต่มีดวงตาสีน้ำเงินเข้มคล้ายดอกไวโอเล็ต”
ในปี 1891 เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา ติดตามพระมารดากลับรัสเซียเพื่อร่วมงานศพของน้าสะใภ้ – แกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดร้า จอร์จิเยฟนา และได้พบแกรนด์ดยุกคิรีลเป็นครั้งแรก แม้ทั้งคู่จะตกหลุมรักและปราถนาการแต่งงาน แต่พระมารดาของเจ้าหญิงกลับคัดค้านหนัก เพราะการแต่งงานของลูกพี่ลูกน้องลำดับหนึ่ง เป็นเรื่องต้องห้ามตามความเชื่อของรัสเซียออร์โธดอกซ์ (มารดาของเจ้าหญิงกับบิดาของแกรนด์ดยุกเป็นพี่น้องกัน ทำให้มีศักดิ์เป็นญาติลำดับที่หนึ่ง เพราะเป็นหลานของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทั้งคู่)
แกรนด์ดัชเชสมาเรียรู้ดีว่าลูกสาวจะไม่เป็นที่ต้อนรับหากดึงดันจะแต่งงาน ยื่นคำขาดว่า แกรนด์ดยุกของรัสเซีย ไม่มีทางเป็นสามีที่ดี และเมื่อเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา ถึงวัยแต่งงาน ข้อเสนอที่ถูกยกขึ้นมา จึงเป็นแกรนด์ดยุกแอร์นส์ หลุยส์ แห่งเฮสส์และไรน์ทายาทบัลลังก์เล็กๆ ในเยอรมัน
การแต่งงานครั้งนี้เป็นความตั้งใจของควีนวิกตอเรีย ผู้มีศักดิ์เป็นสมเด็จย่า ที่ต้องการให้วิกตอเรีย เมลิตา (หลานสาวจากฝั่งลูกชาย – เจ้าชายอัลเฟรด) แต่งงานกับ แอร์นส์ (หลานชายจากฝั่งลูกสาว – เจ้าหญิงอลิซ) ที่เป็นแบบนี้เพราะการแต่งงานของญาติลำดับหนึ่ง ไม่เป็นข้อห้ามในฝั่งอังกฤษ
แอร์นส์กับวิกตอเรีย เมลิต้า เคยพบกันในอังกฤษ มองจากภายนอกทั้งสองเข้ากันได้ดีเพราะโปรดงานศิลปะ มีนิสัยร่าเริงชอบสังสรรค์ กระทั้งเกิดวันเดียวเดือนเดียวกัน ทั้งสองแต่งงานตามความต้องการของครอบครัว การสมรสในปี 1894 เป็นข่าวใหญ่ เพราะพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย เพิ่งประกาศหมั้นกับเจ้าหญิงอเล็กซานดร้า หรือ “อลิกซ์” น้องสาวแท้ๆ ของเจ้าชายแอร์นส์ไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ต่างกันที่ว่าการแต่งงานของเอล็กซานดร้าเกิดจากความรัก ส่วนการแต่งงานของวิกตอเรีย เมลิตา มาจากความเหมาะสม
ไม่ต้องบอกก็พอเดาได้ว่าชีวิตสมรสของวิกตอเรีย เมลิตา เละไม่เป็นท่า เจ้าหญิงรู้เสมอว่าไม่ได้รับความรักจากสามี ส่วนแอร์นส์มักทุ่มเทเวลาให้ลูกสาวเพียงคนเดียว – เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งเฮสส์และไรน์ แอร์นส์มองว่าวิกตอเรียขาดความกระตือรือร้นในการทำหน้าที่ตามฐานะพระชายา เพราะวิกตอเรีย เมลิตาไม่ชอบออกงานทางการ ไม่โปรดการตอบจดหมาย และมักใช้เวลากับคนที่ทรงเห็นว่าน่าสนใจ แทนที่จะเป็นแขกระดับสูงหรือผู้มีบารมีในยุโรป ความไม่พอใจของสามี ภรรยา เปลี่ยนจากข้อโต้แย้งเล็กน้อยจนกลายเป็นการกระทบกระทั่งขว้างปาสิ่งของ
ชีวิตสมรสมาถึงจุดแตกหักเมื่อวิกตอเรียจับได้ว่าสามีของตัวเองร่วมเตียงกับเด็กชายรับใช้ เธอไม่ได้ออกประกาศใหญ่ แต่บอกใครต่อใครว่าบ้านไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้ชาย เมื่อข่าวฉาวดังถึงหูควีนวิกตอเรีย ทรงย้ำซ้ำๆ ว่าไม่อนุญาตหย่า คำขอที่เป็นดังคำสาปจบลงเมื่อควีนวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ในปี 1901
แอร์นส์กล่าวถึงการหย่าที่อื้อฉาวว่า “ไม่เห็นความเป็นไปได้อื่น เพราะชีวิตแบบนี้กำลังฆ่าเธอ และจะทำให้เราเป็นบ้าด้วยเช่นกัน” ทรงเขียนจดหมายถึงพี่สาวคนโต – เจ้าหญิงวิกตอเรีย แห่งบัทเทินแบร์ค “ที่ผ่านมาผมพยายามทุกอย่างก็เพื่อภรรยา ถ้าไม่ใช่เพราะรัก คงตัดสินใจยอมแพ้ไปนานแล้ว” เจ้าหญิงวิกตอเรีย แห่งบัทเทินแบร์ค แสดงความแปลกใจเพียงเล็กน้อย “พวกเขาทำเต็มที่แล้ว แต่บุคลิกของทั้งสองต่างกันเกินไป” ข่าวการหย่ากลายเป็นเรื่องใหญ่ในยุโรปจนนำไปสู่การถกเถียงในวงกว้าง ซาร์นิโคลัสที่ 2 กล่าวถึงการหย่าของพี่เขยว่า “ยอมตายดีกว่าถ้าต้องทำลายครอบครัวด้วยการหย่าที่ไร้เกียรติ”
เจ้าหญิงเอลิซาเบธไม่เคยให้อภัยพระมารดา เด็กสาววัย 6 ปี ร้องไห้หนัก หนีไปซ่อนตัวใต้โซฟา เมื่อพระบิดาบอกว่าวิกตอเรียก็รักเธอไม่น้อยไปกว่า เด็กสาวได้แต่พูดซ้ำๆ “แม่พูดแต่ปากว่ารัก มีแต่พ่อที่รักหนูจริงๆ” เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสียชีวิตด้วยไข้ไทฟอยด์ตอนอายุ 8 ปี ในงานศพของลูกสาว เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาถอดเครื่องราชฯ จากฝั่งเฮสส์ทั้งหมด วางบนโลงศพของลูกสาว เธอตัดขาดกับราชวงศ์เฮสส์อย่างถาวร
แม้ว่าคนทั่วยุโรปจะไม่พอใจ แต่ข่าวนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจให้ชายหนุ่มหนึ่งคน – แกรนด์ดยุกคิรีล วลาดิโมวิชแห่งรัสเซีย
คิรีลในตอนนี้อยู่ในวัย 25 และยังครองตัวเป็นโสด พระองค์ยังไม่ตัดใจจากวิกตอเรีย เมลิตา และเริ่มผลักดันการแต่งงานอีกครั้ง คราวนี้พระมารดาของพระองค์ตอบกลับมาอย่างเด็ดขาด “ในเมืองฝ่ายหญิงหย่าแล้ว ถ้าลูกพอใจ จะเก็บเธอไว้ในฐานะคนรักก็ได้ แต่ไม่อนุญาตให้แต่งงาน” คิรีลที่ผิดหวังซ้ำๆ เข้าร่วมประจำการในกองทัพราชนาวีระหว่างสงครามรัสเซียและญี่ปุ่น เรือของพระองค์ถูกทำลายยับ ทหารหลายร้อยนายเสียชีวิต การรอดชีวิตอย่างไม่คาดฝันทำให้ทรงตัดสินใจอย่างเด็ดขาด คิรีลเขียนจดหมายถึงพระเจ้าซาร์:
“สำหรับผู้รอดพ้นเงาแห่งความตาย ชีวิตมอบความหมายใหม่ มันสดใสเหมือนแสงแดดในยามเช้า ส่องสว่างจนไม่อาจลวงสายตาอีกต่อไป เพราะมีชีวิตอยู่จึงรู้ว่าอะไรคือความฝัน เพราะมีชีวิตอยู่จึงรู้ว่าหากกล้าเอื้อมมือคว้า ก็อาจเปลี่ยนความฝันมาให้เป็นจริง สำหรับผู้ชายที่ผ่านอะไรมากมาย สุดท้ายแสงสว่างของอนาคต ก็ปรากฎชัดอยู่เบื้องหน้า”
แกรด์ดยุกหันหลังให้ทุกคน ทรงออกจากประเทศรัสเซียเพื่อไปรับตัววิกตอเรีย เมลิตา ทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานและเริ่มชีวิตใหม่ที่ขัดใจวงสังคมทั้งยุโรป พระเจ้าซาร์ตอบรับความดื้อรั้นของทั้งสองด้วยการปลดคิรีลจากกองทัพเรือ ยกเลิกเงินรายได้ทั้งหมดจากราชวงศ์ ซารีน่าอเล็กซานดร้ากล่าวว่าจะไม่ยอมรับทั้งคิรีลและวิกตอเรีย เมลิตา “ผู้หญิงที่ประพฤติตัวน่าอับอาย” คู่แต่งงานใหม่ย้ายไปอยู่ปารีสและรับเงินช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากครอบครัว เรื่องราวคงจบลงที่ตรงนี้หากรัสเซียไม่เผชิญกับศัตรูใหม่ที่ร้ายยิ่งกว่า – เงาของการปฎิวัติที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกำลังเดินทางมาถึง
ในปี 1910 เพียง 5 ปีหลังวิกตอเรียและคิรีลตัดขาดจากทั้งโลก มีจดหมายอภัยโทษส่งมาจากพระเจ้าซาร์ ตอนนี้การปฎิวัติได้คร่าชีวิตเจ้านายสายโรมานอฟไปมากมาย คิรีลจากที่เคยห่างไกลราชบัลลังก์ตอนนี้กลายมาเป็นรัชทายาทลำดับสาม ตามหลังแค่ซาเรวิชอเล็กเซย์ – โอรสคนเดียวของพระเจ้าซาร์ และ แกรนด์ดยุกมิคาอิล -อนุชาของพระเจ้าซาร์ สำหรับครอบครัวพระเจ้าซาร์ การเรียกตัวคิรีลกลับมาเป็นเรื่องเสียไม่ได้เพราะทรงถือเป็นราชวงศ์ชั้นสูง คิรีลกลับมาทำงานราชนาวีและได้เป็นผู้นำกองเรือรัสเซียจนการปฎิวัติมาถึงประตูบ้าน แกรนด์ดยุกถูกบังคับให้ลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่ยังได้รับการคุ้มครองจากกองทหารผู้จงรักภักดี กระทั่งตัดสินใจลี้ภัยไปฟิลแลนด์ในปี 1917
ครอบครัวของแกรนด์ดยุกไม่ได้รับอนุญาตให้นำของมีค่าติดตัว จึงเย็บเอาเครื่องเพชรซ่อนไว้ในเสื้อผ้า หลังข่าวการสิ้นพระชนม์ของครอบครัวพระเจ้าซาร์ คิรีล ตั้งตัวเองเป็นพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ การประกาศตัวของเขาได้รับการยอมรับจากเจ้านายสายโรมานอฟส่วนใหญ่ เพราะทรงมีศักดิ์และสิทธิ์ตรงตามกฎการขึ้นครองราชย์ของราชวงศ์รัสเซีย (Pauline Laws) คือ หนึ่ง–เป็นทายาทสายตรงของพระเจ้าซาร์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดในขณะนั้น (แกรนด์ดยุกมิคาอิลรัชทายาทลำดับสองถูกลอบปลงพระชนม์โดยคณะปฎิวัติ) สอง–เกิดจากบิดา/มารดาที่เป็นสายเลือดกษัตริย์ (equal-born) สาม–มีตำแหน่งเป็นแกรด์ดยุกแต่กำเนิด (ตำแหน่งแกรนด์ดยุก เป็นสิทธิ์ของลูกชายและหลานชายของพระเจ้าซาร์)
วิกตอเรีย เมลิตา ซารีน่าไร้บัลลังก์ทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนสามีแม้ได้รับการตอบรับเพียงเล็กน้อยจากญาติพี่น้องในยุโรป เธอเลี้ยงวลาดิเมียร์ – หรือแกรนด์ดยุกวลาดิเมียร์ ลูกชายคนเดียวแบบแกรนด์ดยุก ไม่ยอมให้เข้าโรงเรียนแบบสามัญแต่จ้างครูมาสอนที่บ้านเพราะหวังว่าการฟื้นฟูราชวงศ์อาจมาถึงในสักวัน แม้ไม่ใช่วันในช่วงชีวิตของเธอ
ลูกสาวของวิกตอเรีย เมลิตา – แกรนด์ดัชเชสคิร่า คิริลโนว่า สมรสกับเจ้าชายลุยส์ แฟน์ดีนันด์ รัชทายาทลำดับสองของปรัสเซีย (หลานชายไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2) น่าสนใจว่า หากราชวงศ์โรมานอฟถูกฟืนฟูและราชวงศ์ปรัสเซียไม่ล่มสลาย วิกตอเรีย เมลิตา จะเป็นทั้งพระมารดาของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียผ่านทางลูกชาย และพระมารดาของจักรพรรดินีแห่งเยอรมันผ่านทางลูกสาว
วิกตอเรีย เมลิต้า เสียชีวิตในปี 1936 ไม่กี่ปีหลังจับได้ว่าแกรนด์ดยุกผู้เป็นรักแรกและรักเดียวมีหญิงอื่น หัวใจของเธอแตกสลายวิกตอเรียไม่เคยให้อภัยสามี ไม่ยอมให้เขาถูกตัวในวาระสุดท้าย
ในชีวิตที่ทุกอย่างไม่เป็นดั่งฝัน แม้แต่ความรักที่เธอยึดถือเป็นสิ่งสำคัญ กลับหลุดมือไปในท้ายสุด
“ชีวิตของเธอเหมือนโศกนาฎกรรมเรื่องใหญ่ จุดจบที่น่าเศร้าของชีวิตที่น่าเศร้า เธอหอบความเศร้าเอาไว้ และแสดงออกผ่านสายตา เธอมีสายตาแสนเศร้าตั้งแต่ยังเด็ก แต่พวกเราก็รักเธอมาก รักมากเหลือเกิน นี่เป็นสิ่งที่จะย้ำเตือนเราไปตลอดชีวิต” มาเรีย ราชินีแห่งโรมาเนีย พี่สาวคนโตของวิกตอเรีย เมลิต้า กล่าวถึงน้องสาว
คิรีล เสียชีวิตหลังภรรยาเพียงสองปี แม้จะเคยนอกใจ แต่ความรักที่ทรงมีให้วิกตอเรีย เมลิตา เป็นของจริง “มีคนไม่มากที่สามารถแบ่งปันกันได้ทุกอย่างจากใจจริง จิตใจ จิตวิญาณและร่างกาย เธอเป็นทุกอย่างของผม โชคดีเหลือเกินที่มีผู้หญิงแบบนี้ในชีวิต ในบรรดาผู้คนที่โชคดีที่สุด ผมเป็นหนึ่งในนั้น” แกรนด์ดยุกคิรีลใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อบันทึกเรื่องราวของเขากับภรรยา ศพของทั้งสองถูกฝังในเยอรมัน ก่อนถูกส่งกลับไปฝั่งที่รัสเซียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
References:
Princess Victoria Melita: the British princess who scandalised the royal family
Biographies – Grand Duchess Cyril (Victoria Melita) by Meriel Buchannan