สื้อขาวและคราบเลือดของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในวันที่เกือบถูกลอบสังหารในญี่ปุ่น

เสื้อขาวและคราบเลือดของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในวันที่เกือบถูกลอบสังหารในญี่ปุ่น

โรมานอฟเป็นราชวงศ์ที่เผชิญการลอบสังหารหลายรูปแบบ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ปู่ของนิโคลัสเองก็เคยเจอการลอบสังหารมาแล้วถึง 6 ครั้ง (ครั้งแรกในปี 1866 ตามมาด้วยความพยายามอีก 4 ครั้ง เป็นการลอบยิง 2 ครั้ง วางระเบิดในราชวัง 1 ครั้ง และโจมตีเส้นทางรถไฟอีก 1 ครั้ง) และมาเสียชีวิตรอบสุดท้ายเมื่อนักฆ่าตัดสินใจปาระเบิดเข้าใส่ราชรถระหว่างเดินทางกลับพระราชวังฤดูหนาว

แต่ไม่มีสมาชิกราชวงศ์คนไหนเจอการลอบสังหารที่แปลกและงงไปกว่านิโคลัส เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1891 ระหว่างดำรงตำแหน่งซาเรวิช (เจ้าชายรัชทายาท) และเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น

หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ลงข่าวนี้ในวันที่ 30 พฤษภาคม 1891 บรรยายว่า:

ระหว่างที่ซาเรวิชนิโคลัสกำลังเดินทางกลับเกียวโต หลังเที่ยวชมธรรมชาติท่ีงดงามในเมืองโอสึ (Otsu) ทรงถูกโจมตีโดยนายทสุดะ ซันโซ (Tsuda Sanzō) หนึ่งในตำรวจคุ้มกันที่ทางการญี่ปุ่นจัดหามาให้ นายซันโซ พุ่งดาบใส่ซาเรวิช แต่ดาบเฉียดไปจนทำให้เกิดเพียงรอยแผลเล็กๆ บริเวณหน้าผากด้านขวา เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก ญาติผู้พี่และผู้ติดตามของซาเรวิชรีบเข้ามาคุ้มกัน โดยใช้ไม้เท้าปัดป้องดาบ ทำให้นายซันโซตัดสินใจหลบหนี แต่ถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ แผลของนิโคลัสมีความยาวราว 9 เซนติเมตร ไม่มีอันตรายถึงชีวิต

เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก เข้ามาขวางการลอบสังหารได้พอดี
เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก เข้ามาขวางการลอบสังหารได้พอดี

เหตุการณ์ที่ว่านี้ แน่นอนว่าสร้างความตึงเครียดให้กับราชวงศ์ทั้งสองฝั่ง จักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินี ส่งโทรเลขแสดงความเสียใจถึงซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซารีนามาเรีย เฟโอโดรอฟน่า (บิดาและมารดาของนิโคลัส) ทรงออกหัตถเลขาพิเศษความว่าจะรีบตัดสินคดีและให้ความยุติธรรมกับราชวงศ์รัสเซียอย่างเร็วที่สุด

จักรพรรดิเมจิทรงเดินทางข้ามคืนเพื่อมาเยี่ยมซาเรวิชด้วยพระองค์เอง เพราะกลัวว่ารัสเซียจะถือเป็นเหตุในการก่อสงคราม เหตุการณ์ที่ว่านำไปสู่ความสับสน ประชาชนญี่ปุ่นร่วมกันส่งโทรเลขแสดงความเสียใจให้ซาเรวิชนิโคลัสมากกว่า 1 หมื่นฉบับ ทางยุโรปรู้สึกแปลกใจเพราในขณะที่กระแสต่อต้านราชวงศ์ปรากฏให้เห็นบ้างในยุโรป แต่ญี่ปุ่นดูจะเป็นสถานที่ปลอดภัยไม่น่าจะเกิดเหตุร้าย ชาวญี่ปุ่นเองก็รู้สึกอับอายกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะอาจทำให้ชาติตะวันตกมองพวกเขาเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ทำลายความพยายามมากมายที่จะพิสูจน์ตัวเองในฐานะชาติที่มีอารยะ

หลังข่าวแพร่ไป มีกระแสสังคมมากมายตั้งคำถามกับเรื่องที่เกิด บ้างก็ว่านายซันโซที่จริงแล้วเป็นคนรัสเซียที่เคยถูกเนรเทศไปหมู่เกาะซัคคารินหรือไซบีเรีย หรือถ้าเขาเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ ก็น่าจะได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มนักปฏิวัติรัสเซีย

อย่างไรก็ดีการสอบสวนออกมาไม่เป็นอย่างที่คาด นายซันโซกระทำการโดยลำพังและมีเหตุผลที่ค่อนข้างสับสน ตัวเขาไม่พอใจที่ซาเรวิชไม่ให้เกียรติราชวงศ์ญี่ปุ่น แทนที่จะไปถวายความเคารพจักรพรรดิเมจิก่อนแต่กลับเลือกออกมาเที่ยวเล่น ซ้ำยังแสดงท่าทีไม่เคารพต่อหลุมศพทหารญี่ปุ่นที่สละชีพเพื่อชาติ ซันโซมองว่าการกระทำของรัสเซีย เป็นการแสดงออกทางอ้อมว่าตัวเองเหนือกว่าญี่ปุ่น

นิโคลัส ขณะดำรงตำแหน่งซาเรวิช

ซันโซเล่าไปไกลถึงกรณีแย่งชิงเกาะซัคคาลินในปี 1875 บอกว่ารัสเซียเคลื่อนพลมาใกล้ญี่ปุ่นขึ้นทุกทีและการมาเยือนของนิโคลัสเป็นข้ออ้างในการนำเรือปืนเข้ามาประชิดเกาะญี่ปุ่น

ซันโซ ในตอนนั้นเป็นชายอายุ 36 ปี มาจากครอบครัวซามูไรและมีประวัติการทำงานดี เขาเข้าเป็นตำรวจหลังการปฏิรูปเมจิและถูกลงความเห็นโดยนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันว่าน่าจะมีปัญหาทางจิต และอาจรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่การปฏิรูปเมจิทำให้เขาต้องถูกลดสถานะความสำคัญลงกลายเป็นแค่ตำรวจธรรมดา อเล็กซานเดอร์ เมเชราคอฟ นักประวัติศาสตร์รัสเซียให้ความเห็นว่า ‘อาการป่วยของเขาทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจนอยากโจมตีชาวตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในญี่ปุ่น’

ส่วนคำพิพากษาคดีในตอนนั้น ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะกฎหมายญี่ปุ่นมีการบัญญัติโทษประหารชีวิตต่อใครก็ตามที่คิดทำร้ายสมาชิกในราชวงศ์ญี่ปุ่น (article 116) แต่เนื่องจากซาเรวิชเป็นราชนิกูลต่างชาติและเป็นแขกของราชวงศ์ ราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงเสนอให้ใช้การลงโทษแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ดีศาลสูงสุดของญี่ปุ่นในตอนนั้น (Supreme court) ไม่เห็นด้วย และตัดสินว่า เป็นแค่การพยายามฆ่าแต่ไม่ประสบผลและควรได้รับโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต – นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความเป็นอิสระของระบบยุติธรรมญี่ปุ่นนอกกรอบการเมือง

เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก ญาติผู้เข้ามาช่วยชีวิตซาเรวิชนิโคลัสได้รับเสียงยกย่องจากสื่อตะวันตกว่าเป็นฮีโร่ แม้แต่จักรพรรดิเมจิก็ได้กล่าวขอบคุณพระองค์ที่ช่วยประเทศญี่ปุ่นจากความอับอายขายหน้า อย่างไรก็ดี ราชวงศ์โรมานอฟกลับไม่ได้แสดงความขอบคุณต่อจอร์จ หรือแม้แต่ราชวงศ์ฝั่งกรีกของพระองค์ จอร์จถูกส่งตัวกลับบ้านทันทีไม่ได้เดินทางไปกับนิโคลัสต่อ แถมมีคำสั่งให้พระองค์เดินทางกลับในเส้นทางที่ไม่ผ่านแผ่นดินรัสเซีย ที่เป็นแบบนี้เพราะซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เชื่อว่าจอร์จเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการลอบสังหาร เพราะเขาชักชวนนิโคลัสให้ทำเรื่องเสื่อมเสีย พาไปกินเหล้า เที่ยวผู้หญิง ปฏิบัติตัวไม่สมควรจนสร้างความไม่พอใจให้ชาวญี่ปุ่น

เจ้าชายจอร์จ ถูกส่งกลับบ้านทันทีโดยไม่มีคำขอบคุณ
เจ้าชายจอร์จ ถูกส่งกลับบ้านทันทีโดยไม่มีคำขอบคุณ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาเรีย โบนาปาร์ต – พระชายาของเจ้าชายจอร์จกล่าวว่าไม่เป็นความจริง ทางรัสเซียสร้างโทรเลขปลอมเพื่อกล่าวโทษจอร์จต่อซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 หากเชื่อตามคำกล่าวของพระชายา เป็นไปได้ว่าการใส่ร้ายจอร์จอาจเป็นการแย่งความดีความชอบของบรรดาผู้ติดตามชาวรัสเซียที่ไม่ต้องการให้เจ้าชายต่างชาติได้หน้า นำไปสู่คำถามว่าในบรรดาผู้ติดตามมากมาย ทำไมมีแต่เจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์กที่เขามาขวางนักฆ่าไม่ให้เข้าถึงตัวซาเรวิช?

เราไม่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นความจริงมากแค่ไหน พฤติกรรมนอกลู่นอกทางเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กหนุ่มวัยนี้ที่ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวในแดนไกลเพราะสิ่งที่นำมักจะไม่ถูกนำไปพูดต่อ แม้เจ้าชายจอร์จจะไม่ได้รับคำขอบคุณจากพระเจ้าซาร์ แต่นิโคลัสกลับรู้สึกว่าจอร์จถูกไล่กลับบ้านอย่างไม่เป็นธรรมและรู้สึกติดค้างญาติคนนี้ไปตลอด

กลับมาที่การตัดสินคดีของฝ่ายญี่ปุ่น ราชสำนักรัสเซียไม่ได้ถือสามากนัก และไม่ได้ออกมาว่ากล่าวอะไรหลังนายซันโซรอดโทษประหาร หนังสือพิมพ์ Minichi Shimbun ออกมายกย่องราชวงศ์รัสเซียว่า ‘เราไม่มีอะไรจะพูดนอกจากยกย่องในความใจกว้างและท่าทีสงบเยือกเย็นของราชวงศ์รัสเซีย รัสเซียปล่อยให้กิจการในญี่ปุ่นดำเนินไปตามอำนาจภายใน แสดงให้เห็นว่ารัสเซียไว้ใจและให้เกียรติญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก หวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะดำเนินไปเช่นนี้อีกยาวยาน’

นิโคลัสนั่งรถลากที่ญี่ปุ่น
นิโคลัสนั่งรถลากที่ญี่ปุ่น

เป็นที่รู้กันว่าไม่น่าจากนั้นทั้งสองประเทศก็เข้าสู่สงคราม Russo-Japanese war ในปี 1904 มีบางทฤษฎีเชื่อว่าการพยายามลอบสังหารดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจเข้าสู่สงครามของนิโคลัสหลังขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์ แม้ว่าตัวนิโคลัสเองได้กล่าวตอบจักรพรรดิเมจิว่า ทรงไม่ได้ติดใจเอาความ และไม่ได้มีความคิดเห็นใดๆ ต่อพระจักรพรรดิมากไปกว่าความชื่นชม

หลังเหตุสะเทือนขวัญ นิโคลัสต้องลดจำนวนวันที่จะท่องเที่ยวในญี่ปุ่นตามความต้องการของบิดามารดา แม้สถานทูตญี่ปุ่นประจำเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจะกล่าวขอร้องให้ทรงเดินทางตามแผนเดิมโดยกล่าวว่า ‘ความเสียใจของชาวญี่ปุ่นคงหาที่สุดไม่ได้หากทรงยกเลิกการเดินทาง’ แต่นิโคลัสก็ไม่เคยกลับมาญี่ปุ่นอีก

ปัจจุบันเสื้อเปื้อนเลือดของนิโคลัสยังถูกเก็บไว้อย่างดี เลือดบนเสื้อตัวนี้ยังถูกใช้พิสูจน์ DNA เพื่อระบุตัวตนของพระองค์จากร่างที่พบหลังการปฎิวัติรัสเซีย เสียดายว่าคราบเลือดที่เหลืออยู่มีจำนวนน้อยไปจนไม่สามารถสรุปได้ 100% จึงมีการใช้ DNA จากศพของแกรนด์ดยุกจอร์จ น้องชายของนิโคลัสที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติมาประกอบ

เสื้อเปื้อนเลือดของซาร์นิโคลัสที่ 2
เสื้อเปื้อนเลือดของซาร์นิโคลัสที่ 2

ส่วนการพิสูจน์อัตลักษณ์ของซารีน่าอเล็กซานดร้า ได้ DNA จากเจ้าชายฟิลิปดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 มาเป็นตัวเปรียบเทียบ ฟิลิปและอเล็กซานดร้ามีความเกี่ยวข้องกันเพราะต่างสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงอลิซ ลูกสาวคนรองของควีนวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร โดยเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ -ยายของเจ้าชายฟิลิป เป็นลูกสาวคนโตของเจ้าหญิงอลิซ ในขณะที่ซารีน่าอเล็กซานดร้า เป็นลูกสาวคนสุดท้อง

References:

6 Russian leaders who survived daring assassination attempts 

Romanov remains identified using DNA

A tale of two princes

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like