เจ้าชายอัลเบิร์ตและควีนวิกตอเรีย ภาพจากซีรีย์ Victoria

ในวันที่เจ้าชายอัลเบิร์ตจากไป เกิดอะไรในราชสำนัก

ตำนานรักระหว่างควีนวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นเรื่องเล่าอมตะที่ถูกนำมาบอกเล่าหลายครั้งผ่านทั้งวรรณกรรมและสื่อร่วมสมัย ในขณะที่เรื่องราวในยุควิกตอเรีย ตั้งแต่ชุดแต่งงานไปจนถึงบรรดาลูกหลานราชินีสร้างสีสันมากมายให้ประวัติศาสตร์ การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ตในวัยเพียง 42 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่ทำให้ประวัติศาสตร์พลิกโฉมหน้าไปจากเดิม

14 ธันวาคม 1861 อาการป่วยของเจ้าชายอัลเบิร์ตทรุดลงอย่างต่อเนื่อง เจ้าชายไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือแม้แต่นอนหลับได้ เจ้าหญิงอลิซ – ลูกสาวคนรองของควีนวิกตอเรีย ผู้อยู่ดูแลอยู่ข้างเตียงพระบิดา ต้องรีบออกไปตามควีนวิกตอเรีย เจ้าหญิงเกรงว่าสเด็จพ่อจะอยู่ไม่พ้นคืนนี้ บรรดาเจ้าหญิงเจ้าชายที่มีพระชนมายุมากพอถูกเชิญตัวเข้ามา แต่ละพระองค์ผลัดกันกล่าวคำอำลาอย่างยากลำบาก เมื่อเวลาล่วงไปราว 4 ทุ่ม 45 เจ้าชายอัลเบิร์ตก็หมดลมหายใจ

ควีนวิกตอเรีย บัดนี้กลายเป็นหญิงม่าย เดินออกจากห้องแล้วร้องตะโกนสุดเสียง เสียงร้องที่ตามมาด้วยน้ำตากลายเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตเดียวดายหลังจากนี้

ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนเจ้าชายจะสิ้นใจ ควีนวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตมีโอรสธิดา 9 พระองค์ พระชนมายุในตอนนั้นมีตั้งแต่ 21 ปี จนถึง 4 ขวบ วิกกี้ - 21  เบอร์ตี้ - 20 อลิซ - 18  อัลเฟรด - 17 เฮเลน่า - 15 ลูอีส - 13  อาเธอร์ - 11  ลีโอพอล - 8 เบียทริซ - 4
ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนเจ้าชายจะสิ้นใจ ควีนวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตมีโอรสธิดา 9 พระองค์ พระชนมายุในตอนนั้นมีตั้งแต่ 21 ปี จนถึง 4 ขวบ วิกกี้ – 21  เบอร์ตี้ – 20 อลิซ – 18  อัลเฟรด – 17 เฮเลน่า – 15 ลูอีส – 13  อาเธอร์ – 11  ลีโอพอล – 8 เบียทริซ – 4

วิกตอเรียที่ปราศจากอัลเบิร์ต

ที่ฝังพระศพเจ้าชายอัลเบิร์ต
ที่ฝังพระศพเจ้าชายอัลเบิร์ต

“ชีวิตที่ปราศจากเขา ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชีวิต” ราชินีกล่าวไว้ในไดอารี่ แม้วิกตอเรียจะทำใจ กล่าวว่าอัลเบิร์ตนั้นดีเกินไปสำหรับโลกใบนี้ แต่ราชินีก็ยังใช้ชีวิตต่อไปโดยเชื่อสุดหัวใจว่าพระสวามียังอยู่ข้างกาย แม้จะไม่สามารถมองเห็นได้ก็ตาม ควีนวิกตอเรียมีรับสั่งให้เก็บห้องของอัลเบิร์ตไว้เหมือนพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพ เสื้อผ้าชุดใหม่ถูกจัดเตรียมไว้ให้เจ้าชายในทุกวัน โถใส่น้ำเย็นและน้ำร้อนสำหรับล้างหน้า ตามด้วยผ้าสะอาดถูกเปลี่ยนใหม่ตามเวลา

เมื่อลอร์ดคาเรนดอลเดินทางเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีที่ตำหนักออสบอร์นหนึ่งปีหลังเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ เขากล่าวถึงเหตุการณ์ที่พบเห็นว่า

“สมเด็จพระราชินีกล่าวถึงเจ้าชายเหมือนยังทรงมีชีวิตอยู่ ยังทรงกล่าวถึงพระองค์และอ้างถึงคำพูดหรือการกระทำของเจ้าชายคล้ายกับว่าพระองค์ยังใช้ชีวิตอยู่ในห้องข้างๆ และสามารถปรากฏตัวเข้ามาได้ตลอดเวลา ห้องของเจ้าชายอัลเบิร์ตยังถูกจัดเตรียมเหมือนในอดีต สมุด ปากกา ถูกวางเตรียมไว้บนโต๊ะ ผ้าเช็ดหน้าของพระองค์วางไว้บนโซฟา นาฬิกาทุกเรือนยังเดินบอกเวลาตามปกติ ดอกไม้ถูกเปลี่ยนใหม่ในทุกวัน”

คำกล่าวของลอร์ดคาเรนดอล ยืนยันชีวิตสมรส 22 ปีของราชินีได้อย่างน่าสนใจ เป็นที่ทราบกันว่าควีนวิกตอเรียพึ่งพาอัลเบิร์ตในทุกทาง พระองค์ไม่เคยตอบจดหมายราชการหากปราศจากคำแนะนำของเจ้าชาย กระทั่งเสื้อผ้าและหมวกคลุมผม ก็เป็นอัลเบิร์ตที่คอยจัดเตรียมให้ภรรยาอยู่เสมอ

เจ้าชายอัลเบิร์ตตอนยังหนุ่ม
เจ้าชายอัลเบิร์ตตอนยังหนุ่ม

“นักการเมืองที่เคยร่วมโต๊ะเสวยกับราชินีและเจ้าชายสังเกตได้ว่าก่อนควีนวิกตอเรียจะตรัสอะไร เจ้าชายอัลเบิร์ตจะเป็นพูดกระซิบข้างหูเป็นภาษาเยอรมัน พระองค์จะไม่ทำอะไรโดยไม่ได้ปรึกษาพระสวามีก่อน และนั่นไม่ได้จบแค่เรื่องการเมืองการปกครอง แต่ร่วมไปถึงเสื้อผ้าหน้าผม ทรงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรสวมหมวกใบไหนถ้าไม่ได้ฟังความคิดเห็นของเจ้าชาย” แคทเธอลีน ฮิวจ์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุควิกตอเรีย และเจ้าของผลงานหนังสือ The Victorian Governess กล่าว เธอสรุปสั้นๆว่า วิกตอเรียนั้น “เป็นผู้หญิงที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรแต่งตัวอย่างไรถ้าไม่มีอัลเบิร์ตอยู่ข้างๆ”

“ถ้าให้พูดถึงความรู้สึกของควินวิกตอเรียในตอนนั้น ฉันคิดว่านอกจากความเสียใจ พระองค์คงโกรธอยู่ลึกๆ อัลเบิร์ตจากไปโดยที่เธอไม่อนุญาต แล้วชีวิตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? ก็ในเมื่อผู้ชายคนเดียวที่เธอรักและเชื่อใจในทุกทางได้จากไปแล้ว” เดซี่ กูดวิน นักเขียนบทซีรีย์ดังเรื่อง Victoria กล่าว

ลูกๆ ที่ปราศจากพ่อ

ลูกสาวทั้ง 5 ของควีนวิกตอเรียในชุดไว้ทุกข์ จากซ้ายไปขวา - อลิซ, เฮเลน่า, เบียทริซ, วิกกี้, ลูอีส
ลูกสาวทั้ง 5 ของควีนวิกตอเรียในชุดไว้ทุกข์ จากซ้ายไปขวา – อลิซ, เฮเลน่า, เบียทริซ, วิกกี้, ลูอีส

ควีนวิกตอเรียแบ่งปันความเศร้าของพระองค์กับลูกสาวคนโตทั้งสอง วิกตอเรียเจ้าหญิงราชกุมารี หรือวิกกี้ แก้วตาดวงใจและลูกสาวคนโปรดของวิกตอเรียและอัลเบิร์ตในขณะนั้นสมรสเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทเยอรมันและไม่ได้เดินทางมาบอกลาพระบิดาในทันที วิกกี้เพิ่งคลอดลูกชาย ทำได้เพียงตอบจดหมายเพื่อปลอบใจพระมารดา พระองค์เดินทางมาร่วมงานศพพระบิดาหลังจากนั้น

เจ้าหญิงอลิซ – ลูกสาวคนรอง ใกล้จะเข้าพิธีแต่งงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เจ้าชายอัลเบิร์ตออกแบบเทียร่าเป็นของขวัญวันแต่งงานให้ลูกสาวไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ ควีนวิกตอเรียสวมเทียร่าองค์งามให้ลูกสาวทั้งน้ำตา ทรงประทับที่มุมห้องในงานแต่งโดยมีลูกชายสี่คนยืนเป็นฉากกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้แขกในงานมองเห็นน้ำตาของราชินี ควีนวิกตอเรียเขียนจดหมายไปหาลูกสาวคนโตในภายหลัง “อลิซที่น่าสงสาร วันแต่งงานของเธอเป็นเหมือนงานศพ”

เบอร์ตี้ ลูกชายที่ถูกกล่าวหา เป็นต้นเหตุการตายของพ่อ

เบอร์ตี้ ลูกชายที่ควีนผิดหวังเพราะโตมาไม่เหมือนพ่อ
เบอร์ตี้ ลูกชายที่ควีนผิดหวังเพราะโตมาไม่เหมือนพ่อ

แต่คนที่น่าสงสารที่สุดไม่ใช่อลิซ แต่เป็นเอ็ดเวิร์ด หรือ เบอร์ตี้ ลูกชายคนโตและรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษ ก่อนเจ้าชายอัลเบิร์ตจะล้มป่วยลงไม่นาน เจ้าชายเดินทางไปเยี่ยมเบอร์ตี้ที่เคมบริดจ์ พระองค์ทรงตกพระทัยเป็นอย่างมากที่พบว่าลูกชายคนโตวัย 19 กำลังมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับนักแสดงหญิง

“อันที่จริงความประพฤติของเจ้าชายเบอร์ตี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ลูกผู้ดีหลายคนใช้ชีวิตเสเพลก่อนแต่งงาน ส่วนมากมีประสบการณ์ครั้งแรกกับนักแสดงหรือแม้แต่หญิงขายบริการ แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตรับการกระทำนี้ไม่ได้ ทรงทำเหมือนโลกทั้งใบแตกสลายเมื่อพบว่าลูกชายมีสัมพันธ์ก่อนสมรส” แคทเธอลีน ฮิวจ์ กล่าว

เจ้าชายอัลเบิร์ตเขียนจดหมายต่อว่าลูกชาย กล่าวว่าการกระทำของเขาสร้างความเจ็บช้ำที่สุดในชีวิตของพระองค์ เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นผู้เคร่งครัดในศีลธรรมจรรยา ทรงต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์นอกชีวิตสมรส เป็นไปได้ว่าประสบการณ์ครั้งแรกของเจ้าชายเกิดขึ้นในคืนแต่งงาน ดังนั้นจึงกลัวว่าลูกชายจะเสียคนหากประพฤติตนนอกลู่นอกทาง

เบอร์ตี้ที่น่าสงสารสร้างความผิดหวังให้พ่อแม่ตั้งแต่จำความได้ ควีนวิกตอเรียมักเปรียบเทียบลูกชายกับพี่สาว (เจ้าหญิงวิกกี้) ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็เป็นเลิศไปเสียทุกทาง เบอร์ตี้เป็นเด็กสมาธิสั้น อยู่ไม่สุข และมักถูกติติงจากครูผู้สอนว่ามีกริยามารยาทไม่เรียบร้อย ผลการเรียนย้ำแย่ ควีนวิกตอเรียร้ายกาจกับลูกชายไม่แพ้กัน ทรงคาดหวังให้ลูกชายโตมาเป็นอัลเบิร์ตคนที่สอง แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะนอกจากลักษณะนิสัยจะแตกต่าง ยังทรงมีหน้าตาที่ออกไปทางควีนวิกตอเรียมากกว่า ทรงกล่าวว่าเบอร์ตี้นั้นหน้าตาไม่ดีแถมตาโปน ซึ่งอันที่จริงดวงตาที่ทรงบอกว่าไม่งามนั้น เป็นดวงตาแบบเดียวกันกับพระองค์

อันที่จริงเบอร์ตี้หน้าตาออกไปทางควีนวิกตอเรียมากกว่า โดยเฉพาะดวงตา
อันที่จริงเบอร์ตี้หน้าตาออกไปทางควีนวิกตอเรียมากกว่า โดยเฉพาะดวงตา

ควีนวิกตอเรียถึงขั้นกล่าวถึงลูกชายในวัย 18 เดือนว่า “ฉันยังไม่คิดว่าเขาคู่ควรจะใช้ชื่ออัลเบิร์ต” (แม้ว่าเจ้าชายจะใช้ชื่อตอนรับศิลจุ่มว่า อัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ก็ตาม) เจ้าชายจะเป็นที่รู้จักในหมู่ญาติว่า เบอร์ตี้ และเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ก็ทรงเลือกใช้ชื่อว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แม้ควีนวิกตอเรียจะหวังใจให้ลูกชายใช้ชื่อตอนขึ้นครองราชย์ว่า “พระเจ้าอัลเบิร์ต” ก็ตาม

หลังจากผิดใจกับลูกชาย เจ้าชายอัลเบิร์ตเดินทางไปพบเบอร์ตี้อีกครั้งเพื่อเปิดอกพูดคุย พ่อลูกออกไปเดินเล่นด้วยกัน แต่ปรากฏว่าฝนตกหนักมากจนทั้งคู่เปียกโชก อัลเบิร์ตเดินทางกลับลอนดอนคืนนั้นพร้อมอาการป่วย 19 วันต่อมา เจ้าชายก็สิ้นพระชนม์ ทำให้ควีนวิกตอเรียกล่าวโทษลูกชายมาตลอด บอกว่าเขาเป็นต้นเหตุทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ตใจสลายและป่วยหนักกระทั่งสิ้นใจ

อัลเบิร์ต เจ้าชายผู้พระชนม์สั้น หรือนั่นจะมาจากปัญหาสุขภาพ

สาเหตุการตายของเจ้าชาย จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าเจ้าชายอาจป่วยเป็นไทฟอย แต่ผลการศึกษาในยุคหลังแย้งว่าอาจทรงป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในตอนนั้น

เจ้าชายอัลเบิร์ตมีสุขภาพไม่แข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก ทรงป่วยง่ายและหายช้ากว่าคนอื่น ทรงไม่สามารถเล่นกีฬาได้นานเพราะมักมีอาการเหนื่อยและหน้าซีด บารอนสต็อกมาร์ ผู้ดูแลและที่ปรึกษาของเจ้าชายสมัยอาศัยที่เยอรมัน กล่าวว่าอัลเบิร์ตนั้นไม่ใช่เด็กที่แข็งแรง เขากล่าวว่า “ถ้าเจ้าชายป่วย แม้แต่ด้วยอาการไข้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นไปได้ว่าอาจทรงสิ้นพระชนม์”

ควีนวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตในปี 1854
ควีนวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตในปี 1854

หลังสมรสและย้ายมาใช้ชีวิตที่อังกฤษ ควีนวิกตอเรียเป็นคนขี้ร้อนและชอบให้หน้าต่างในวังเปิดกว้างอยู่ตลอดเวลา ผู้รับใช้ของอัลเบิร์ตกล่าวว่าเจ้าชายสวมเสื้อผ้าหนามากแม้จะอยู่ในอาคาร พระองค์สวมเสื้อโค้ทขนสัตว์ และสวมวิกผมเพื่อปกป้องศีรษะที่เริ่มล้านของพระองค์ให้อบอุ่นอยู่เสมอ

ควีนวิกตอเรียเคยบันทึกถึงสุขภาพของพระสวามีว่า “เมื่อใดที่อัลเบิร์ตมีเรื่องกังวงใจ เขาจะปวดท้องอยู่เสมอ” เจ้าชายมักกล่าวว่าทรงมีกระเพาะที่อ่อนแอ และคงต้องตายไปพร้อมกับมัน แม้จะเป็นอย่างนั้น แต่เจ้าชายก็ไม่ใช่คนใส่ใจสุขภาพ พระองค์ตื่นเช้ามาก รับประทานอาหารไว ทำให้เกิดอาการท้องอืดอยู่เสมอ พระองค์เป็นเพอร์เฟคชั่นนิสที่ชอบทำงาน แม้ผู้ใกล้ชิดพระองค์รวมไปถึงราชินีรู้สึกได้ว่าอัลเบิร์ตดูแก่กว่าวัย และขยับตัวช้าเหมือนคนชรา

ในปี 1853 ทรงป่วยเป็นโรคหัดซึ่งติดมาจากหนึ่งในบรรดาลูกๆ ปรากฎว่าเจ้าชายฟื้นตัวช้ามาก ต้องนอนพักหลายสัปดาห์ หลังจากนั้นเจ้าชายอัลเบิร์ตมีอาการป่วยอีกหลายครั้ง มีทั้งอาการปวดท้อง และท้องร่วง สภาพร่างกายที่เลวร้ายลงทำให้พระองค์มีอาการซีมเศร้าเพราะไม่สามารถทำงานได้เท่าเดิม ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เจ้าชายเล่นใหญ่เมื่อเห็นเบอร์ตี้ทำตัวผิดจากที่คาดหวัง

เป็นไปได้ว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตอาจป่วยไข้จากอาการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ซึ่งอาจตามมาด้วยอาการแทรกซ้อนอื่นๆ จนอันตรายถึงชีวิต อาการป่วยที่ว่ามีสาเหตุยาวนานจากระบบสุขภาพและการใช้ชีวิตของพระองค์ มากกว่าการเดินตากฝนแค่วันเดียว

References:

In Mourning for Prince Albert: Elisabeth Darby and Nicola Smith look at the impact of the death of Victoria’s consort

What killed Prince Albert?

Queen Victoria’s Reaction To Prince Albert’s Death

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like