ราชำนักเบลเยียมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่กษัตริย์ยุโรปมีบทบาทโดยตรงกับสงคราม

เมื่อไหร่กันที่กษัตริย์เลิกนำทัพต่อสู้ในสนามรบ?

ใครเป็นแฟนหนังอัศวินย้อนยุคอาจติดภาพกษัตริย์ยุโรปยุคกลางแต่งชุดเกราะสวยสง่า กวัดแกว่งดาบเพื่อฟาดฟันศัตรู ทุกวันนี้บทบาทกษัตริย์ในฐานะผู้นำทัพไม่ได้ถูกปฏิบัติกันให้เห็น อันที่จริง ผู้นำรัฐสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ ก็ไม่ได้มีหน้าที่นำกองทัพเหมือนเมื่อก่อน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมผู้นำประเทศถึงบอกลา เลิกจับอาวุธมุ่งสู่แนวหน้าเหมือนในยุคกลาง?

คำตอบนี้เริ่มจากหน้าที่ของกษัตริย์และความคาดหวังของประชาชน ในยุคกลางหน้าที่ในการนำสงครามถือเป็นงานของชนชั้นสูง ขุนนางยุโรปมักส่งลูกหลานรับหน้าที่เป็นอัศวินเพื่อรับใช้กษัตริย์ ในทางเดียวกัน กษัตริย์และรัชทายาทจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถเหนือกว่าทุกคน คุณสมบัติของบุรุษในยุคกลางคือความกล้าหาญและผลงานจากการรบ เห็นได้จากเครื่องเครื่องราชอิสริยยศและเกียรติยศต่างๆ มักถูกริเริ่มก่อตั้งเพื่อมอบให้ผู้ทำผลงานดีเด่นด้านการทหาร มากกว่าความสามารถในด้านอื่นๆ (ภายหลังจึงมีการตีความใหม่ว่าผู้ทำคุณแก่ประเทศไม่จำเป็นต้องมีแค่ความกล้าหาญ อาจเป็นความรู้ด้านวิชาการ ความสำเร็จทางการทูต การอุทิศตน ไปจนถึงการทำชื่อเสียงให้ประเทศ ฯลฯ)

การออกรบของกษัตริย์ในยุคก่อนเป็นเรื่องของเกียรติและศักดิ์ศรี เห็นได้จากแนวคิดของการร่วมศึกในยุคกลางที่มักมีชุดเกราะสวยงามเด่นชัดเพื่อบ่งบอกสถานะของบุคคลที่อยู่ตรงหน้า

เจ้าชายนักรบ เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าของฉายา “เจ้าชายสีดำ”

เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลล์เจ้าของฉายาเจ้าชายสีดำ (1330-1376) เจ้าชายองค์นี้ทรงเป็นที่จดจำในฐานะ “วีรบุรุษ” ของชาวอังกฤษ แต่เป็น “วายร้าย” สำหรับชาวฝรั่งเศส เอ็ดเวิร์ดสิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดา ทำให้พลาดโอกาสไม่ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์
เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ “วีรบุรุษ” ของชาวอังกฤษ แต่เป็น “วายร้าย” สำหรับชาวฝรั่งเศส

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือเจ้าชายผู้โด่งดังจากการทำศึก – เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าของฉายา “เจ้าชายสีดำ” (The Black Prince) ทรงออกรบในชุดเกราะสีดำ ประดับตราประจำพระองค์เจ้าชายแห่งเวลส์ที่เป็นรูปขนนกสีขาวสามอันบนพื้นหลังสีดำ (ตราขนนกสีขาวบนพื้นหลังสีดำที่ว่านี้ เป็นตราที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงคิดค้นขึ้น ขนนกสามอันและคำขวัญ “Ich dien” – “I serve” กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์และคำขวัญของเจ้าชายแห่งเวลส์ทุกพระองค์จนถึงปัจจุบัน) พระองค์ยังสวมเสื้อคลุมทับชุดเกราะที่มีการประดับตราประจำตัวเจ้าชายอังกฤษที่มีสีสันสวยงาม ทั้งหมดนี้เพื่อบอกกับกองทหารว่าพระองค์เป็นใครและกำลังทำอะไร การกระทำของเจ้าชายได้ผลเรื่องกำลังใจเพราะทหารจะได้รู้สึกว่าเจ้าชายของพวกเขายังคงรวมรบอยู่ในสนาม ตรงกับบทกวีในศตวรรษที่ 15 ที่ เปรียบเทียบความสำคัญของผู้นำในสนามรบว่า “ผู้นำเปรียบเสมือนเปลวไฟในแสงเทียน และทหารกล้าคือผู้เดินตามแสงเทียนในยามราตรี”

แต่ก็ใช่ว่าผู้นำทุกคนจะนำทัพต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทหาร อันที่จริงผู้มีศักดิ์สูงเป็นถึงกษัตริย์มักทำหน้าที่บัญชาการทัพอยู่บนที่สูง ส่วนหนึ่งเพื่อได้เห็นการต่อสู้ได้ชัด อีกส่วนเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย ไม่ให้กษัตริย์ถูกจับหรือฆ่าไวจนเกินควร

รบจนตัวตาย ค่านิยมราชวงศ์สจวตที่ทำให้บัลลังก์สกอตแลนด์ปราศจากกษัตริย์

เจมส์ที่ 4 (1473-1513) กษัตริย์สกอตแลนด์คนสุดท้ายที่ถูกฆ่าในสนามรบ ระหว่างนำทัพจู่โจมอังกฤษ ทรงเป็นกษัตริย์ร่วมสมัยกับเฮนรี่ที่ 8 และตั้งใจนำทัพบุกโจมตีในช่วงที่เฮนรี่เปิดศึกกับฝรั่งเศส
พระเจ้าเจมส์ที่ 4 กษัตริย์สกอตแลนด์คนสุดท้ายที่ถูกฆ่าในสนามรบ

อย่างไรก็ดี กษัตริย์บางพระองค์ถือว่าการพลีชีพในสนามรบถือเป็นเกียรติสูงกว่า ยกตัวอย่างเช่นกษัตริย์จากราชวงศ์สจวตของสกอตแลนด์มีแนวคิดในการสู้จนตัวตายส่งผลให้กษัติย์ของชาวสก็อตต้องสละชีพในสนามรบติดๆ กันถึงสามรุ่น (คือพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระเจ้าเจมส์ที่ 3 และพระเจ้าเจมส์ที่ 4) ส่วนพระเจ้าเจมส์ที่ 5 ก็เกือบตายจากการรบแต่มาป่วยและสวรรคตหลังจากนั้นไม่นานอาจเพราะตรอมใจหรือติดไข้มาจากสงคราม การตายติดๆ กันของกษัตริย์ แน่นอนว่าสร้างความปั่นป่วนให้ราชสำนักเป็นอย่างมาก เนื่องจากตอนเจมส์ที่ 4 ถูกสังหาร ลูกชายคนเดียวของพระองค์คือพระเจ้าเจมส์ที่ 5 เพิ่งมีอายุแค่ 17 เดือน ส่วนในขณะที่เจมส์ที่ 5 ถูกสังหาร ลูกสาวคนเดียวของพระองค์ – แมรี่ ราชินีแห่งสก็อต เพิ่งมีอายุแค่ 6 วันเท่านั้นเอง

แต่การตายในสนามรบก็ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหา เพราะบรรดากษัตริย์ยังคงนำทัพต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 18 ประเพณีนี้เพิ่งมาเสื่อมความนิยมไปในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 หลักๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงระบบกองทัพซึ่งเป็นหนึ่งในผลกระทบจากความเสียหายในสงคราม 30 ปี สงครามในครั้งนี้กินพื้นที่เกือบทั้งยุโรปและมีตัวละครหลักๆ ผลัดกันตบเท้าเข้าสู่สงครามแทบจะครบทุกประเทศ หลังจบสงครามมีการก่อตั้งโรงเรียนฝึกสอนทหารอาชีพ ส่งเสริมให้วิชาชีพทหารเป็นงานที่ต้องทำอย่างเต็มเวลาและมีแบบแผน ไม่ใช่ลูกขุนนางที่จับดาบออกศึกแค่บางครั้งคราว

ไม่ใช่หน้าที่ เมื่อประชนไม่ต้องการเห็นกษัตริย์อยู่ในสนามรบ

อีกหนึงจุดเปลี่ยนสำคัญคือสถานะของกษัตริย์ในยุคหลัง มีความมั่นคงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอังกฤษ ผู้ที่สามารถครองตำแหน่งกษัตริย์จะต้องได้รับการยอมรับจากสภา ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อได้มาเหมือนในอดีต กษัตริย์อังกฤษคนสุดท้ายที่นำทัพออกรบ คือพระเจ้าจอร์จที่ 2 กษัตริย์คนที่สองของราชวงศ์ฮาโนเวอร์ที่นำทัพสนับสนุนฝ่ายของมาเรีย เทเรซาในสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย พระเจ้าจอร์จที่ 2 ขณะนำทัพออกศึกมีอายุมากถึง 60 ปี พระองค์ทำการต่อสู้ในยุทธการที่ Dettingen ซึ่งเป็นการทะปะกันของกองทัพฝรั่งเศสนำโดยดยุกแห่ง Noailles ส่วนฝั่งอังกฤษเป็นกองทัพผสมระหว่างอังกฤษ ฮาโนเวอร์ และออสเตรีย นำโดยพระเจ้าจอร์จที่ 2 (ถือเป็นโชคดีที่ยุทธการครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ ไม่อย่างนั้นพระเจ้าจอร์จที่ 2 อาจตกเป็นนักโทษของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15)

แม้การนำทัพจนชนะศึกของจอร์จที่ 2 จะถือเป็นเกียรติยศของพระองค์ น่าสนใจว่าประชาชนคนอังกฤษกลับไม่ได้ชื่นชมการกระทำของกษัตริย์มากเท่าไหร่เพราะมองว่ากษัตริย์อังกฤษควรอยู่บ้านดูแลเรื่องของประเทศจะดีกว่า แถมชัยชนะในยุโรปก็ส่งผลต่อชีวิตพวกเขาน้อยมากจนไม่รู้ว่าจะภูมิใจไปเพื่ออะไร (แม้ว่าการนำทัพออกรบของจอร์จที่ 2 จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก็ตาม สภาอังกฤษในตอนนั้นเห็นว่าหากมาเรีย เทเรซาไม่ได้ครองบัลลังก์ออสเตรียต่อ ดุลอำนาจในยุโรปก็จะตกอยู่กับฝั่งฝรั่งเศส)

กษัตริย์อังกฤษคนสุดท้ายที่นำทัพเข้าสนามรบและได้ทำการต่อสู้จริงคือจอร์จที่ 2 (1683-1760)
กษัตริย์อังกฤษคนสุดท้ายที่นำทัพเข้าสนามรบและได้ทำการต่อสู้จริงคือจอร์จที่ 2 (1683-1760)
จอร์จที่ 2 ขณะนำทัพในสมรภูมิ Dettingen วันที่ 27 มิถุนายน 1743
จอร์จที่ 2 ขณะนำทัพในสมรภูมิ Dettingen วันที่ 27 มิถุนายน 1743

เหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความคาดหวังของกษัตริย์ไม่ได้เป็นเหมือนในอดีต ไม่มีความจำเป็นที่พระองค์จะต้องนำทัพเพื่อพิสูจน์ความกล้าหาญ ดังนั้นในสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แม้จะมีสงครามใหญ่อย่างสงครามนโปเลียน พระองค์ก็ไม่ได้นำทัพออกรบแต่กลับยกกองทัพจำนวนมากให้อยู่ใต้ความดูแลของดยุกแห่งเวลลิงตันผู้เคยมีประสบการณ์รบในสงครามมาก่อน การยกกองทัพขนาดใหญ่ให้อยู่ในความดูแลของบุคคลอื่นยังเป็นเครื่องยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์มั่นคงและได้รับการเคารพจนการมอบกำลังทหารให้ ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงอีกต่อไป ต่างจากในยุคกลางที่กษัตริย์มักทำกองทัพใหญ่ด้วยตัวเองเพรากลัวว่าขุนศึกคู่บัลลังก์จะทำการแข็งข้อ แอบนำทัพบุกกกลับมาตีแบบที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์

อาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งเวลลิงตัน ได้นำทัพอังกฤษแทนพระเจ่าจอร์จที่ 3 ในสงครามนโปเลียน
อาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งเวลลิงตัน ได้นำทัพอังกฤษแทนพระเจ่าจอร์จที่ 3 ในสงครามนโปเลียน

อัลเบิร์ตที่ 1 แห่งเบลเยียม กษัตริย์คนสุดท้ายที่กรำศึกในสนามรบ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือสงครามในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมามีความซับซ้อนมากขึ้น มีการใช้ยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์ที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงไว แถมแนวรบในแต่ละสงครามก็กระจายวงกว้าง บางพื้นที่มีภูมิประเทศที่ต่างกันเป็นเอกลักษณ์ จำเป็นต้องใช้ผู้นำทัพที่มีความรู้เฉพาะทาง ยกตัวอย่างเช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ของอังกฤษ หรือแม้แต่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ของเยอรมัน ก็มอบบทบาทสำคัญให้นายทหารอาชีพ ส่วนตัวกษัตริย์อยู่ในฐานะสัญลักษณ์เสียมากกว่า กษัตริย์ยุโรปคนสุดท้ายที่เคยออกรบเสี่ยงตายในสนามรบจริง น่าจะเป็นกษัตริย์อัลเบิร์ตที่ 1 แห่งเบลเยียม

กษัตริย์อัลเบิร์ตที่ 1 แห่งเบลเยียม นำการรบเองในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1914-1918
กษัตริย์อัลเบิร์ตที่ 1 แห่งเบลเยียม นำการรบเองในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1914-1918

อัลเบิร์ตเป็นกษัตรย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ปฏิเสธไม่ยอมให้เยอรมันเดินทัพผ่าน ต่อมาเยอรมันตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกตีเบลเยียม อัลเบิร์ตในฐานะกษัตริย์มีสถานะเป็นผู้นำทัพตามรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์กลับออกไปสู้จริง พระองค์นำกองทัพทหารเบลเยี่ยม 2 แสนคน ต่อต้านการโจมตีของเยอรมัน ซึ่งปรากฎว่าพระองค์ทำได้ดี ชะลอการเคลื่อนทัพของเยอรมันไปได้หลายวันกระทั่งฝรั่งเศสมีเวลามากพอที่จะเตรียมการ

ตลอดสงครามนาน 4 ปี เบลเยี่ยมถูกยึดครองไม่น้อยกว่า 90% แต่อัลเบิร์ตก็ไม่หนีไปไหน พระองค์อยู่บัญชาทัพในแนวหน้าจนถึงวันสุดท้ายของสงคราม ซึ่งนั่นทำให้พระองค์เป็นที่ยกย่องในหมู่ชาวเบลเยียมว่าเป็นวีรบุรุษ สถานการณ์ของเบลเยียมอาจต่างจากอังกฤษหรือเยอรมันเพราะแนวรบส่วนใหญ่เกิดในบ้านตัวเอง อย่างไรก็ดีการที่กษัตริย์อัลเบิร์ตไม่ยอมลี้ภัย ทำให้พระองค์ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก เรื่องนี้อาจบอกให้เรารู้ว่า แม้ปัจจุบันสถาบันกษตริย์จะไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ได้ดีทุกอย่าง แต่การวางตนให้เป็นแบบอย่างในช่วงเวลาคับขัน ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันในฐานะเสาหลักของประเทศ

References:

Battle of Flodden: When kings were killed in battle

George II: The Last British Monarch To Lead His Troops In Battle

Why Did Kings Stop Leading Troops into Battle? 

Royal Fighters: 7 Kings Who Led their Armies into Battle

A Stitch in Time S01E05 The Black Prince

The First Soldier of Belgium – King Albert I I WHO DID WHAT IN WW1?

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like