ในวันที่ 18 มกราคม 1486 เฮนรี่ ทิวเดอร์ หรือพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งอังกฤษ เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก ลูกสาวคนโตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พิธีจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ 5 เดือนหลังจากที่เฮนรี่สามารถเอาชนะกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และปราบดาภิเษกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ อันที่จริงเฮนรี่ให้สัญญาจะแต่งงานกับเอลิซาเบธตั้งแต่เมื่อ 2 ปี ก่อน ตอนพระองค์ยังถูกเนรเทศอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่เหตุที่งานแต่งต้องมีอันล่าช้าไปถึง 5 เดือน เป็นเพราะทรงต้องการให้มีการตั้งรัฐสภาขึ้นก่อน และต้องการให้การสมรสนี้ได้รับการเห็นชอบจากสภา
แม้ว่ารายละเอียดงานแต่งของทั้งสองจะไม่เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน แต่การสมรสระหว่างเจ้าหญิงจากสายตระกูลยอร์กและชายหนุ่มผู้สืบทอดสายเลือดจากตระกูลแลงคาสเตอร์ เป็นเหมือนเทพนิยายกลายเป็นจริง เฮนรี่ที่ 7 ในวัย 29 ปี เป็นหนุ่มรูปงามร่างสูง ทรงมีเส้นผมสีดำสนิทและเพิ่งคว้าชัยจากสนามรบ ส่วนเอลิซาเบธในวัย 20 ได้รับคำบรรยายว่าเป็นหญิงงามแบบอังกฤษแท้ (English Rose) ทรงมีเส้นผมสีทอง ดวงตาสีฟ้า ผิวพรรณผุดผ่องชวนมอง การสมรสของทั้งสองกลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาเพื่อกล่าวว่ายุคแห่งสงครามได้จบลงแล้ว และเมื่อกุหลาบสีแดง (สัญลักษณ์ของตระกูลแลงคาสเตอร์) ได้รวมกับ กุหลาบสีขาว (สัญลักษณ์ของตระกูลยอร์ก) ยุคสมัยอันรุ่งเรืองและมั่งคังจะงอกงามภายใต้กลีบของดอกกุหลาบทิวเดอร์ (ดอกกุหลายสีแดงและขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ทิวเดอร์)
เฮนรี่ที่ 7 เป็นใคร มีสิทธิ์อะไรในการครองบัลลังก์อังกฤษ
ว่ากันตามตรง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แทบไม่มีสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์ ตระกูลทิวเดอร์ของพระองค์สืบเชื้อสายมาจาก โอเวน ทิวเดอร์ ข้าราชบริพารเชื้อสายเวลส์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสายเลือดกษัตริย์ โอเวน ทิวเดอร์ แต่งงานลับๆ กับพระนางแคทเธอรีนแห่งวาลัว ราชินีม่ายของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 แห่งอังกฤษ เอ็ดมัน ทิวเดอร์ เอิร์ลแห่งริชมอน บุตรชายของทั้งสองและพ่อแท้ๆ ของเฮนรี่ที่ 7 แม้จะถูกมองว่าเป็นพี่ชายต่างบิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 แต่เนื่องจากพระนางแคทเธอรีนไม่ใช่ชาวอังกฤษ สิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์จึงไม่อาจแบ่งให้ลูกชายจากการแต่งงานครั้งใหม่
เฮนรี่ ทิวเดอร์ อ้างสิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์อังกฤษผ่านทางมารดา คือ มาร์กาเรต โบฟอร์ต มาร์กาเรตนั้นสืบทอดสายเลือดมาจากจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงคาสเตอร์ ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และบิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 อย่างไรก็ดีจอห์น โบฟอร์ต บุตรชายของจอห์นแห่งกอนต์และต้นตระกูลของมาร์กาเรตนั้นเคยเป็นบุตรนอกสมรสมาก่อน จอห์นแห่งกอนต์มีความสัมพันธ์ยาวนานกับแคทเธอรีน สวินฟอร์ด นางกำนัลต่างฐานันดรที่ไม่ได้รับการยอมรับ และแม้ว่าทั้งคู่จะสมรสกันในท้ายสุด (หลังจอห์นแห่งกอนต์เสียภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายไปสองคน คือพระนางบลานซแห่งแลงคาสเตอร์ – พระมารดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 และพระนางกอนส์ตันซาแห่งกัสติยา) การสมรสของทั้งสอง ทำให้บุตรที่เคยได้ชื่อว่า “นอกสมรส” กลายเป็นผู้สืบทอดที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในปีที่ทั้งสองแต่งงานมีเอกสารยืนยันว่าทายาทของทั้งคู่สามารถสืบทอด “ที่ดินและบรรดาศักดิ์” คำว่า “บรรดาศักดิ์” ในที่นี้ได้รับการถกเถียงยาวนานว่าหมายถึงสิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์ด้วยหรือไม่? เพราะมีข้อกำหนดไว้อีกว่า กษัตริย์และราชินีแห่งอังกฤษ จะต้องถือกำเนิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (born legitimate) ไม่สามารถแต่งตั้งได้ในภายหลัง (not made legitimate) ถ้าว่ากันตามกฎสืบทอดบัลลังก์ ตระกูลโบฟอร์ตอาจมีสิทธิ์ในการสืบทอดตำแหน่ง เอิร์ล, ดยุก ฯลฯ แต่ไมีมีสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์กษัตริย์ ถึงอย่างนั้นเฮนรี่ที่ 7 ก็ใช้สิทธิ์แห่งการพิชิต (right of conquest) เพื่อตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้อยู่ดี และทรงอ้างสิทธิ์การส่งทอดบัลลังก์ผ่านการแต่งงานกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก ผู้เป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายของสายการสืบราชบัลลังก์
เอลิซาเบธแห่งยอร์ก ราชินีกุหลาบขาว
เอลิซาเบธแห่งยอร์ก เป็นลูกสาวคนโตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และ เอลิซาเบธ วูดวิลล์ อดีตภรรยาม่ายของขุนนางชั้นผู้น้อย การแต่งงานของทั้งสองเป็นไปด้วยความรักแต่ไม่ได้ผลลัพธ์ทางการเมืองทำให้ในระหว่างการครองราชย์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เกิดการก่อกบฎขึ้นหลายครั้ง เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5) ลูกชายคนโตของทั้งสองและน้องชายของเอลิซาเบธแห่งยอร์กเพิ่งมีอายุเพียง 13 ปี พระองค์และพระอนุชา (เจ้าชายริชาร์ด) ถูกจับกุมและคุมขังในหอคอยแห่งลอนดอนโดยเจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ ผู้มีศักดิ์เป็นสมเด็จอาและต่อมาตั้งตัวเองขึ้นเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (เจ้าชายทั้งสองหายสาบสูญและสันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิต) แน่นอนว่าเอลิซาเบธ วูดวิลล์ อดีตราชินีไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พระนางได้สมคบคิดกับมาร์กาเรต โบฟอร์ต เพื่อสนับสนุนเฮนรี่ ทิวดอร์ เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ภายใต้ข้อสัญญาว่าลูกของทั้งคู่ (หมายถึงเอลิซาเบธแห่งยอร์กและเฮนรี่ ทิวเดอร์) จะต้องสมรสกัน
ชีวิตสมรสของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 และเอลิซาเบธแห่งยอร์กแม้จะเป็นไปด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่พัฒนากลายเป็นความรัก ทรงมีโอรส/ธิดา (ที่รอดชีวิตถึงวัยผู้ใหญ่) ด้วยกัน 4 พระองค์ คือเจ้าชายอาเธอร์ (สิ้นพระชนม์ตอนอายุ 15) เจ้าหญิงมาร์กาเรต (ราชินีแห่งสก็อตแลนด์) เจ้าชายเฮนรี่ (ต่อมาคือพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ) และเจ้าหญิงแมรี่ (ราชินีแห่งฝรั่งเศส)
ดอกกุหลาบทิวเดอร์ การโปรโมทราชวงศ์ใหม่ผ่านการใช้ตราสัญลักษณ์
ตลอดรัชสมัยของเฮนรี่ที่ 7 ทรงทำงานอย่างหนักเพื่อก่อตั้งรากฐานของราชวงศ์ผ่านนโยบายการคลัง การปกครอง และการโฆษณา ตรากุหลาบทิวเดอร์ ถูกใช้อย่างแพร่หลายบนสถาปัตยกรรม งานเขียน แม้กระทั่งบนเหรียญเงิน (ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่พิมพ์เหรียญโดยใช้ภาพของตัวเองนั่งบนบัลลังก์พร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์พร้อมสรรพ ด้านหลังของเหรียญประทับตราราชวงศ์อังกฤษและกุหลาบทิวเดอร์) ทรงใช้จ่ายมากมายเพื่อสร้างเครือข่ายสายลับทั่วราชอาณาจักร และทรงเปลี่ยนเจ้าชายอาเธอร์ – ลูกชายคนโต ให้เป็นเครื่องมือโฆษณาชั้นดี นอกจากพระองค์จะเป็นกุหลาบทิวเดอร์ที่แท้ (เพราะเป็นสายเลือดของสองกุหลาบ) ยังมีคำสัญญาว่ายุคสมัยของเจ้าชายจะยิ่งใหญ่เทียบเท่ากษัตริย์อาเธอร์แห่งคาเมล็อต
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 เป็นนักวางแผนอย่างแท้จริง ทรงใช้นโยบายและกฎหมายริบทรัพย์เพื่อข่มขู่ขุนนาง ว่ากันว่าสมัยของพระองค์นั้นให้ค่ากับนักบัญชีและหมอความมากกว่าอัศวินนักรบและขุนนางตระกูลสูง ในวันที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 สิ้นพระชนม์ ขุนนางหลายคนถึงกับถอนหายใจ รัชสมัยที่เยือกเย็นดุจน้ำแข็งได้ผ่านไป และรัชสมัยที่รุ่งเรืองภายใต้การปกครองของกษัตริย์หนุ่มนามว่าเฮนรี่กำลังจะมาถึง
“ก่อนหน้านี้อังกฤษวุ่นวายจากการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์มาหลายสมัย ในตอนนี้เหลือเพียงสายเลือดที่ถูกต้องของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 กับราชินีเอลิซาเบธเท่านั้น ไม่เหลือสายเลือดใดกล้าอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์อีกต่อไป”
ราชทูตสเปนบันทึกไว้เช่นนี้ เฮนรี่ที่ 7 อาจเป็นกษัตริย์เจ้าแผนการที่ใช้ทั้งอำนาจและความกลัวในการปกครอง แต่สิ่งที่พระองค์ทำสำเร็จ คือทรงสามารถส่งผ่านราชบัลลังก์ให้ลูกชายได้อย่างปลอดภัย ทรงเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ที่โด่งดังและฉาวโฉ่ที่สุดของอังกฤษ “ราชวงศ์ทิวเดอร์”
References:
Henry VII’s Dark Truths: The First Tudor King | Henry VII Winter King | Real Royalty
Henry Tudor’s Right to Rule?: John of Gaunt, Katherine Swynford and the Beaufort Line