“เราพบรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นเจ้าหญิงเยอรมันที่น่ารัก ฉลาด น่าชื่นชม เธอเป็นม่ายตั้งแต่อายุยังน้อยและเป็นผู้นำแสงสว่างมาสู่บ้านอันอ้างว้างของเรา เธอปัดเป่าความเหงาและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งสวยงาม เธอแต่งเติมบ้านด้วยความรัก ความอบอุ่นและการอุทิศตน ความสุขสงบได้เข้ามาแทนที่หัวใจที่ทุกข์ทรมาน เมื่อเธอตอบรับคำแต่งงาน ความสุขของเราก็คล้ายจะแผ่ซ่านไปโดยไร้ซึ่งขอบเขต”
ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ส่งจดหมายฉบับนี้ให้เพื่อนรัก – แม็กซิมิเลียน เอกอนที่ 2 เจ้าชายแห่งวูสเทนเบิร์ก ข้อความที่เปี่ยมด้วยความสุขหลั่งไหลจากใจของชายชราวัย 63 ปี ที่ต้องเสียบัลลังก์ ถูกเนรเทศ และเพิ่งเสียภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากไปเมื่อหนึ่งปีก่อน ไกเซอร์ผู้เคยยิ่งใหญ่ บัดนี้ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในบ้านหลังเล็กที่เนเธอร์แลนด์มาเป็นปีที่ 4 วันนี้บ้านที่เคยอ้างว้างกำลังต้อนรับสมาชิกใหม่ เจ้าหญิงแฮร์มินอ ร็อยส์ แห่งไกรทซ์ หญิงม่ายวัย 34 ผู้เป็นรักครั้งสุดท้ายของไกเซอร์
เจ้าหญิงแฮร์มินอ จากแฟนคลับ สู่ภรรยา
เจ้าหญิงแฮร์มินอเป็นลูกสาวคนที่ 5 ของบรรดาลูกทั้ง 6 คนของไฮริช เจ้าชายร็อยส์ที่ 5 แห่งไกรทซ์ เขตการปกครองของเจ้าชายเป็นแคว้นเล็กๆ ทางตะวันออกของเยอรมัน (ปัจจุบันคือบริเวณเมืองไกรทซ์ของเยรมนี) รัฐนี้มีพื้นที่เพียง 317 กิโลเมตร และมีประชาการในปกครองราว 7 หมื่นคน (นับตามประชากรปี 1905) แม้ว่าจะไม่ใช่รัฐยิ่งใหญ่ที่ทรงอำนาจ แต่เยอรมันที่อุดมไปด้วยราชนิกูลน้อยใหญ่ต่างให้สิทธิ์เจ้านายจากทุกตระกูลเสมอกันกับราชวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงจากราชวงศ์มั่งคั่งหรือขัดสนก็สามารถเป็นเจ้าสาวของกษัตริย์ได้โดยถือเป็นเรื่องสมเกียรติสมศักดิ์ศรี
เจ้าหญิงแฮร์มินอแม้เกิดในตระกูลสูงแต่มีวัยเด็กที่ลำบาก ครอบครัวของพระองค์มีลูกถึง 6 คน แต่มีลูกชายเพียงคนเดียวคือเจ้าชายไฮริชที่ 6 ซึ่งเป็นลูกชายคนโต เจ้าชายไฮริชเคยได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้ทรงกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เจ้าหญิงไอดา ผู้เป็นมารดาเสียใจกับโชคชะตากับบุตรชายจนตรอมใจและจากไปในวัยเพียง 39 ปี เจ้าชายไฮริชที่ 5 ผู้เป็นบิดาใจสลาย ทรงครองตัวเป็นโสดและไม่ยอมแต่งงานใหม่ เจ้าหญิงแฮร์มินอเติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยความเศร้าและสูญเสีย ถึงอย่างนั้นเจ้าหญิงและพี่สาวน้องสาวทั้ง 5 คน ก็สนิทสนมกันเป็นอย่างมาก
เนื่องจากครอบครัวของเจ้าหญิงไม่มีแม่ เจ้าหญิงมาเรีย ร็อยส์แห่งไกรทซ์ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าสาวจึงมักเดินทางมาเยี่ยมหลานๆ อยู่เสมอ ทุกครั้งที่เจ้าหญิงมาเรียเดินทางมาถึง ก็มักนำโปสการ์ด รูปถ่าย และเรื่องราวใหม่ๆ ในราชสำนักปรัสเซียมเล่าให้บรรดาเจ้าหญิงฟัง เจ้าหญิงแฮร์มินอฟังเรื่องของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ด้วยความภาคภูมิใจ ทรงบันทึกไว้ว่า “ตั้งแต่เล็ก ไกเซอร์ก็ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้เรามาตลอด น้ามาเรียรู้เรื่องนี้ดีจึงมักนำวีรกรรมใหม่ๆ ของพระองค์มาเล่าให้พวกเราฟังอยู่เสมอ” เจ้าหญิงแฮร์มินอมีโอกาสได้พบไกเซอร์ครั้งแรกในงานแต่งงานของพี่สาว – เจ้าหญิงคาโรไลน์ งานครั้งนั้นเป็นงานใหญ่เพราะเจ้าบ่าวของคาโรไลน์เป็นถึงแกรนด์ดยุกแห่งซัคเซิน-ไวมาร์ ดัชชีขนาดใหญ่ที่มั่งคั่ง “ใครจะคิดว่าเด็กหญิงในวันนั้นจะได้เป็นภรรยาของไกเซอร์ เราได้แต่ยืนนิ่ง ตัวแข็ง และกล่าวคำทักทายกับพระองค์ด้วยใบหน้าแดงก่ำ ทรงตอบรับสั้นๆ ก่อนจะหันไปพูดคุยกับลุงของเราต่อ” เจ้าหญิงแฮร์มินอกล่าว เธอเพิ่งอายุ 15 ปี
สามปีต่อมา เจ้าหญิงแฮร์มินอในวัย 18 ปี เข้าพิธีสมรสกับเจ้าชายโยฮัน จอร์ช แห่งชูไอคน์-โครูลาท นายพันโทซึ่งประจำการอยู่ในเบอร์ลิน ทั้งคู่มีบุตร-ธิดาร่วมกัน 5 คน เจ้าชายโยฮันร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้จะทรงรอดชีวิตกลับมาแต่ทรงป่วยเป็นวัณโรคและสิ้นพระชนม์ไปในปี 1920 ในขณะที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ต้องสละราชสมบัติและถูกเนรเทศ พี่ชายของเจ้าหญิงก็ต้องเสียตำแหน่งผู้ปกครองที่ได้รับสืบทอดมาจากบิดา เจ้าหญิงตั้งใจว่าจะไม่แต่งงานใหม่ แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกอีกครั้งในอีกสองปีต่อมา เมื่อเจ้าชายจอร์ช วิลเฮล์ม ลูกชายวัย 13 ปีของเจ้าหญิงแฮร์มินอ ส่งจดหมายฉบับน้อยไปให้ไกเซอร์ในเนเธอร์แลนด์
ถึงองค์ไกเซอร์
แม้ผมจะเป็นเด็กแต่ถ้าโตขึ้นเมื่อไหร่ผมอยากต่อสู้เพื่อพระองค์ ผมรู้สึกเศร้าใจที่ทราบว่าพระองค์ทรงเหงามาก อีสเตอร์ใกล้มาถึงแล้วและท่านแม่กำลังเตรียมอบเค้กให้เรา ท่านแม่ยังทำไข่ระบายสีกับพวกเราด้วย ผมจะดีใจมากหากมีโอกาสมอบเค้กและไข่ให้พระองค์ ถ้าผมสามารถพาไกเซอร์กลับมาได้ มีเด็กชายมากมายที่เป็นเหมือนผม พวกเรารักพระองค์
จอร์ช วิลเฮล์ม เจ้าชายแห่งชูไอคน์-โครูลาท
หลังไกเซอร์ได้รับจดหมาย ครอบครัวของเจ้าหญิงแฮร์มินอก็ได้รับคำเชิญให้เข้าเฝ้าไกเซอร์ในทันที ไกเซอร์บันทึกการพบกันครั้งที่ 2 ของพระองค์กับเจ้าหญิงว่า “เมื่อได้เห็นเธอก็รู้สึกตื่นเต้น เราแปลกใจมาก เหมือนจะรู้ได้ตอนนั้นว่าเธอคือคู่แท้” ทรงขอเจ้าหญิงแต่งงานเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าหญิงแฮร์มินอรู้ดีว่าการตอบตกลงหมายถึงการทิ้งชีวิตทั้งหมดที่เยอรมัน ลูกๆ ของเธอทุกคนอาจไม่เต็มใจย้ายมา ชีวิตของเธอหลังจากนี้จะถูกจำกัดด้วยสภาพถูกเนรเทศของไกเซอร์ ถึงอย่างนั้นเธอก็ตอบตกลง
แม่ใหม่ผู้ไม่ได้รับการต้อนรับ
การแต่งงานเล็กๆ ของทั้งสองถูกจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1922 ที่บ้านพักของไกเซอร์ งานในครั้งนี้เป็นที่ต่อต้านของสมาชิกราชวงศ์ปรัสเซียบางท่าน รวมไปถึงลูกๆ ของไกเซอร์เอง ไกเซอร์วิลเฮล์มตอบกลับคำคัดค้านของลูกชายคนโต – เจ้าชายวิลเฮล์ม องค์รัชทายาทแห่งปรัสเซีย ด้วยความโกรธเกรี้ยว “เป็นเพราะเจ้าหญิงรัชทายาทใช่หรือไม่? (หมายถึงพระชายาของเจ้าชายวิลเฮล์ม ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทคนสุดท้ายแห่งปรัสเซีย) เธอคงรอไม่ไหวที่จะได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี”
เจ้าหญิงวิกตอเรีย ลูอิเซอ ลูกสาวคนเล็กและลูกสาวคนเดียวของไกเซอร์ ไม่พอใจกับเรื่องนี้เช่นกัน เธอเขียนว่า “ความจริงที่ผู้หญิงคนนี้มาเนเธอร์แลนด์เพราะต้องการแต่งงานกับไกเซอร์ก็แย่พออยู่แล้ว ท่านพอยังแทบไม่รู้จักเธอด้วยซ้ำ ทรงไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ภรรยาใหม่ของท่านจะเบื่อชีวิตในเนเธอร์แลนด์ในไม่ช้า และจะทิ้งท่านพ่อไปในที่สุด”
ชีวิตใหม่ในเนเธอร์แลนด์
เจ้าหญิงแฮร์มินอ (ตอนนี้คือจักรพรรดินีแห่งเยอรมันและราชินีแห่งปรัสเซีย) พาลูกๆ สามคนมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ (ลูกอีกสองคนตัดสินใจใช้ชีวิตต่อไปในเยอรมัน) กิจวัติประจำวันของไกเซอร์เหมือนเดิมแทบทุกวัน ทรงตื่นเช้าไปตัดฟืน เลี้ยงเป็ด ก่อนกลับบ้านมาอ่านหนังสือ ถึงอย่างนั้นการปรากฏตัวของเด็กๆ โดยเฉพาะเจ้าหญิงเฮนเรียตตาซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กก็สร้างความสุขให้ไกเซอร์เป็นอย่างมาก ทรงเรียกเจ้าหญิงตัวน้อยว่า ‘ท่านนายพล’ และทรงรักแฮนเรียตตาเหมือนลูกสาวแท้ๆ และสนับสนุนให้เจ้าหญิงสมรสกับเจ้าชายคาร์ล ฟริซ แห่งปรัสเซีย หลานชายของพระองค์และลูกชายคนเดียวของเจ้าชายโยอาคิม – ลูกชายคนที่ 6 ของไกเซอร์ที่ฆ่าตัวตายไปหลังเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1940 มีลูกด้วยกัน 3 คน แต่หย่าขาดกันหลังเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
แม้ไกเซอร์จะกลับเยอรมันไม่ได้ แต่เจ้าหญิงแฮร์มินอก็ยังได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าออกเยอรมันและสามารถเข้าพักในวังเก่าของไกเซอร์ในเบอร์ลิน แฮร์มินอรู้ดีว่าไกเซอร์ทรงต้องการกลับสู่บัลลังก์และทรงพยายามใช้เส้นสายของพระองค์ในเยอรมันเพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี แฮร์มัน เกอริงเดินทางมาพบไกเซอร์ที่เนเธอร์แลนด์ถึง 2 ครั้ง และแฮร์มินอก็เคยเข้าพบฮิตเลอร์ด้วยตัวเองหลายครั้งที่เบอร์ลิน ไกเซอร์เขียนถึงความพยายามของแฮร์มินอว่า ‘มากเกินพอดี’
“การกลับสู่บัลลังก์ของเราคงช้าไปสำหรับเธอ แม้ว่าแฮร์มินอจะพยายามทำทุกอย่างเต็มความสามารถ แต่การทำตามนาซีมากเกินไปอาจให้ผลร้ายมากกว่าผลดี”
สงครามโลกครั้งที่ 2 กับสถานะของไกเซอร์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ไกเซอร์และแฮร์มินอรู้ตัวว่ากำลังเข้าสู่เกมอำนาจครั้งใหม่ อังกฤษพยายามยื่นข้อเสนอ ขอให้ไกเซอร์ลี้ภัยมาอังกฤษ (บ้างก็ว่ามีข้อตกลงลับๆ จะช่วยคืนบัลลังก์ให้ไกเซอร์หลังสงคราม) แต่ไกเซอร์ปฎิเสธเสียงแข็ง “ยอมโดนยิงตายในเนเธอร์แลนด์ดีกว่าขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ” แฮร์มินอบันทึกถึงวินาทีแรกที่ทหารเยอรมันมาถึงประตูบ้านพักของไกเซอร์ว่า “เมื่อทหารเยอรมันนายแรกมาเคาะประตูบ้านของเรา ไกเซอร์ทรงดีใจเป็นอย่างมาก ไม่มีคำไหนอธิบายความโล่งใจของพระองค์ได้ดีพอ สีหน้าขอพระองค์ เหมือนทรงเด็กลงสัก 30 ปี” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 1940
เป็นที่รู้กันว่าระบบกษัตริย์ไม่ได้ถูกฟืนฟูในเยอรมัน ไกเซอร์วิลเฮล์มสิ้นพระชนม์ที่เนเธอร์แลนด์ในปี 1941 ร่างของพระองค์ถูกฝังอยู่ในบริเวณบ้านพัก เนื่องจากทรงยื่นคำขาด “ไม่กลับเยอรมันในฐานะอื่นนอกจากกษัตริย์” เจ้าหญิงแฮร์มินอตัดสินใจย้ายกลับเยอรมันหลังจากนั้น พระองค์ยังกลับมาเยี่ยมหลุมศพของไกเซอร์อีกสองครั้งในปี 1944 และ 1945 หลังเยอรมันแพ้สงคราม อดีตจักรพรรดินีและราชินีปรัสเซียคนสุดท้ายถูกจับเป็นนักโทษของฝั่งสหภาพโซเวียต ทรงถูกกักบริเวณในบ้านพักตลอดพระชนม์ชีพ
เจ้าหญิงแฮร์มินอพระชนม์ในปี 1947 ด้วยอาการหัวใจวาย คำขอสุดท้ายคือให้นำร่างของพระองค์กลับไปฝังข้างพระศพของไกเซอร์ที่เนเธอร์แลนด์ ถึงอย่างนั้นคำขอของเธอก็ไม่ได้รับการปฎิบัติตาม รัฐบาลสหภาพโซเวียตจัดการฝังศพของพระองค์ที่พอทสดัม ข้างหลุมศพของพระนางอากุสเทอ วิกตอเรีย แห่งชเลสวิช-ฮ็อลช ภรรยาคนแรกของไกเซอร์ สายตระกูลร็อยส์ แห่งไกรทซ์ ของเจ้าหญิงแฮร์มินอสิ้นสุดลงหลังพี่ชายผู้ทุพพลภาพของพระองค์สิ้นพระชนม์โดยไม่ได้สมรสและไม่มีทายาท
เจ้าชายจอร์ช วิลเฮล์ม ลูกชายของแฮร์มินอ คิวปิดน้อยผู้เขียนจดหมายถึงไกเซอร์เสียชีวิตหลังแม่ของเขาแต่งงานกับไกเซอร์เพียง 5 ปี เขาเพิ่งอายุ 18 ไม่ได้แต่งงาน และไม่เคยรบเพื่อเยอรมันหรือไกเซอร์
References: