ในปี 2021 เป็นปีครอบรอบ 100 ปี เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ คือความพยายามก่อการรัฐประหารของราชวงศ์ฮับส์บูร์ที่นอกจากจะเป็นการดิ้นรนครั้งสุดท้าย ยังกลายเป็นการตอกฝาโลงปิดทุกโอกาสที่ราชวงศ์นี้จะกลับมาปกครองทั้งออสเตรีย ฮังการี หรือดินแดนใดๆ ในภาคพื้นทวีปยุโรป
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ คาร์ลที่ 1 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของออสเตรีย-ฮังการี ต้องลี้ภัยออกจากประเทศพร้อมครอบครัว คาร์ลในตอนนั้นยังเป็นจักรพรรดิหนุ่มวัยสามสิบต้น ส่วนซีต้า – จักรพรรดินีคู่บัลลังก์ของพระองค์ก็มีเส้นสายยิ่งใหญ่เป็นถึงเจ้าหญิงของราชวงศ์บูร์บง-ปาร์มา ซึ่งเป็นสายย่อยของราชวงศ์บรูบงที่เคยปกครองฝรั่งเศส คาร์ลกับซีต้าเชื่ออย่างสุดใจว่าสิทธิ์ในการปกครองถูกส่งมาให้พวกเขาจากพระเจ้า ดังนั้นแม้จะถูกเนรเทศในตอนนี้ แต่คำสัญญาที่ทั้งสองเคยมอบให้กับพระผู้เป็นเจ้านั้น ย่อมมีความสำคัญมากกว่า
ในขณะที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมันได้รับการยอมรับจากรัฐบาลดัตช์ให้อาศัยลี้ภัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ จักรพรรดิคาร์ลและครอบครัว – ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้สามารถลี้ภัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยมีข้อแม้สำคัญคือห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คาร์ล ซีต้า และลูกๆ อีก 6 คนมาถึงสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 24 มีนาคม 1919 อดีตจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการีเข้าพักครั้งแรกในปราสาทวาร์เทกก์ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของราชวงศ์บูร์บง-ปาร์มาของซีต้า ต่อมารัฐบาลสวิสบอกว่าปราสาทหลังนี้ยังอยู่ใกล้ชายแดนออสเตรียเกินไป จึงขอให้จักรพรรดิย้ายอีกครั้งไปยัง Villa Prangins ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลสาบเจนีวา บ้านหลังที่ว่าเคยเป็นที่อาศัยของโจเซฟ โบนาปาร์ต พี่ชายแท้ๆ ของจักรพรรดินโปเลียน สมาชิกราชวงศ์ที่ย้ายไปยังปราสาทหลังนี้ รวมถึงข้าราชบริพาน มีจำนวนรวมกันราว 50 ชีวิต
“ฤดูร้อนที่นั่นสวยมาก เราใช้เวลาทำสวน ตกปลา มันเป็นช่วงเวลาที่ผมไม่เคยลืมเพราะผมได้เรียนรู้วิธีตกปลาเป็นครั้งแรก” อ็อตโต – ลูกชายคนโตของคาร์ลและซีต้าให้สัมภาษณ์เอาไว้ในอีก 80 ปีต่อมา ย้อนกลับไปในเวลานั้น อ็อตโตยังเป็นแค่เด็กน้อยอายุแค่ 8 ปี เขาไม่รู้ว่าบิดาตั้งใจทำอะไร เพียงแค่บอกว่าช่วงนั้นมีคนเข้ามาพบพ่อของเขาบ่อย แต่แขกที่เขาจำได้ดีที่สุด คืออาร์ชดัชเชสมาเรีย โจเซฟาแห่งแซกโซนี ผู้เป็นคุณย่าคนโปรดของหลานๆ
อ็อตโตเล่าว่าพวกเขาไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสวิส แต่มีครูมาสอนที่บ้านและมีตารางเรียนค่อนข้างแน่น หนึ่งในวิชาที่เจ้าชายรัชทายาทต้องเรียน คือภาษาฮังการี อ็อตโตที่ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องราว กล่าวแค่ว่าเขาชอบภาษานี้เพราะครูที่มาสอนเป็นคนสนุก อันที่จริงคาร์ลกับซีต้าตั้งใจให้ลูกชายคนสำคัญเรียนภาษาฮังการีให้แตกฉานเพราะทั้งสองมองว่าวันหนึ่งอ็อตโตจะได้กลับไปครองบัลลังก์ และจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูราชวงศ์ฮับส์บูร์ ต้องเริ่มต้นจากฮังการี
เป็นที่รู้กันว่าจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี มีระบบการปกครองแบบควบคู่ จักรพรรดิแห่งออสเตรียในยุคของคาร์ล มีศักดิ์เป็นพระราชาแห่งฮังการีด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นในตอนที่คาร์ลขึ้นครองราชย์ในปี 1916 นอกจากจะทรงสวมมงกุฎจักรพรรดิแห่งออสเตรียที่เวียนนา ยังต้องเดินทางไปเข้าพิธีสวมมงกุฎแห่งเซนต์สตีเฟนที่บูดาเปสต์ ในตอนที่ทรงถูกบีบให้สละราชสมบัติ ทรงกล่าวว่า ทรงสละสิทธิ์ในการบริหารรัฐกิจ แต่ไม่ได้ใช้คำว่าละทิ้งตำแหน่งกษัตริย์หรือจักรพรรดิ และแม้ว่าออสเตรียในตอนนั้นจะผ่านกฎหมายเปลี่ยนตัวเองเป็นสาธารณรัฐ แต่ฮังการีนั้นยังมีสถานะเป็นราชอาณาจักร (เนื่องจากพรรคการเมืองที่ขึ้นมากุมอำนาจเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวา) ชายผู้มีอำนาจสูงสุดในฮังการีคือจอมพลเรือมิคลอช ฮอตี ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ ด้วยช่องว่างเหล่านี้ ทำให้คาร์ลมีความหวังว่าตัวเขายังสามารถอ้างสิทธิ์บัลลังก์ฮังการีได้ในอนาคต
ฮังการีนั้นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เจ็บหนักจากสงคราม พวกเขาต้องเสียดินแดนถึงสองในสามให้เพื่อนบ้านอันได้แก่เชโกสโลวาเกีย ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย และออสเตรีย ประชาชนในฮังการีตังตั้งตัวไม่ถูก ไม่แน่ใจว่าจะเดินต่อไปในทิศทางไหน การกลับมาของคาร์ลยังมีข้อดีเพราะหากราชวงศ์ฮับส์บูร์กลับมาครองอำนาจได้จริง ก็อาจมีสิทธิ์อ้างเขตแดนที่สูญเสียไปในช่วงหลังสงคราม อย่างไรก็ดีจอมพลเรือมิคลอช ฮอตี มองว่าการฟื้นฟูราชวงศ์ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา สงครามเพิ่งจบไปแถมยักษ์ใหญ่อย่างอังกฤษและอิตาลี ยังชี้ชัดว่าการกลับคืนบัลลังก์ของราชวงศ์ฮับส์บูร์จะส่งผลร้ายต่อดุลอำนาจในยุโรปกลางและจะไม่ได้รับการสนับสนุนในทุกกรณี
แม้จะมีผู้ต่อต้านมากมายแต่คาร์ลก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้สนับสนุน ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และนักการเมืองบางส่วนของออสเตรียและฮังการียังคงชื่นชอบระบบกษัตริย์ อย่างไรก็ดีขบวนการเหล่านี้เข้มแข็งมากกว่าในฮังการี ที่สำคัญคือรัฐบาลฮังการีไม่เคยผ่านกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อบอกว่าคาร์ลพ้นสภาพการเป็นกษัตริย์ การเป็นกษัตริย์ของฮังการีถือสิทธิ์ชอบธรรมในทันทีที่บุคคลผู้นั้นได้สวมมงกุฏเซนต์สตีเฟน (กษัตริย์ฮังการีใช้อำนาจปกครองผ่านมงกุฎ หากไม่ได้สวมมงกุฎก็จะไม่ถือว่าเป็นกษัตริย์) ดังนั้นในทางเทคนิค ถึงคาร์ลแม้จะไม่ใช่จักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย-ฮังการี แต่ก็ยังมีสิทธิ์เป็นกษัตริย์คาร์ลที่ 4 ของฮังการีโดยชอบธรรม
คาร์ลส่งจดหมายส่วนตัวถึงจอมพลเรือมิคลอช ฮอตีเพื่อเน้นย้ำถึงประเด็นนี้ เขายังอ้างว่าการกลับคือสู่บัลลังก์ของเขาจะได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส ฮอตีตอบกลับจดหมายแบบกลางๆ กล่าวว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา คาร์ลที่เชื่อว่าฮอตียังไงก็สนับสนุนเขา พยายามลักลอบเดินทางเข้าฮังการีหลายครั้งโดยใช้พาสปอร์ตปลอม ความพยายามของคาร์ลประสบความสำเร็จในที่สุด เขาใช้พาสปอร์ตปลอมจากสเปน เดินทางออกจากสวิตเซอร์แลนด์ เข้าเขตแดนฝรั่งเศสก่อนจะตรงเข้าเวียนนาเพื่อเดินทางผ่านเข้าเขตแดนฮังการี ช่วงที่คาร์ลไปถึงนั้นตรงกับเทศกาลอีสเตอร์ของปี 1921 เขาเลือกเวลานี้เพราะเห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่คงไม่อยู่เมืองหลวง ดังนั้นการรัฐประหารน่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย
น่าสนใจว่าคาร์ลคงเก็บการเดินทางของเขาเป็นความลับมากขนาดที่จอมพลเรือฮอตีเองก็ยังไม่รู้ตัว ไม่มีใครรู้ว่าคาร์ลจะมาดังนั้นจึงไม่มีการเตรียมพร้อมใดๆ คาร์ลเข้าพบฮอตีเพื่อเน้นย้ำว่าฮังการีไม่จำเป็นต้องกลัวสายตานานาชาติเพราะฝรั่งเศสจะเข้าข้างเขา ฮอตีไม่แน่ใจในเรื่องนี้กล่าวว่าเราควรต้องถามฝรั่งเศสก่อน ข่าวการมาฮังการีของคาร์ลกลายเป็นความตึงเครียดระดับชาติ เชโกสโลวาเกียและยูโกสลาเวียกดดันฮังการี ตามมาด้วยอังกฤษและแม้แต่ฝรั่งเศส ทุกวันนี้บทบาทของฝรั่งเศสยังไม่กระจ่างนัก นักการเมืองฝรั่งเศสพูดในที่แจ้งหลายครั้งว่าไม่สนับสนุนคาร์ล แต่คาร์ลกลับกล่าวอ้างว่าฝรั่งเศสได้ให้สัญญากับเขาในทางลับ
เมื่อถูกกดดันจากนานาชาติ คาร์ลไม่มีทางเลือกนอกจากกลับสวิตเซอร์แลนด์ เขาออกจากฮังการีในวันที่ 5 เมษายน ซีต้าที่เพิ่งคลอดลูกสาวคนที่เจ็ดเมื่อเดือนก่อน เดินทางออกจากที่พักเพื่อไปรับสามี เจ้าชายอ็อตโตให้สัมภาษณ์ในภายหลังกล่าวว่าเขาไม่รู้ว่าพ่อหายไปไหน เพียงแค่ประหลาดใจที่พ่อไม่อยู่บ้านในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ มีตำรวจสองคนแวะมา และในเช้าวันที่ 6 เมษา ซีต้าก็ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่
หลังการหลบหนีออกจากประเทศในครั้งนี้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตั้งกฎใหม่ บังคับให้คาร์ลหากจะออกนอกประเทศต้องแจ้งรัฐบาลสวิสก่อนทุกครั้ง ครอบครัวของคาร์ลถูกย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่คือปราสาท Hertenstein ซึ่งมีการคุ้มกันแน่นหนา มีการปรับปรุงห้องให้กลายเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กๆ อ็อตโตกล่าวว่าตอนนั้นเขาดีใจเพราะยังสามารถกลับไปตกปลาได้ตามปกติ ส่วนพ่อก็กลับบ้าน อ็อตโตกับคาร์ลมีตารางเหมือนเดิมในทุกวัน คือพวกเขาจะออกไปเดินเล่นด้วยกันเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงในช่วงเช้า
เจ้าชายอ็อตโตได้ใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขกับครอบครัวต่อไปเพียง 5 เดือนเพราะในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน คาร์ลกับซีต้าก็วางแผนยึดอำนาจครั้งที่สอง
การปรากฏตัวของคาร์ลในรอบแรกทำให้ฮังการีตกอยู่ในภาวะวุ่นวาย ฝ่ายสนับสนุนคาร์ลโทษต่างชาติว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในส่วนฝ่ายต่อต้านราชวงศ์โทษคาร์ล บอกว่าความพยายามของเขาจะทำลายประเทศ สถานการณ์เลวร้ายขนาดมีการปลดรัฐมนตรีที่สนับสนุนคาร์ลออกจากตำแหน่ง
กลุ่มผู้สนับสนุนระบบกษัตริย์เข้าพบคาร์ลอีกครั้งเพื่อเสนอว่าการเจรจาแบบครั้งก่อนคงไม่เป็นผล พวกเราควรใช้กำลังทหาร และควรรีบก่อการให้ไวเพราะตอนนี้เชโกสโลวาเกีย ยูโกสลาเวีย และโรมาเนียได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านฮังการี ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการราชวงศ์ฮับส์บูร์ หากทิ้งเวลาไปยิ่งจะทำให้ศัตรูแข็งแกร่ง คาร์ลเองก็เห็นด้วย เขาไม่ไว้ใจฮอตีอีกต่อไป การใช้กำลังจึงเกิดขึ้น
21 ตุลาคม 1921 คาร์ลโดยสารเครื่องบินเข้าประเทศฮังการี เขาเข้าพบกลุ่มผู้สนับสนุนที่จัดเตรียมกองทัพไว้ให้ การมาถึงของคาร์ลกลายเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้ง ฝ่ายรัฐบาลฮังการีและประเทศเพื่อนบ้านรีบจัดเตรียมกองทัพ รถไฟของคาร์ลเดินหน้าเข้าบูดาเปสต์โดยได้รับการต้อนรับจากประชาชนผู้สนับสนุนในแต่ละสถานี ฮอตีรีบส่งจดหมายถึงคาร์ล ขอร้องให้ทรงคิดดูใหม่เพราะความพยายามของพระองค์จะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง คาร์ลไม่ฟังยังคงเคลื่อนกองทัพต่อไปซึ่งปรากฎว่าความพยายามครั้งนี้ก็จบลงด้วยความผิดพลาดอีกครั้ง หลักๆ เพราะการเคลื่อนทัพเกิดขึ้นไวเกินไป ไม่มีการเตรียมการ แถมขาดการสื่อสาร บรรดานายพลยังขัดแย้งกันเองจนหนึ่งในนั้นย้ายข้างไปอยู่กับรัฐบาล ขายข่าวสารทั้งหมดให้ฮอตี
กองทัพของคาร์ลทำการต่อสู้ได้เพียง 3 วันก็ถึงการพ่ายแพ้ วันที่ 24 ตุลาคม กองทัพทั้งสองฝ่ายหยุดยิง และรัฐบาลก็บังคับให้คาร์ลสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ คาร์ลและซีต้าถูกกักบริเวณหลังจากนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต อังกฤษเสนอว่ากองทัพเรือจะย้ายคาร์ลและครอบครัวไปอยู่ที่หมู่เกาะห่างไกลในปกครองของโปรตุเกสชื่อมาเดรา ซึ่งเป็นทางออกที่คล้ายกับการเนรเทศนโปเลียไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา
อ็อตโตฉลองวันเกิดอายุ 9 ปีโดยไม่ได้มีพ่อแม่ เขาและน้องๆ ฉลองคริสต์มาสตามลำพัง บรรดาสามชิกราชวงศ์ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบเพื่อป้องกันการหลบหนี อ็อตโตและน้องๆ ได้โดยสารรถไฟไปฝรั่งเศสเพื่อพบพ่อแม่ในวันที่ 26 มกราคม ทั้งครอบครัวถูกส่งตัวไปเกาะมาเดราในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1922
5 เดือนหลังการเนรเทศ คาร์ลล้มป่วยลงและเสียชีวิต ทิ้งให้อ็อตโตกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวคนใหม่ ซีต้าไม่เคยทำใจได้ เธอยังคงเชื่อเสมอมาว่าลูกชายคือกษัตริย์ที่ถูกต้องของออสเตรียและฮังการี และยังมีความหวังว่าราชวงศ์บส์บูร์จะกลับคือสู่อำนาจในสักวัน ความหวังนั้นไม่เป็นจริง ซีต้าจากไปในวัย 96 ทั้งชีวิตไม่เคยได้กลับมาเหยียบออสเตรียหรือฮังการี
อ็อตโต อดีตเจ้าชายรัชทายาทกล่าวถึงความพยายามก่อรัฐประหารของบิดาในอีกหลายปีต่อมา
“ความพยายามครั้งแรกจบลงด้วยความล้มเหลวเพราะพวกท่าน(หมายถึงคาร์ลและซีต้า) มั่นใจว่าฮอตี้จะช่วยสนับสนุนการกลับคืนสู่บัลลังก์ ความพยายามครั้งหลังจบลงด้วยความพ่ายแพ้เพราะความรีบร้อนไร้การเตรียมการ สำหรับพ่อของผม พิธีราชาภิเษกเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่ทรงให้ไว้ทั้งกับประชาชนและพระผู้เป็นเจ้า มันจึงมีผลผูกพันนอกเหนือขอบเขตอำนาจของมนุษย์ ทรงเชื่ออีกว่าการเมืองที่ปราศจากคำมั่นสัญญาทางศีลธรรมจะนำไปสู่การปกครองแบบกดขี่ ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทางเพื่อเติมเต็มคำสาบานที่เคยให้ไว้ แม้มันจะขัดกับความเห็นมากมาย ทั้งในทางส่วนตัวและทางการเมืองก็ตาม”
ความล้มเหลวในการก่อรัฐประหารของราชวงศ์ฮับส์บูร์ บอกให้ทั้งโลกรู้ว่ายุโรปไม่ต้องการระบบกษัตริย์อีกต่อไป และไม่ว่าต่อจากนี้ประเทศจะต้องเจอกับความยากลำบากมากมายรออยู่ตรงหน้า แต่การหวนกลับมาสู่ระบบเดิมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก
References: