เป็นที่รู้กันว่าระบบศักดินาของเยอรมันถูกยกเลิกไปในปี 1918 พร้อมๆ กับที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 นำจักรวรรดิของพระองค์ไปพบความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ทราบหรือไม่ว่าก่อนจะกลายเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมันเป็นแผ่นดินที่มีกษัตริย์พร้อมกันถึง 4 พระองค์
จักรวรรดิเยอรมันในช่วงปี 1871-1918 ประกอบขึ้นจาก 4 อาณาจักร และเมืองอิสระที่มีฐานะต่างกันไป (ตั้งแต่แกรนด์ดัชชี่ที่ปกครองโดยแกรนด์ดยุก ดัชชี่ที่ปกครองโดยดยุก พรินซิพาลิตีที่ปกครองโดยเจ้าชาย และรัฐอิสระอื่นๆ)
ในจำนวนแผ่นดินทั้งหมด ผู้ที่ครองพื้นที่มากที่สุดและได้เป็นผู้นำของจักรวรรดิ คืออาณาจักรปรัสเซีย (เมืองหลวงคือเบอร์ลิน) ตามมาด้วยอาณาจักรบาวาเรีย (เมืองหลวงคือมิวนิก) อาณาจักรซัคเซินหรือแซกโซนี่ (เมืองหลวงคือเดรสเดิน) และอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค (เมืองหลวงคือสตุ๊ตการ์ต) เนื่องจากปรัสเซียเป็นผู้นำในการรวมชาติและมีพื้นที่ปกครองมากที่สุด กษัตริย์แห่งปรัสเซียจึงได้รับการขนานนามว่า ไกเซอร์ (จักรพรรดิ) ในขณะที่อีกสามอาณาจักรมีผู้ปกครองที่ดำรงตำแหน่ง ‘กษัตริย์’
ตำแหน่งไกเซอร์ ตามข้อตกลงของการรวมชาติ ถูกผูกขาดเป็นของปรัสเซียเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้งผลัดเปลี่ยนกันเหมือนตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คณะรัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นใหม่และอำนาจบริหารทั้งหมดหลังการรวมชาติล้วนให้ความสำคัญกับไกเซอร์เป็นอันดับหนึ่ง พระองค์จะทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นผู้ควบคุมกองทัพ และยังมีอำนาจสามารถสั่งยุบสภาผู้แทนราษฎร สามารถแต่งตั้งและสั่งปลดนายกรัฐมนตรีแห่งจักรวรรดิ (Imperial Chancellor) ตามที่เห็นสมควร โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งจักรวรรดิคนแรกหลังการรวมชาติ คือ อ็อตโต ฟอน บิสมาร์ค เสนาบดีคนสำคัญของอาณาจักรปรัสเซีย
ไกเซอร์และกษัตริย์ พระองค์สุดท้ายที่ได้ปกครองเยอรมันคือ
-ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย (ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น)
-กษัตริย์ลุดวิกที่ 3 แห่งบาวาเรีย (ราชวงศ์วิทเทลส์บัค)
-กษัตริย์ฟรีดริช เอากุสท์ที่ 3 แห่งซัคเซิน (ราชวงศ์เว็ททีน)
-กษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค (ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์ค)
ดังนั้นหากระบบกษัตริย์ของเยอรมันได้รับการฟื้นฟูในปัจจุบัน ผู้ได้รับสืบทอดตำแหน่งไกเซอร์และกษัตริย์คือทายาทปัจจุบันของ 4 ราชวงศ์
ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น – อาณาจักรปรัสเซีย
หลังไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 สวรรคตในขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้รับตำแหน่งสืบทอดเป็นผู้นำราชวงศ์คนต่อมา คือเจ้าชายวิลเฮล์ม มกุฎราชกุมาร (ลูกชายคนโตของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2) น้องชายและหลานชายหลายคนของพระองค์เข้าร่วมกับนาซีและมีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่ 2 อันที่จริง ลูกชายคนโตของเจ้าชายวิลเฮล์ม – เจ้าชายวิลเฮล์ม (ใช้ชื่อเดียวกันกับพระบิดา) เสียชีวิตในการรบที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 1940 ทำให้ผู้สืบตำแหน่งทายาทคนต่อมาจึงเป็นเจ้าชายลุยส์ เฟอร์ดินันด์ ลูกชายคนรอง
เจ้าชายลุยส์ เฟอร์ดินันด์สมรสกับแกรนด์ดัชเชสคิรา คิริลลอฟนาแห่งรัสเซีย พระบิดาของแกรนด์ดัชเชส อ้างสิทธิ์การเป็นพระเจ้าซาร์ ต่อจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
ต่างจากพี่ชายคนโต เจ้าชายลุยส์ เฟอร์ดินันด์ เป็นผู้ต่อต้านระบบนาซี ทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กที่สหรัฐฯ และเคยถูกจับเข้าค่ายกักกันของนาซีกระทั่งถูกปล่อยตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าชายลุยส์ เฟอร์ดินันด์และแกรนด์ดัชเชสคีรามีบุตรธิดาร่วมกัน 7 พระองค์ ลูกชายสองคนแรกสละสิทธิ์สืบทอดตำแหน่งเพื่อสมรสกับสามัญชนทำให้สิทธิ์ถูกส่งต่อไปยังลูกชายคนที่สาม เจ้าชาลุยส์ เฟอร์ดินันด์ (ใช้ชื่อเดียวกับพระบิดา)
หลังเจ้าชายลุยส์ เฟอร์ดินันด์เสียชีวิตในปี 1977 ผู้สืบทอดบัลลังก์ฝั่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์นคนปัจจุบัน คือลูกชายคนโตของพระองค์ เกออร์ค ฟรีดริช เจ้าชายแห่งปรัสเซีย (ปัจจุบันอายุ 45 สมรสกับเจ้าหญิงโซฟีแห่งอีเซนแบร์ก)
ทั้งนี้เจ้าชายเกออร์คยังมีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์สหราชอาณาจักนเนื่องจากทรงสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (พระมารดาของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2) โดยทรงอยู่ในอันดับที่ 170
ราชวงศ์วิทเทลส์บัค – อาณาจักรบาวาเรีย
กษัตริย์ลุดวิกที่ 3 แห่งบาวาเรียเสียชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงเพียงสองปี ทรงสมรสกับอาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซ่าแห่งออสเตรีย-เอสเต บุตรชายคนโตของทั้งสอง – เจ้าชายรูเปรชได้รับสืบทอดตำแหน่งผู้นำของราชวงศ์คนต่อมา ตระกูลของพระองค์เป็นผู้ต่อต้านนาซีและต้องหลบหนีออกจากเยอรมันในช่วงเรืองอำนาจของฮิตเลอร์ ทายาทของราชวงศ์วิทเทลส์บัคคนปัจจุบันคือหลานชายคนโตของเจ้าชายรูเปรซ – เจ้าชายฟรันซ์ ดยุกแห่งบาวาเรีย (ปัจจุบันอายุ 88 ปี)
เนื่องจากดยุกแห่งบาวาเรียไม่เคยแต่งงานและไม่มีทายาท เมื่อใดก็ตามที่ดยุกคนปัจจุบันเสียชีวิต ตำแหน่งจะถูกส่งต่อไปให้เจ้าชายแม็กซ์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชาย (ปัจจุบันอายุ 85 ปี) แต่เนื่องจากเจ้าชายแม็กซ์เองก็ไม่มีลูกชาย และระบบกษัตริย์ของเยอรมันไม่อนุญาตให้มีการสืบทอดตำแหน่งทายาทผ่านฝ่ายหญิง เมื่อใดที่เจ้าชายแม็กซ์เสียชีวิต ตำแหน่งดยุกแห่งบาวาเรียจะถูกดึงกลับไปให้ทายาทจากสายลูกชายคนรองของกษัตริย์ลุดวิกที่ 3 แห่งบาวาเรีย ทำให้ทายาทคนต่อไปคือเจ้าชายลีโอพอลแห่งบาวาเรีย (ปัจจุบันอายุ 71 ปี) เจ้าชายลีโอพอลมีลูกชาย 3 คน จึงมั่นใจได้ว่าตำแหน่งผู้นำราชวงศ์วิทเทลส์บัคจะมีผู้สืบทอดต่อไปอีกอย่างน้อยก็อีกรุ่น
ราชวงศ์เว็ททีน อาณาจักรซัคเซิน
กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรซัคเซิน คือพระเจ้าฟรีดริช เอากุสท์ที่ 3 เนื่องจากลูกชายคนโตของพระองค์ออกบวชเป็นพระในศาสนาคริสต์ทำให้ตำแหน่งถูกสืบทอดผ่านบุตรชายคนรอง เจ้าชายฟรีดริช คริสเตียน
เจ้าชายฟรีดริช คริสเตียน ส่งผ่านตำแหน่งผู้สืบทอดให้ลูกชายคนโต เจ้าชายมาเรีย เอมานูเอล แต่เนื่องจากเจ้าชายมาเรีย เอมานูเอลไม่มีลูกชาย จึงได้รับลูกชายของน้องสาว – เจ้าชายอเล็กซานเดอร์มาเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อส่งผ่านตำแหน่งให้ทายาทของตัวเอง อย่างไรก็ดี ตำแหน่งผู้สืบทอดของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ (ผู้สืบทอดคนปัจจุบัน – ภาพบน) ยังมีข้อกังขา หลายท่านมองว่าสายราชวงศ์เยอรมันไม่สามารถส่งผ่านทายาทฝ่ายหญิง และทายาทที่แท้จริงควรจะเป็นเจ้าชายรูดิเกอร์ (ภาพล่าง) หลานชายสายตรงของเจ้าชายแอ็นสท์ ไฮริช ลูกชายคนที่สามของกษัตริย์ฟรีดริช เอากุสท์ที่ 3 กษัตริย์คนสุดท้ายแห่งซัคเซิน
ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์ค – อาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค
กษัตริย์คนสุดท้ายแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คเสียชีวิตในปี 1921 โดยไม่มีทายาทชายเป็นของตนเอง ดังนั้นตำแหน่งผู้นำราชวงศ์จึงถูกส่งต่อให้ญาติของพระองค์ – เจ้าชายอัลเบิร์ต (มีฐานะเป็นญาติลำดับสาม)
เจ้าชายอัลเบิร์ตเสียชีวิตในปี 1939 ตำแหน่งของพระองค์ถูกส่งต่อให้ลูกชายและหลานชาย – เจ้าชายคาร์ล ดยุกคนปัจจุบันแห่งวือร์ทเทิมแบร์ค (ปัจจุบันอายุ 85 ปี) เนื่องจากลูกชายของคาร์ลเสียชีวิตไปก่อนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผู้สืบทอดตำแหน่งดยุกคนต่อไปจึงเป็นของหลานชายคนโต – เจ้าชายฟรีดริชแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค ปัจจุบันอายุ 27 ปี
Reference:
Who Would Be Kings of Germany Today?
Blood and Iron: The Rise and Fall of the German Empire by Katja Hoyer