แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซียเป็นลูกสาวคนที่สี่ของพระเจ้าซาร์คนสุดท้าย พระบิดาของพระองค์คือพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ส่วนพระมารดาคือซารีน่าอเล็กซานดร้า (พระนามเดิมเจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์และไรน์)
การเกิดของลูกสาวคนที่สี่แทนที่จะเป็นลูกชายสร้างความลำบากใจให้พ่อแม่เป็นอย่างมาก นอกจากทั้งคู่จะมีลูกสาวอยู่แล้วถึงสามคน ความนิยมของพระเจ้าซาร์และซารีน่าในตอนนั้นก็ไม่สู้ดี – โดยเฉพาะกับตัวซารีน่าที่ไม่ป็อปปูล่าอยู่แล้วในหมู่คนรัสเซีย
มองมาถึงตรงนี้ การเกิดของอนาสตาเซียจึงนำมาซึ่งความผิดหวังพอๆ กับดีใจ พระเจ้าซาร์ถึงขั้นต้องออกไปเดินทำใจสงบสติอารมณ์อยู่พักใหญ่ ก่อนเข้าไปเยี่ยมภรรยากับลูกสาวที่เพิ่งคลอด
“แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซียลืมตาดูโลกในเวลาหกโมงเช้า การคลอดปกติ และกินเวลาสามชั่วโมง พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดให้อภัยพวกเราด้วยที่รู้สึกผิดหวังมากกว่าดีใจ เราอยากได้ทารกชาย แต่นี่เป็นลูกสาวคนที่สี่” – ญาติของพระเจ้าซาร์เขียนไว้ในบันทึก
“โชคยังดีที่อเล็กซานดร้ายังยิ้มได้” – นิโคลัสที่ 2 กล่าวเพียงสั้นๆ
ในจำนวนลูกสาวทั้งสี่คนของพระเจ้าซาร์ อนาสตาเซียถือเป็นเด็กซนที่มีสีสันมากที่สุด โอลก้า – ลูกสาวคนโต เป็นคนฉลาด จริงจัง และมุ่งมั่น ทาเทียน่า – ลูกสาวคนรอง สวยสง่า มีความเป็นผู้นำ ส่วนมาเรีย – ลูกวาวคนที่สาม เป็นสาวหวานที่มีจิตใจอ่อนโยนและว่าง่าย
ปิแอร์ กิลเลียต อดีตครูสอนภาษาฝรั่งเศสของราชวงศ์โรมานอฟ กล่าวถึงอนาสตาเซียว่าเป็นเด็กฉลาดและพรสวรรค์ด้านภาษา แต่ชอบหาเรื่องแกล้งครูผู้สอนอยู่บ่อยครั้ง ญาติในรุ่นเดียวกันกล่วว่าความขี้แกล้งของอนาสตาเซียนั่นแทบจะเรียกได้ว่าร้ายกาจ ถึงอย่างนั้นแกรนด์ดัชเชสก็เป็นคนที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนรอบข้างอยู่เสมอ
หลังอนาสตาเซียเกิดได้ไม่นานพระเจ้าซาร์ก็ได้ลูกชายสมใจ อเล็กเซย์ ลูกชายเพียงคนเดียวเกิดหลังอนาสตาเซียราวสามปี น่าเสียดายที่ทรงเกิดมาพร้อมข่าวร้าย เพราะได้รับการวินิจฉัยว่าทรงป่วยเป็นโรคฮีโมฟิเลียหรือโรคเลือดไหลไม่หยุดซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สืบทอดจากครอบครัวฝั่งมารดา
ครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถ้าไม่มองในมุมการปกครองซึ่งอาจจะทำผิดพลาดไปหลายอย่าง ก็ต้องยอมรับว่าพระเจ้าซาร์และซารีน่าเป็นพ่อแม่ที่อบอุ่นและรักกัน ครอบครัวของพระองค์เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีภาพถ่ายและฟุตเทจฟิล์มขาวดำเยอะมากที่สุดในยุโรป พระเจ้าซาร์เป็นพ่อที่รักใคร่และอุทิศตน ทรงไม่เข้มงวดเรื่องการศึกษาและหวังให้ลูกๆ มีวัยเด็กที่สดใสมากกว่าคาดหวังให้เด็กๆ ต้องทำหน้าที่ยิ่งใหญ่อย่างการรับใช้ชาติ
กิลเลียต ครูสอนฝรั่งเศสกล่าวถึงลูกๆ ของพระเจ้าซาร์ว่าล้วนเป็นเด็กฉลาดแต่ขาดเรียนบ่อยเพราะพ่อแม่ชอบพาไปพักร้อนทีละหลายๆ เดือนที่ไครเมีย พอกลับมาก็ต้องมารื้อเนื้อหากันใหม่หมด
ลอร์เมานต์แบ็ตเทน ญาติสนิทของครอบครัว (ญาติจากทางฝั่งซารีน่าอเล็กซานดร้า) กล่าวว่า “ไม่มีอะไรทำให้พระเจ้าซาร์มีความสุขได้มากกว่าการใช้เวลากับลูกๆ ทรงเป็นคนใจดี เรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนไม่เด็ดขาดและค่อนข้างโลเล” อย่างไรก็ดี ความสุขเหลานี้อยู่ไม่นานเมื่อเกิดการปฎิวัติขึ่นในปี 1917 ครอบครัวของพระเจ้าซาร์ถูกจับกุมและคุมขัง ทั้งครอบครัวยังถูกย้ายไปหลายที่เพราะกลัวกลุ่มทวงคืนอำนาจพระเจ้าซาร์จะตามมาพบ
ที่คุมขังสุดท้ายของครอบครัวพระเจ้าซาร์มีชื่อว่าบ้านอิปาเตียฟ (บ้านเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ) ในเมืองเยคาเตรินบุร์ก ในวันที่ครอบครัวของพระเจ้าซาร์ถูกตัดสินประหารชีวิต อนาสตาเซียเพิ่งมีอายุ 17 ปี ส่วนเหตุที่ต้องประหารก็เพราะมีข่าวว่ากลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้าซาร์จะบุกมาถึงพื้นที่ในไม่ช้า มีคนถูกสังหารทั้งหมด 11 คน เป็นผู้หญิง 6 คน และผู้ชายอีก 5 ประกอบด้วยครอบครัวของพระเจ้าซาร์ (ซาร์นิโคลัสที่ 2 หรือ มิสเตอร์ โรมานอฟ – นิโคลัส อเล็กซานโดรวิช, ซารีน่าอเล็กซานดร้า, ลูกสาวทั้ง 4 และลูกชาย: แกรนด์ดัชเชสโอลก้า, แกรนด์ดัชเชสทาเทียน่า, แกรนด์ดัชเชสมาเรีย, แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย และซาเรวิชอเล็กเซย์) รวมไปถึงผู้ติดตามอีก 4 คน คือ เยฟเกเนีย วอตกิน (หมอหลวง), อันนา เดมิโดว่า (นางกำนัลของซารีนา), อเล็กเซย์ ทราฟ (พ่อบ้าน), อีวาน คาริโตนอฟ (พ่อครัวหลวง) บ้านถูกเก็บกวาดในชั่วข้ามคืน
ทุกวันนี้เรารู้แน่ชัดแล้วว่า เหตุฆาตกรรมพระเจ้าซาร์เกิดขึ้นในระหว่างคืนวันที่ 16 ถึงช่วงเช้าของวันที่ 17 กรกฎาคม 1918 แต่ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1920 การตายของอดีตผู้ปกครองรัสเซียเต็มไปด้วยม่านหมอกและข่าวลือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรในแผ่นดินห่างไกลที่เต็มไปด้วยการปกปิดข้อมูล มีผู้คนมากมายอ้างตัวว่าเป็นทายาทพระเจ้าซาร์ ซึ่งสามารถหลบหนีความตายออกมาได้ด้วยวิธีต่างๆ
ในบรรดาเรื่องเล่าร่วมสมัย ไม่มีกรณีใดจะโด่งดังไปกว่าคดีของแอนนา แอนเดอร์สัน หญิงสาวผู้อ้างตัวเป็นแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทฤษฎีสมคบคิดว่าลูกสาวคนเล็กของพระเจ้าซาร์อาจหลบหนีความตายได้อย่างปาฎิหาริย์ จนสร้างแรงบันดาลใจให้การ์ตูนชื่อดังของ Fox Animation Studios เรื่องAnastasia(1997)
เรื่องของแอนนาเริ่มในปี 1920 ที่ประเทศเยอรมนี มีคนพบผู้หญิงกำลังพยายามกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่ถูกตำรวจช่วยไว้ได้ เธอไม่มีชื่อ ไม่มีเอกสาร ไม่มีความทรงจำ เธอกลัวการถ่ายภาพ พูดเยอรมันติดสำเนียงรัสเซีย เนื้อตัวเต็มไปด้วยบาดแผลและน่าจะเคยผ่านเหตุการณ์รุนแรงมา หญิงสาวปริศนาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล และถูกเรียกว่า miss unknown
ในปี 1921 หญิงปริศนาอ้างตัวว่า เธอคือแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย ลูกสาวคนสุดท้ายของพระเจ้าซาร์ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ (ชื่อแอนนาก็เป็นชื่อที่เธอเลือกให้ตัวเองมาจากคำว่าอนาสตาเซีย)
ข่าวของแอนนากลายเป็นเรื่องฮือฮาทั่งยุโรป เธอถูกสอบถามและเป็นที่สนใจของวงสังคม มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อว่าเธอคืออนาสตาเซียตัวจริง สำหรับคนที่เชื่อ แอนนามีแผลเป็นบางส่วนที่เหมืองกับของแกรนด์ดัชเชส เช่นแผลเป็นที่เท้าซึ่งไม่น่าจะมีใครเหมือนได้ เธอยังมีใบหูและดวงตาที่ดูคล้ายเจ้าหญิงมาก
ใบหูของแอนนาถูกวิเคราะห์ว่าเหมือนอนาสตาเซียถึง 4 ใน 5 แม้จะไม่มากพอยืนยัน 100% แต่ใบหูก็เป็นสิ่งพิเศษที่ไม่เปลี่ยนเลยตลอดชีวิต (หลังจากร่างกายเติบโตถึงวัยหนึ่ง) แม้แต่แฝดแท้ก็ยังไม่สามารถมีใบหูแบบเดียวกัน
ลายมือของแอนนากับอนาสตาเซียยังถูกนำมาวิเคราะห์ละพบว่ามีความเหมือนกันอย่างน่าตกใจ หนึ่งในผู้อุปถัมที่เชื่อปักใจว่าเธอคืออนาสตาเซียคือบารอน วอน ครีด ขุนนางชาวเยอรมันที่รับแอนนาไปดูแล
ว่ากันว่าเรื่องราวทั้งหมดที่แอนนาเล่า ถูกสร้างขึ้นผ่านการปะติดปะต่อโดยบารอน ทำให้ที่มาของเรื่องราวมีความน่าสงสัย แอนนาเองก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการให้สัมภาษณ์ บางครั้งสติแตก บางทีร้องไห้ แถมไม่ยอมพูดรัสเซียเพราะบอกว่าภาษานี้เต็มไปด้วยความทรงจำที่เลวร้าย
แอนนาเล่าถึงคืนที่ทั้งครอบครัวถูกสังหาร โดยกล่าวว่าที่เธอรอดมาได้นั้น เพราะเธอถูกยิง แต่ไม่ตาย (เนื่องจากร่างของพี่สาวล้มมาทับตัวเธอไว้) เธอถูกแบกขึ้นรถและได้รับการช่วยชีวิตจากชายที่ชื่ออเล็กซานเดอร์ เชคอฟสกี้ซึ่งเป็นลูกครึ่งรัสเซียโปแลนด์
ครอบครัวเชคอฟสกี้พาเธออกจากรัสเซียมาโปแลนด์ พวกเธอพักอาศัยอยู่ในเมืองบูคาเรสช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเธอได้ขายเครื่องประดับมีค่าของราชวงศ์ที่แอบนำติดตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน
ทันทีที่เรื่องถูกเผยแพร่ออกไป ผู้คนจำนวนมากก็แห่ไปสัมภาษณ์ร้านเครื่องประดับในบูคาเรสและปรากฎว่ามีผู้คนบางส่วนออกมายืนยันว่าเคยซื้อเครื่องเพชรที่อาจเป็นของราชวงศ์โรมานอฟไปจริงๆ
เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ญาติๆ หลายคนมาเยี่ยมแอนนาเพื่อหาทางพิสูจน์ หนึ่งในนั้นคือเจ้าหญิงอิริน่าแห่งปรัสเซีย พี่สาวของซารีน่าอเล็กซานดร้า ปรากฎว่าแอนนาจำป้าตัวเองไม่ได้ แต่เธอก็แก้ตัวว่าเวลาผ่านมานานและเธอเองเพิ่งผ่านเรื่องเลวร้ายมา มันไม่ใช่เรื่องโหดร้ายหรอกหรือที่ต้องถูกญาติของตัวเองทดสอบและตั้งคำถาม น่าสนใจว่าแอนนาสามารถบอกชื่อบุคคลบางคนในภาพถ่ายเก่าได้ถูกต้อง และพยานอีกคนที่ได้รับการเชิญตัวมาก็คือ ปิแอร์ กิลเลียต อดีตครูสอนฝรั่งเศสที่สนิทสนมใกล้ชิดกับลูกๆ ของพระเจ้าซาร์
ปรากฎว่ากิลเลียตนั้นไม่เชื่อว่าแอนนาคืออนาสตาเซีย เพราะเธอพูดฝรั่งเศสไม่ได้ ผิดกับภาพจำของเขาที่เคยกล่าวว่าอนาสตาเซียมีพรสวรรค์ด้านภาษา
แกรนด์ดัชเชสโอลก้า น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าซาร์ก็ไม่เชื่อแอนนาเช่นกัน แม้แต่สมเด็จย่า – พระนางมาเรีย เฟเดรอฟน่า ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ เธอเชื่อว่าเชื่อว่าลูกชายของเธอ – ซาร์นิโคลัส และบรรดาหลานๆ ทุกคนยังไม่ถูกสังหาร พวกเขายังอยู่ด้วยกันที่ไหนสักแห่งเพื่อรอการช่วยเหลือ (เรื่องนี้แม้ได้รับการยืนยันในภายหลังว่าไม่จริง แต่พระนางมาเรียจะเชื่อตลอดชีวิตว่าครอบครัวของลูกชายยังมีชีวิตอยู่)
หนึ่งในกรณีเลื่องชื่อที่สุด คือการสืบหาของแกรนด์ดยุกแอร์นส์ หลุยส์ แห่งเฮสส์และไรน์ พี่ชายของซารีน่าอเล็กซานดร้าที่จริงจังกับเรื่องนี้ถึงขั้นจ้างนักสืบ จนพบว่าแอนนา แอนเดอร์สันจริงๆ แล้วคือ ฟรานเชสก้า เชนโคสก้า คนงานชาวโปลิชที่มีประวัติเรื่องปัญหาทางจิตและเคยได้รับบาดเจ็บจากเหตุโรงงานระเบิด จนเป็นเหตุให้เธอมีบาดแผลเต็มตัว การสืบหาของแกรนด์ดยุกเป็นข่าวใหญ่ มีนักข่าวที่เชื่อเรื่องนี้และนำไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ เปรียบเทียบไทม์ไลน์ว่าช่วงเวลาที่ฟรานเชสก้าหายตัวไป ใกล้เคียงกับช่วงที่แอนนาปรากฎตัวในเยอรมัน ประกอบกับสำเนียงรัสเซียของเธอ จริงๆ อาจเป็นสำเนียงโปลิชก็ได้
แม้จะมีหลักฐานน่าสนใจ แต่หลายคนไม่เชื่อเรื่องนี้ มองว่าแกรนด์ดยุกกุข่าวร่วมกับสำนักพิมพ์ เพราะไม่อยากแบ่งสมบัติของพระเจ้าซาร์ที่ยังเหลืออยู่ในยุโรปให้หลานสาว
เรื่องราวของแอนนาดำเนินต่อไป ครอบครัวของฟรานเชสก้าถูกพาตัวมาเพื่อให้ปากคำ แม้พวกเขาจะเชื่อว่าแอนนาคือญาติที่หายไป แต่ไม่มีใครกล้าเซ็นชื่อในเอกสารยืนยัน เพราะนั่นอาจทำให้แอนนาต้องติดคุกเพราะพูดโกหก
แอนนาไม่ยอมรับว่าตัวเองคือฟรานเชสก้า ยืนยันไม่รู้จักครอบครัวจากโปแลนด์ การถกเถียงเรื่องตัวตนของเธอยังดำเนินต่อไปแม้เธอจะเสียชีวิตไปก่อน
ในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย มีการขุดที่ฝังศพพระเจ้าซาร์ขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ DNA และพบว่ามีศพสองศพหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซาเรวิชอเล็กเซย์และแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย (ไม่ก็มาเรีย เพราะทั้งสองอายุไล่เลี่ยกัน)
เรื่องนี้ทำให้ข่าวเกี่ยวกับโอกาสรอดชีวิตเป็นไปได้สูงมาก และเคสของแอนนา แอนเดอร์สันก็ถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง – คราวนี้ด้วยการพิสูจน์หลักฐานแบบใหม่คือการตรวจหา DNA
มีการนำตัวอย่าง DNA จากเส้นผมของแอนนา (โชคดีว่าสามีของเธอเก็บปอยผมของภรรยาไว้) ไปประกอบกับเนื้อเยื่อของเธอเธอที่เคยถูกเก็บตัวอย่างไว้ มาเทียบเคียงกับตัวอย่าง DNA จากสองคนคือ
1.DNA ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นญาติของซารีน่าอเล็กซานดร้า เนื่องจากทั้งสองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงอลิซ – ลูกสาวคนที่สองของควีนวิกตอเรีย (ยายของเจ้าชายฟิลิปเป็นลูกสาวคนโตของเจ้าหญิงอลิซ ส่วนซารีน่าอเล็กซานดร้าเป็นลูกสาวคนสุดท้องของเจ้าหญิงอลิซ)
2.DNA จากคาร์ล มัลเชอร์ ญาติของฟรานเชสก้า – คนงานชาวโปแลนด์ที่แกรนด์ดยุกแอร์นส์เคยอ้างว่าคือตัวตนที่แท้จริงของแอนนา
ผลปรากฎว่า DNA ของแอนนา ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ เจ้าชายฟิลิป แต่มีความเกี่ยวข้องคาร์ล มัลเชอร์ จากโปแลนด์ DNA ไม่โกหก ดังนั้นเคสจึงถูกปิดได้ในตอนนั้น แอนนา แอนเดอร์สันไม่ใช่แกรนด์ดัชเชส แต่เป็นคนงานจากโปแลนด์
แล้วแกรนด์ดัชเชสตัวจริงหายไปไหน?
ความหวังหริบหรี่ว่าอนาสตาเซียอาจรอดไปได้ ถูกปิดตายอย่างถาวรเมื่อมีการพบศพอีกสองร่างถูกฝังแยกกันกับหลุมหลัก ห่างกันไปเพียงเล็กน้อย
ตามบันทึกของจาคอป เยรอฟสกี้ – ผู้นำการสังหารพระเจ้าซาร์ เขาได้เขียนรายงานส่งให้เลนนิน กล่าวว่าการจัดการศพของโรมานอฟค่อยข้างยุ่งยากพอควร ตอนแรกเขานำศพทั้งหมดไปฝังในเหมืองเก่า แต่ปรากฎว่าหนึ่งในทีมงานของเขาเกิดเมาแล้วเอาเรื่องไปเล่าให้คนในหมู่บ้าน ทั้งทีมเลยต้องกลับมารื้อศพเพื่อฝังใหม่
อย่างไรก็ดีคืนก่อนหน้านั้นฝนตก ทำให้พื้นกลายดินเป็นโคลน ทีมงานเหนื่อยกับการขนย้ายเลยมีความคิดจะทำลายศพด้วยการเผา เริ่มจากการนำร่างที่มีขนาดเล็กที่สุดสองร่างออกมา ตัดร่างออกเป็นส่วนๆ ราดกรดลงไป ก่อนจุดไฟเผา จุดประสงค์คือการทำลายอัตลักษณ์ให้ไม่สามารถจดจำได้
อย่างไรก็ดีการเผาร่างต้องใช้ไฟแรงและอาศัยเวลานาน ทีมงานที่เหนื่อยเริ่มถอดใจเพราะยังเหลือศพขนาดใหญ่อีก 9 ร่าง จึงทำการฝังสองศพที่ถูกทำลายไว้ด้วยกัน จากนั้นนำศพที่เหลือไปฝังในอีกหลุมแยก
ข้อมูลจากรายงานตรงกับสภาพศพที่ถูกพบในภายหลังเพราะมีสภาพยับเยินกว่าศพในหลุมหลัก เพราะมีทั้งร่องรอยการถูกตัดและถูกเผา
เมื่อเราทราบข้อมูลจากบันทึก การยืนยันต่อไปคือการตรวจหา DNA ซึ่งได้ผลออกมาว่าร่างทั้งสองคือลูกชายและลูกสาวของพระเจ้าซาร์จริง
แม้ผลจาก DNA จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเด็กหญิงในหลุมเป็นอนาสตาเซียหรือมาเรีย แต่นั่นก็มากพอที่จะบอกว่า ไม่มีใครเลยที่รอดจากการสังหารหมู่ไปได้ในคืนนั้น
References:
Mystery of Anastasia by Amanda McBrien, DNA Learning Center
Romanovs: The Missing Bodies | National Geographic
Mysterious Woman Who was Believed to be Russia’s Royal Princess
Imprisoned with the Romanovs: The story of a very unlucky French tutor