ตามรอยอาทิตย์อุทัย ในวันที่ไทยประกาศตัวเป็นกลางในเวทีประนามญี่ปุ่น

“ไทยเป็นประเทศเอกราชเพียงประเทศเดียวที่เข้าใจญี่ปุ่น มีแต่ชาวเอเชียเท่านั้นที่เข้าใจญี่ปุ่น”

หลังการประชุมใหญ่สันนิบาตชาติมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1933 เพิ่งผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ศรีกรุง หนังสือพิมพ์ชั้นนำของไทยก็ได้ยกข้อความจากการประชุม “แปน-เอเชีย” ที่กรุงโตเกียว โดยกล่าวว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นและสมาชิกสมาคมแสดงความขอบคุณไทย ที่เป็นชาติเดียวในสันนิบาตชาติที่สละสิทธิ์ไม่ลงเสียงประณามการรุกรานแมนจูเรียของญี่ปุ่น

ท่าทีของไทยสร้างความแปลกใจให้ทั่วโลก มหาอำนาจตะวันตกมองดูท่าทีแข็งกร้าวของไทยด้วยความไม่พอใจ เป็นครั้งแรกที่ไทยไม่คล้อยตามชาติตะวันตกอย่างที่แล้วมา ผลคะแนน 42 ต่อ 1 (1 เสียงเป็นของญี่ปุ่น) สร้างความตื้นตันให้ผู้แทนของญี่ปุ่นถึงขั้นเดินเข้ามาจับมือตัวแทนฝ่ายไทยแล้วกล่าวว่า “หากไทยต้องการต่อสู้กับตะวันตก ญี่ปุ่นจะยืนเคียงข้างไทย”

เหตุการณ์ในปี 1933 อาจฟังดูไม่คุ้นหูคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราบวกเลขเพิ่มไปเพื่อเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช ตัวเลขที่ว่าอาจทำให้หลายคนพอสร้างความเชื่อมโยงได้ในทันที 1933+543 = 2476 การประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงหนึ่งปีหลังไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของไทยเปลี่ยนจากการตามหลังอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นการแสวงหาพันธมิตรใหม่ในทวีปเอเชีย

สถานะของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีความโดดเด่นอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากจะเป็นชาติชนะสงคราม ยังเป็นชาติเดียวในเอเชียที่ได้นั่งเก้าอี้เป็น 1 ใน 5 มหาอำนาจของสันนิบาตชาติ (League of Nations) แม้ญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในการสร้างชาติให้เป็นสมัยใหม่ แต่กลับไม่สามารถเรียกร้องความเสมอภาคทางชนชาติเนื่องจากสันนิบาตชาติให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นหลัก ส่วนในประเทศไทย ควรบันทึกไว้ว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ชนชั้นนำของไทยไม่ได้ให้ความสนใจกับญี่ปุ่นนัก เนื่องจากนโยบายของไทยในขณะนั้นหันความสนใจไปที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ

1933 ญี่ปุ่นถอนตัวจากสันนิบาตชาติ หลังมีมติให้ถอนทหารจากแมนจูเรีย

เมื่อสายลมแห่งอำนาจเปลี่ยนทิศ แนวคิดของคณะราษฎรกลับมุ่งประเด็นไปที่การปลดไทยออกจากการครอบงำของมหาอำนาจตะวันตก มองหารูปแบบใหม่ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้รุดหน้าต่างจากที่เป็นอยู่ หลวงกาจสงคราม สมาชิกคณะราษฎรกล่าวว่า “การพัฒนาชาติจำเป็นต้องเลียนแบบ มิใช่หลงตัวเองว่าตนเองมีดี”ในขณะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิดคนสำคัญในยุคนั้นกล่าวว่าถ้าจะต้องทำตามใคร การถอดแบบจากญี่ปุ่นนั้นดีที่สุด “ญี่ปุ่นเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจากที่ต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของเขา”

ข่าวสารของการปฎิวัติในไทยเมื่อปี 2475 ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์ The Japan นานนับเดือน ถือเป็นเรื่องแปลกแตกต่างจากการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยก่อนหน้านี้ ท่าทีของไทยในเวทีใหญ่ของนานาชาติยิ่งย้ำเตือนนโยบายของไทยให้เด่นชัด ต่อจากนี้ไปไทยจะให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น ไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ใช่กลุ่มอำนาจดั้งเดิมที่เคยการสนับสนุนชนชั้นศักดินา

แน่นอนว่าชาติตะวันตกมองการกระทำของไทยด้วยสายตาที่เป็นมิตร ไทยสามารถเลือกไม่เข้าประชุมก็ได้ แต่กลับฉีกหน้าด้วยการงดออกเสียงเพียงชาติเดียว แสดงให้เห็นว่าไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายของมหาอำนาจ หนังสือพิมพิ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสกล่าวโจมตีว่าไทยเป็นตัวแทนของญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกมาโต้ประเด็นด้วยการออกแถลงการณ์ว่า “ไทยเป็นกลาง” และการงดออกเสียงคือการวางตัวเป็นกลางในที่ประชุมตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นข้อกล่าวหาต่างๆ ล้วนปราศจากความจริง

นักหนังสือพิมพ์และปัญญาชนไทยในตอนนั้นชื่นชมท่าที่ของประเทศ ในบทความ “คนไทยรู้สึกเรื่องจีนกับญี่ปุ่นอย่างไร” (พ.ศ. 2476) ให้ความเห็นว่าสันนิบาตชาติต้องการให้ญี่ปุ่นคืนแมนจูเรียให้กับจีน เพื่อให้ตนเองสามารถเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในแมนจูเรีย

“การที่สยามไม่ออกเสียงชี้ขาดหรือพิจารณากับพวกเขานั้นเป็นความงามที่เราไม่ยอมจุ่มมือลงไปในบ่อน้ำครำและเป็นความกล้าหาญของเราอย่างยิ่งที่ยึดมั่นอยู่ในหลักการธรรมคืออำนาจ…การที่สยามไม่ออกเสียงลงมตินั้นชอบแล้ว เรามีความกล้าหาญอย่างโดดเดียวที่จักไม่ยอมให้ยุโรปรังแกเอเชียได้เหมือนสมัยก่อนและทุกวันนี้พวกเอเชียที่อยู่ใต้อำนาจยุโรปนั้นมีความสุขดีอยู่หรือ”

1932 ผู้แทนจากจีนแถลงโจมตีญี่ปุ่นจากกรณีรุกรานแมนจูเรีย

อันที่จริงยาสุกิจิ ยาตาเบ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย เพื่อหยั่งท่าทีก่อนการลงมติ โดยฝ่ายไทยได้แจ้งกับตัวแทนของญี่ปุ่นว่า “ไม่ต้องการเป็นศัตรูทั้งกับจีนและญี่ปุ่น” ดังนั้นยาตาเบจึงตีความการงดออกเสียงของไทยว่า “เป็นไปเพื่อแสดงจุดยืนของประเทศ ว่าจากนี้ไปไทยจะตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระ”

การพัฒนาชาติให้เป็นสมัยใหม่ของไทยนั้น แต่ไหนแต่ไรมามักถูกสอนกันว่ามีอยู่สองลักษณะ คือการเดินตามรอยตะวันตกในสมัยล่าอาณานิคม กับเดินตามรอยสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น แท้ที่จริงแล้วไทยเคยมีช่วงเวลาเดินตามญี่ปุ่น เป็นยุคสั้นๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรจนถึงการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2

ญี่ปุ่นนั้นแม้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่แต่กลับถูกโดดเดียวจากนานาชาติ ส่วนประเทศไทย แม้จะเปิดประเทศในช่วงเวลาใกล้กันแต่ความเจริญนั้นกลับต่างกันเป็นอย่างมาก หากญี่ปุ่นกำลังก้าวหน้าหาความยิ่งใหญ่ แล้วทำไมสยามจะก้าวตามไปไม่ได้? ช่วงเวลาสั้นๆ 10 กว่าปี (ราวปี 1932-1945 หรือถ้าเป็นพุทธศักราชคือราวปี 2475-2488 ) คือช่วงเวลาที่ไทยกับญี่ปุ่นสานสัมพันธ์เพื่อร่วมกันสร้างชาติเอเชียให้ทันสมัยต้านอิทธิพลยุโรป

ข้อความจากหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร โดย ณัฐพล ใจจริง

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like