มีเส้นบางๆ ระหว่างนักต้มตุ๋นผู้ชาญฉลาดกับอาชญากรผู้ฉ้อฉลเมื่อเราพูดถึงกลลวงของศิลปินผู้ได้รับการจดจำ (อย่างน้อยก็ในหมู่ชาวดัตช์) ว่าเป็นนักปลอมแปลงงานศิลปะที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์
ฮัน ฟัน เมเคอเรนเริ่มต้นจากการเป็นศิลปินที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาเข้าวงการในช่วงปี 1910 ตอนนั้นโลกศิลปะกำลังให้ความสนใจงานศิลปะแบบโมเดิร์นซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ฟัน เมเคอเรน ถนัด นักวิจารณ์ศิลปะให้ความเห็นกับงานของเขาว่าแม้จะสวยงามแต่ขาดจิตวิญญาณ ฟัน เมเคอเรนขาดตัวตนบางอย่างที่จะทำให้งานของเขาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในวงการศิลปะ
ฟัน เมเคอเรนกล่าวในภายหลังว่าคำวิจารณ์เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เขาพิสูจน์ตัวเอง ในเมื่อคนเหล่านี้ไม่คิดว่าเขามีจิตวิญญาณเป็นของตัวเอง แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าเขาลองสวมวิญญาณเป็นบุคคลอื่น? ตัวเลือกของฟัน เมเคอเรนสนใจ เขาเลือกศิลปินชาวดัตช์ที่เคยใช้ชีวิตเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์เมื่อราว 300 ปีก่อน ศิลปินคนนี้ได้รับคำชื่นชมว่าเก่งกาจเทียบเท่าแรมบรันต์ ชื่อของเขาคือโยฮันเนส เฟอร์เมียร์ (Johannes Vermeer)
โยฮันเนส เฟอร์เมียร์ เป็นศิลปินช่วงศตวรรษที่ 17 เขาเป็นจิตรกรเจ้าของผลงานดังอย่าง Girl with a Pear Earring หรือโมนาลิซ่าจากแดนเหนือ เฟอร์เมียร์มีชีวิตแสนสั้นเพียง 40 กว่าปี ชั่วชีวิตของเขาเต็มไปด้วยปริศนา ไม่มีใครรู้ว่าภาพเขียนของเขาได้อิทธิพลมาจากไหน ใครเป็นคนสอน ที่น่าสนใจคือฟอร์เมียร์ วาดภาพไว้ไม่ถึง 40 ภาพ ประกอบกับว่าผลงานของเขาในช่วงแรกและช่วงหลังมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากเกินไป นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่าคงมีผลงานอีกมากช่วงระหว่างกลางที่น่าจะสูญหายไปกับกาลเวลาและรอการค้นพบ
ฮัน ฟัน เมเคอเรน รู้เป็นอย่างดีว่าวงการศิลปะรอคอยการปรากฏตัวของภาพวาดจากช่วงเวลาปริศนา สิ่งที่เขาทำ คือเติมเต็มจินตนาการและความคาดหวังด้วยภาพวาดแบบเดียวกันกับที่คนส่วนใหญ่พร้อมใจที่จะเชื่อ ในปี 1937 ฟัน เมเคอเรน นำผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งออกสู่สายตา ภาพวาดนี้บอกเล่าฉากในศาสนาคือพระกระยาหารค่ำที่เอ็มมัส (The Supper at Emmaus) ฟัน เมเคอเรน แต่งเรื่องว่าเขาได้รับภาพนี้มาจากครอบครัวชาวดัตช์เก่าแก่ในอิตาลีที่กำลังประสบปัญหาจากการปกครองแบบฟาสซิสต์ของมุโสลินี พวกเขาร้อนเงินต้องการขายภาพโดยมีข้อแม้ว่าชื่อของเขาต้องถูกเก็บเป็นความลับ
ภาพพระกระยาหารค่ำที่เอ็มมัสแน่นอนว่าได้รับความสนใจ แต่ต้องถูกนำไปพิสูจน์ว่าเป็นของจริงเสียก่อน ตอนนั้นเองที่อับราฮัม เบรดี้ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและเจ้าพ่อของวงการเข้ามามีบทบาท ฟัน เมเคอเรนรู้ว่าคำพูดของเบรดี้คือกฎหมาย ถ้าเขาเชื่อว่าภาพนี้เป็นของจริง ทุกคนจะยอมรับโดยไม่มีข้อกังขา นำมาสู่คำถามสำคัญ ฟัน เมเคอเรน หลอกเสือเฒ่าแห่งวงการศิลปะได้อย่างไร
วิธีการของฟัน เมเคอเรน มีจุดเด่นน่าสนใจสองอย่างคือการใช้วิทยาศาสตร์และเรื่องเล่า เขารู้ว่าวงการศิลปะเชื่อเรื่องภาพวาดที่หายไป แนวคิดส่วนใหญคิดว่าภาพวาดของฟอร์เมียร์ ที่ยังไม่ถูกค้นพบน่าจะเป็นภาพวาดทางศาสนา เพราะฟอร์เมียร์เป็นคาทอลิกที่ใช้ชีวิตในสังคมโปรแตสแตนต์ดังนั้นภาพของเขาจึงอาจถูกขายออกไปที่อื่น ฟัน เมเคอเรนเลือกเอาฉากตามพระคัมภีร์มาสร้างให้ข้อสันนิษฐานกลายเป็นความจริง เขายังหลอกการตรวจสอบภาพด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าฟัน เมเคอเรนต้องให้ไม้และผ้าใบที่เก่าที่มีอายุในช่วงศตวรรษที่ 17 เขายังทำสีแบบเดียวกันกับที่ฟอร์เมียร์เคยใช้ ยกตัวอย่างเช่นสีฟ้าที่ทำจากลาพิสลาซูรี่นำเข้าจากอัฟกานิสถาน สีฟ้าจากพิสลาซูรี่มีค่ามากเทียบเท่าทองคำในยุคของฟอร์เมียร์ มันถูกเรียกว่าอัลตร้ามารีน (Ultramarine) และถูกใช้เพื่อตรวจหาภาพวาดในยุคเดียวกัน
อย่างไรก็ดีภาพวาดสีน้ำมันมีปัญหาสำคัญคือมันแห้งช้ามาก กว่าจะสีแห้งสนิทต้องใช้เวลาร่วมร้อยปีทำให้ภาพวาดที่วาดขึ้นใหม่สามารถตรวจจับด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการใช้แอลกอฮอล์เช็ดลงที่สี (ถ้าสียังไม่แห้งสนิทก็จะติดออกมา) ฟัน เมเคอเรน แก้ปัญหานี้ด้วยการใช้เบคิไลต์ ซึ่งเป็นเรซินยุคแรกๆ ผสมเข้าไปในสี สารนี้เข้าไปเคลือบทำให้สีไม่หลุดเมื่อถูกเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ เขายังนำภาพไปอบเพื่อให้แห้งไว จากนั้นนำมาขย้ำให้เกิดรอยแตก วิธีของฟัน เมเคอเรนฟังดูง่าย แต่ถือเป็นวิทยาศาสตร์ล้ำสมัยในยุคนั้น ฟัน เมเคอเรนอ้างว่าตัวเองเจอวิธีนี้โดยบังเอิญจากการอ่านหนังสือ แต่เป็นไปได้ว่าเขาเรียนรู้เทคนิคสมัยใหม่มาจากนักธุรกิจสัญชาติเยอรมันที่ขายสีให้กับบริษัทเรือ สีของเขาผสมเบคิไลต์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสนิมเมื่อโดนน้ำ
หลังได้ลายเซ็นรับรอง ฟัน เมเคอเรน เดินเกมส์อย่างฉลาด ขายภาพวาดให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะโบเอยมันส์ ฟาน เบอนิงเกอ การเสนอขายครั้งนี้ ฟัน เมเคอเรนมีเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกคือผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในบุคคลที่เชื่อเรื่องภาพวาดในช่วงเวลาที่หายไป อีกเหตุผลคือการใช้ความน่าเชื่อถือของพิพิธภัณฑ์เป็นใบเบิกทางให้การขายผลงานชิ้นต่อๆไป
ในปี 1938 ภาพวาดปลอมของ ฟัน เมเคอเรน กลายเป็นดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ความสำเร็จนี้นำเรากลับสู่คำถามสำคัญ หากฟัน เมเคอเรนตั้งใจทำเพื่อแก้แค้นวงการศิลปะจริง เขาก็น่าจะหยุดแค่ตรงนี้และเปิดเผยตัวเองด้วยความสะใจด้วยซ้ำว่าสามารถหลอกคนทั้งวงการได้ แต่ ฟัน เมเคอเรน ไม่หยุด และการหลอกลวงของเขาจะยิ่งไปไกลเมื่อเนเธอร์แลนด์ถูกยึดครองโดยนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามมักมาพร้อมความวุ่นวายเสมอ ฟัน เมเคอเรน เป็นหนึ่งในคนจำนวนไม่น้อยที่สร้างกำไรอย่างงามจากช่วงสงคราม เขาหลอกขายภาพวาดที่อ้างว่าเป็นของเฟอร์เมียร์ บอกว่ามาจากครอบครัวที่รีบหนีสงครามออกนอกประเทศและต้องการเงินสด เขาเคยขายภาพวาดให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไรค์ซมิวเซียม ด้วยราคาที่สูงถึง 1.2 ล้านกิลเดอร์ (ประมาณ 9 ล้านยูโรตามค่าเงินปัจจุบัน หรือประมาณ 3 ร้อย 33 ล้านบาท) แต่นั่นยังไม่ใช่ปลาตัวใหญ่ที่สุดที่ฟัน เมเคอเรนตกได้ เขาขายภาพวาดปลอมอีกภาพ – พระเยซูและหญิงผิดประเวณี (Jesus and the woman taken in adultery)ให้กับ แฮร์มัน เกอริง จอมทัพสูงสุดแห่งจักรวรรดิไรช์ที่ 3 และผู้บัญชาสูงสุดแห่งกองทัพอากาศเยอรมัน (ลุฟท์วัฟเฟอ)
ราคาที่เกอริ่งยอมจ่ายเพื่อภาพของฟอร์เมียร์ สูงถึง 1.6 ล้านกิลเดอร์ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เขาเคยซื้องานศิลปะมา (และน่างานศิลปะที่ทำราคาสูงที่สุดตลอดการซื้อขายในสงครามโลกครั้งที่ 2) เหตุผลที่เกอริ่งยอมจ่าย นอกจากเรื่องศักดิศรีที่ต้องการครอบครองงานศิลปะชั้นครู (เนื่องจากฮิตเลอร์มีงานศิลปะของฟอร์เมียร์ในคอลเลคชั่นแล้วแต่ตัวเขายังไม่มี) ยังอาจมาจากแนวคิดในภาพที่ฟัน เมเคอเรนตั้งใจวาดขึ้นเพื่อเอาใจนาซี ภาพของพระเยซูกับหญิงผิดประเวณีถูกวาดในแบบชาวอารยัน ในขณะที่ชายหนุ่มสองคนด้านหลังซึ่งเป็นผู้กล่าวหาถูกวาดให้มีลักษณ์เป็นชาวยิวและชาวผิวสี
ภาพวาดนี้นำเสนอเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้นำศาสนาพาหญิงซึ่งมีความผิดฐานล่วงประเวณีมาหาพระเยซู หวังจะทำให้พระองค์เสื่อมเสีย เพราะหากพระองค์ทรงบอกให้ปล่อยหญิงคนนี้ไป พวกเขาก็จะอ้างว่าทรงละเมิดกฎหมายของโมเสส แต่หากพระองค์บอกให้ลงโทษเธอเสีย (ในยุคนั้นโทษของหญิงที่ทำผิดประเวณีคือความตาย) ก็จะกลายเป็นว่าทรงไม่มีความเมตตาดังที่กล่าวอ้าง
อย่างไรก็ดีพระเยซูสามารถผลิกสถานการณ์ โดยเชิญคนที่ไม่เคยทำบาปให้ขว้างหินใส่หญิงสาว ปรากฎว่าไม่มีใครกล้าทำสักคนเพราะต่างเคยทำบาป สุดท้ายเมื่อไม่มีกล้า พระเยซูจึงอภัยให้หญิงสาวและกล่าวว่าเธอจงอย่าได้ทำผิดอีก
ภาพวาดของฟัน เมเคอเรนนำเสนอเรื่องราวที่เกอริ่งอยากได้ยิน บอกว่าตัวเขา (เกอริ่ง) เป็นดั่งพระผู้ไถ่ที่เข้ามาปลดปล่อยชาวอารยันออกจากการสูบเลือดของพวกยิวและคนผิวสี เป็นไปได้ว่า ฟัน เมเคอเรน นำแนวคิดนี้มาผสมกับการปลอมแปลงเพื่อสร้างมูลค่าให้ภาพวาดได้อีกหลายเท่าตัว
เรื่องราวของนักต้มตุ๋นอาจจบลงตรงนี้หากไม่มีเหตุการณ์ผลิกผันอีกอย่าง เพราะหลังนาซีพ่ายแพ้สงคราม ความจริงที่ว่าเขาขายศิลปะของชาติให้นาซีเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋า ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาล ฟัน เมเคอเรนที่เสี่ยงจะถูกลงโทษประหารในข้อหาให้ความร่วมมือกับศัตรู ตัดสินใจสารภาพว่าเขาทำภาพปลอมเพื่อตบตาเกอริ่งด้วยเทคนิคต่างๆ เขายังกล่าวว่าภาพที่ตนขายให้พิพิธภัณ์เป็นของปลอม และได้วาดภาพร่างเพื่อบอกว่าส่วนไหนของภาพมีการลงสีกี่ชั้น แก้ไขอย่างไร จนในที่สุดความจริงก็เปิดเผยว่า ฟัน เมเคอเรนเป็นผู้วาดภาพทั้งหมดด้วยตนเองโดยเลียนแบบงานของศิลปินชั้นครู
การเปิดโปงเป็นที่ฮือฮา ประชาชนยกย่องเขาว่าเป็นฮีโรที่สามารถหลอกลวงนาซี หนังสือพิมพ์ดัตช์ยกย่องเขาเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมสูงสุดรองจากนายกรัฐมนตรี ในสังคมหลังสงครามที่ทุกคนมองหาฮีโร่ ฟัน เมเคอเรนเปลี่ยนบทบาทจากอาชญากรผู้ฉ้อฉลกลายเป็นนักต้มตุ๋นที่ชาญฉลาด เขารับโทษเบามากจากการฉ้อโกงโดนตัดสินจำคุกเพียงหนึ่งปี อย่างไรก็ดี ฟัน เมเคอเรนที่อายุมากและสุขถาพไม่ดีเสียชีวิตหลังจากนั้นเพียง 6 สัปดาห์เพราะปัญหาทางสุขภาพ ทิ้งปริศนาให้คนรุ่นหลังว่าสรุปแล้วเขาวาดภาพปลอมของศิลปินท่านอื่นอีกหรือไม่ และวาดไปเป็นจำนวนเท่าไหร่แน่!?
บทบาทของฟัน เมเคอเรน ยังคงเป็นที่ถกเถียงในประวัติศาสตร์ สำหรับชาวดัตช์บางคน ความฉลาดแกมโกงของเขาถูกยกย่องในฐานะวีรบุรุษ แม้แต่ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์ศิลปะโบเอยมันส์ ฟาน เบอนิงเกอ ก็ยังกล่าวถึงเขาด้วยความชื่นชมที่สามารถหลอกผู้เชียวชาญของพิพิธภัณฑ์ได้ แต่ถ้ามองกันในอีกมุม การกระทำของฟัน เมเคอเรนไม่ต่างอะไรจากนักฉวยโอกาส เขาคงตายไปพร้อมกับเงินจำนวนมากหากไม่ถูกจับหลังสงครามและสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้งานของโยฮันเนส ฟอร์เมียร์
เราอาจไม่ควรมองข้ามอีกประเด็นสำคัญที่ไม่แพ้กัน เงินจำนวน 1.2 ล้านกิลเดอร์ ที่ถูกจ่ายให้ฟัน เมเคอเรนเพื่อรักษาภาพปลอมของฟอร์เมียร์ ไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไรค์ซมิวเซียม มาจากกองทุนปกป้องศิลปะวัฒนธรรมแห่งชาติที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันงานศิลปะล้ำค่าไม่ให้ถูกซื้อขายนำออกนอกประเทศในช่วงสงคราม 1.2 ล้านที่ถูกจ่ายไปคิดเป็นจำนวนเงินมากถึง 60% ของเงินทั้งหมดในกองทุน นี่เท่ากับว่าประเทศขาดเงินก้อนใหญ่ที่ควรนำไปใช้รักษางานศิลปะประเภทอื่น
ฮัน ฟัน เมเคอเรนเป็นฮีโร่หรือตัวร้าย? ชื่อเสียงของเขายังคงเป็นที่ถกเถียงมากมายมาจนถึงปัจจุบัน
Reference: แปลและเรียบเรียงจาก Van Meegeren The Forger Who Fooled the Nazis