ซีไนด้า ยูสซูโปว่า เจ้าหญิงที่ว่ากันว่า “สวยและรวยที่สุดในรัสเซีย”

“ความงามของเธอยากจะหาใครเปรียบและกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย”

-อินแฟนต้า ยูลาเลีย เจ้าหญิงแห่งสเปน

“เธอเป็นที่รักของทุกคน นี่เป็นเรื่องจริง เจ้าหญิงเป็นคนน่ารัก มีมนุษยสัมพันธ์ และมีจิตใจที่ดีงาม”

-แกรนด์ดยุกอเล็กซานเดอร์ มิคาอิโลวิช หลานชายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย

“ท่านแม่เป็นคนสง่างาม ท่านมีรูปร่างผอมสูง เส้นผมสีดำสนิทและมีดวงตาที่สว่างไสวราวกับดวงดาว ท่านได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด รักศิลปะ ชอบการพบปะกับผู้รู้ ทุกก้าวที่ท่านเดินผ่าน คล้ายนำแสงสว่างติดตามไปด้วย ทุกคนล้วนตกหลุมรักรอยยิ้มและเสน่ห์ของท่าน”

-เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ ลูกชายของเจ้าหญิงซีไนด้า ยูสซูโปว่า

เป็นที่เลื่องลือว่ารัสเซียเป็นดินแดนของหญิงงาม แต่ถ้าต้องจัดอันดับเจ้าหญิงที่ “งาม” และ “เป็นที่หมายปอง” มากที่สุด หนึ่งในนั้นคงต้องหนีไม่พ้นชื่อของเจ้าหญิงซีไนด้า นิโคลาเยฟน่า ยูสซูโปว่า ซีไนด้าไม่เพียงเป็นเจ้าหญิงที่สวยด้วยรูปลักษณ์แต่ยังมีการศึกษาสูง รักดนตรี ศิลปะ และมีจิตใจโอบอ้อมอารี จนทำให้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแทนความงามตามอุดมคติของจักรวรรดิรัสเซียในศตวรรษที่ 19 หมายถึงทรงเป็นผู้หญิงที่สวยทั้งข้างนอกและงามจากข้างใน

ภาพวาดเจ้าหญิงซีไนดาในปี 1889 โดย V. Bobrov
ภาพวาดเจ้าหญิงซีไนดาในปี 1889 โดย V. Bobrov

ซีไนด้า เจ้าหญิงตัวท็อปที่มาพร้อมรูปโฉมและทรัพย์สมบัติ

เจ้าหญิงซีไนด้าเป็นคนผอม/สูง และมีเส้นผมสีดำสนิทและมีดวงตาสีเทาสว่าง ตรงตามความนิยมของรัสเซียในยุคนั้นที่มองว่าหญิงงามควรมีเส้นผมสีเข้ม นัยตาสีอ่อน ทรงเป็นธิดาคนเดียวของเจ้าชายนิโคลัส ยูสซูปอฟ ตระกูลเก่าแก่ที่มีเส้นสายและเงินทองล้นเหลือ กล่าวกันว่าทรัพย์สินและที่ดินของตระกูลนี้ จะเป็นรองก็แค่ราชวงศ์โรมานอฟเพียงเท่านั้น

เจ้าหญิงได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดของยุค ทรงรักศิลปะและอุปถัมภ์ศิลปินหลายท่าน มาริเอล บูแคนัน บุตรสาวเอกอัคราชทูตอังกฤษคนสุดท้ายในจักรวรรดิรัสเซีย กล่าวถึงเจ้าหญิงซีไนด้าว่า

“เธอพร้อมที่จะให้เสมอ ด้วยจิตใจเมตตาและสายตาที่ปราศจากความคาดหวัง เจ้าหญิงไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ท่านยินดีช่วยเหลือผู้เดือดร้อน อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ชื่อเสียง ที่ดิน และทรัพย์สินของท่าน โดยไม่เคยออกหน้าป่าวประกาศ”

ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ตระกูลยูสซูปอฟ ครอบครองที่ดินกว่า 270,000 เฮกเตอร์ ใน 17 จังหวัด เจ้าหญิงมีโรงงานน้ำตาล โรงงานอิฐ โรงงานปั่นฝ้าย โรงสี และเหมืองจำนวนมากในครอบครอง ทั้งหมดนี้ทำให้ เจ้าหญิงซีไนด้า กลายเป็นเจ้าสาวในฝันของผู้ชายมากมาย (ญาติคนหนึ่งของตระกูลถึงขั้นกล่าวว่า ซีไนด้าไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามรดกของเธอมีอยู่เท่าไหร่เพราะนับไม่ไหวจริงๆ)

ภาพวาดเจ้าหญิง ผลงานโดย Flameng, Francois ในภาพนี้ จะพบว่าส่วนที่งดงามที่สุดคือดวงตาสีเทาของพระองค์
Flameng, Francois. Portrait of Princess Z. N. Yusupova

ใครจะคว้าใจเจ้าหญิงรูปงาม?

บรรดาผู้สมัครตำแหน่งเจ้าบ่าว มีทั้งเจ้านายจากสายราชวงศ์ฝรั่งเศส มกุฎราชกุมารบัลกาเรีย และเชื้อพระวงศ์ระดับแกรนด์ดยุกอีกไม่น้อยกว่าสองท่าน แต่ชายที่ซีไนด้าเลือกนั้นออกจะเกินความคาดหมาย ทรงมอบความรักให้ชายที่แม้มาจากตระกูลขุนนาง แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยเงินตราหรืออำนาจมากเท่า หนุ่มผู้โชคดีคนนี้มีชื่อว่า เฟลิกซ์ เฟลิโซวิช ซูมาโรนอฟ-เอสตัน สุภาพบุรุษจากตระกูลขุนนางเก่าแก่และมีเชื้อสายสืบทอดจากราชวงศ์ปรัสเซีย เฟลิกซ์เป็นนายทหารพูดน้อยชอบอยู่บ้าน เขาได้รับคำบรรยายว่า “สูงสง่า รูปร่างดี และหล่อเหลา เขามีผมสีดำ ดวงตาสีดำ เป็นหนุ่มรูปงามพร้อมด้วยการศึกษาและมีท่าทางกระฉับกระเฉง”

ทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานในปี 1882 สองปีต่อมาเจ้าชายนิโคลัส ยูสซูปอฟ บิดาของเจ้าหญิง ยื่นคำร้องต่อพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ขอมอบนามสกุล ที่ดิน ทรัพย์สิน ตราประจำตระกูล และบรรดาศักดิ์ “เจ้าชายแห่งยูสซูปอฟ” ให้ลูกเขย คำร้องได้รับการอนุมัติสามปีหลังจากเจ้าชายนิโคลัสเสียชีวิต

เจ้าชายและเจ้าหญิงยูสซูปอฟมีชีวิตสมรสที่มีความสุข ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันสองคนคือเจ้าชายนิโคลัส และ เจ้าชายเฟลิกซ์ ทั้งสองได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นสองสุภาพบุรุษที่งามที่สุดในรัสเซีย น่าเสียดายที่นิโคลัส – พี่ชายคนโต อายุสั้น เขาตกหลุมรักผู้หญิงที่มีคู่หมั้นอยู่แล้วจนนำไปสู่การดวลปืนที่จบลงด้วยความตาย นิโคลัสถูกยิงเข้าที่หน้าอก เสียชีวิตคาที่ เจ้าหญิงซีไนด้าเสียใจมาก หลายคนมองว่าการตายของนิโคลัสมาจากคำสาปของตระกูลยูสซูปอฟที่บอกว่า ตระกูลนี้จะมีลูกชายสืบสกุลแค่ 1 คน ในหนึ่งรุ่น ทายาทชายคนอื่น จะต้องตายก่อนอายุครบ 26

คำสาปตระกูลยูสซูปอฟ

คำสาปที่ว่าย้อนกลับไปในสมัยที่ตระกูลยูสซูปอฟทรยศข่านมุสลิมแห่งอาณาจักรโกลเดนฮอร์ด เพื่อมาเข้ากับแกรนด์ดยุกแห่งมอสโก ต่อมาตระกูลของเจ้าหญิงเปลี่ยนมานับถือออโธดอกซ์ และได้รับพระราชทานยศ “เจ้าชายแห่งยูสซูบอฟ” คำสาปนี้เป็นจริงแค่ไหนไม่มีใครทราบ ตระกูลยูสซูปอฟแม้จะร่ำรวยมาก แต่ก็มักจบด้วยการมีลูกโทนติดต่อกันมาหลายรุ่น ซีไนด้าเป็นลูกสาวคนเดียว (พี่น้องคนอื่นเสียตั้งแต่เด็ก) พ่อของเธอเป็นลูกชายคนเดียว ปู่ของเธอเป็นลูกชายคนเดียว (พี่ชายอีกคนตายตั้งแต่เด็ก) ส่วนทวดของเธอก็เป็นทายาทชายคนเดียวที่รอดชีวิตถึงวัยผู้ใหญ่ ตอนที่เจ้าชายนิโคลัสสิ้นพระชนม์ ทรงมีอายุ 25 ปี ตรงกับคำสาปที่ว่าทายาทชายจะต้องตายก่อนอายุ 26 ทิ้งให้เจ้าชายเฟลิกซ์ – ลูกชายคนเล็ก กลายเป็นทายาทชายเพียงคนเดียวของรุ่น

ซีไนด้า สามี และลูกชายทั้งสอง
ซีไนด้า สามี และลูกชายทั้งสอง

เจ้าชายเฟลิกซ์จะเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ในฐานะชายผู้ปลิดชีพรัสปูติน (แม้เราจะไม่รู้แน่ชัดว่ารัสปูติดตายด้วยกระสุนของใครหรือสาเหตุไหนแน่) ทรงกล่าวถึงครอบครัวของพระองค์ว่า เจ้าหญิงซีไนด้า – พระมารดา ทรงปฏิเสธการแต่งงานเพื่อฐานะอำนาจ แต่ปรารถนาครอบครัวที่ก่อสร้างด้วยความรัก เจ้าหญิงมีคติประจำใจในการเลี้ยงลูกว่า “ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องตอบแทนผู้อื่นมากเท่านั้น”

เฟลิกซ์ - ลูกชายของเจ้าหญิงซีไนด้า (ผู้สังหารรัสปูติน) ต่อมาสมรสกับเจ้าหญิงอิริน่า หลานสาวพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
เฟลิกซ์ – ลูกชายของเจ้าหญิงซีไนด้า (ผู้สังหารรัสปูติน) ต่อมาสมรสกับเจ้าหญิงอิริน่า หลานสาวพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

ครอบครัวยูสซูปอฟหลังการปฏิวัติรัสเซีย

ในปี 1900 เมื่อสถานการณ์ในรัสเซียเริ่มส่อเค้าไม่ปลอดภัย เจ้าชายและเจ้าหญิงยูสซูปอฟทำพินัยกรรมไว้ฉบับหนึ่ง ระบุว่าหากเกิดเหตุร้ายกับครอบครัว หรือตระกูลยูสซูปอฟไร้ผู้สืบทอด/ไม่สามารถอาศัยในประเทศรัสเซีย ทรัพย์สินทั้งหมดที่เหลือไว้ในแผ่นดินรัสเซียให้ตกเป็นสมบัติของประเทศ

ครอบครัวยูสซูปอฟอพยพลี้ภัยจากรัสเซียในปี 1919 และไม่เคยได้กลับมาอีก ร่างของเจ้าชายและเจ้าหญิงยูสซูปอฟ เจ้าชายเฟลิกซ์ผู้สังหารรัสปูตินและพระชายา ถูกฝังในโบสถ์รัสเซีย ออร์โธดอกซ์ ในกรุงปารีส เจ้าหญิงอิริน่า ลูกสาวคนเดียวของเจ้าชายเฟลิกซ์ สมรสกับเคานต์นิโคไล เชเรเมเตฟ ตระกูลเก่าแก่จากรัสเซียที่จบลงด้วยการลี้ภัยในปารีส ทั้งสองมีลูกสาวคนเดียวคือเคานต์เตสเชเนีย นิโคลาเยฟน่า ยูสซูโปว่า

พระราชวังยูซูปอฟที่รัสเซีย ปัจจุบันเปิดให้เข้าชม
พระราชวังยูซูปอฟที่รัสเซีย ปัจจุบันเปิดให้เข้าชม
ด้านในของพระราชวัง มีความหรูหราไม่น้อยไปกว่าวังของพระเจ้าซาร์ มีกระทั่งโรงละครอยู่ด้านใน
ด้านในของพระราชวัง

เชเนีย นิโคลาเยฟน่า ยูสซูโปว่า เหลนสาวคนเดียวของเจ้าหญิงซีไนด้าเพิ่งมีโอกาสกลับรัสเซียในปี 2000 หลังทั้งครอบครัวลี้ภัยไปกว่า 70 ปี เธอได้รับสัญชาติรัสเซียในท้ายที่สุด ว่ากันว่าทรัพย์สินที่ตระกูลยูสซูปอฟว่าทิ้งไว้ในรัสเซียมีมูลค่ามหาศาล แค่งานศิลปะที่เก็บไว้ในวังยูสซูปอฟแค่แห่งเดียว ก็มีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นชิ้น ทั้งหมดนี้ตกเป็นสมบัติของแผ่นดินตามที่เจ้าหญิงซีไนด้าได้เคยทำพินัยกรรมไว้

เชเนีย นิโคลาเยฟน่า ยูสซูโปว่า เหลนสาวคนเดียวของเจ้าหญิงซีไนยด้าเข้าพบวลาดิเมียร์ ปูติน
เชเนีย นิโคลาเยฟน่า ยูสซูโปว่า เหลนสาวคนเดียวของเจ้าหญิงซีไนยด้าเข้าพบวลาดิเมียร์ ปูติน

ในปี 2004 ทาเทียน่า ลูกสาวคนเดียวของเชเนียให้กำเนิดทายาทคนล่าสุดของตระกูลเป็นสาวน้อยน่ารักนาม “มาเรียลย่า” ตามมาด้วยลูกสาวอีกคนคือ “ยาสมิน่า” สายเลือดของตระกูลเก่าแก่ยังดำเนินต่อไป น่าดีใจที่ตระกูลยูสซูปอฟไม่มีลูกชาย คำสาปร้ายจึงไม่เกิดขึ้นอีกเลยหลังการปฏิวัติรัสเซีย

References:

Reference The History of Yusupovs Dynasty, The Yusupov Palace (Saint-Petersburg palace of Culture and Educators), SilverLines Publishing, 2006

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like