เบื้องหลังการท้องและแท้งนับสิบครั้ง เกิดอะไรกันในมดลูกของควีนแอนน์?

12 พฤษภาคม 1684 แท้งลูกสาว

2 มิถุนายน 1685 – 8 กุมภาพันธ์ 1687 เจ้าหญิงแมรี่เสียชีวิตจากไข้ทรพิษ (อายุ 1 ขวบ 8 เดือน)

12 พฤษภาคม 1686 – 2 กุมภาพันธ์ 1687 เจ้าหญิงแอน โซเฟียเสียชีวิตจากไข้ทรพิษ (อายุ 9 เดือน)

21 มกราคม 1687 ลูกชายตายคลอด

22 ตุลาคม 1687 ลูกชายตายคลอด (อายุครรภ์เพียง 7 เดือน หมอระบุว่าทารกตายในท้องมานานร่วมเดือนแล้ว)

16 เมษายน 1688 แท้ง

24 กรกฎาคม 1689 – 30 กรกฎาคม 1700 เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ สิ้นพระชนม์ในวัย 11 ปีจากไข้ทรพิษ เจ้าชายได้รับการบันทึกว่าเป็นเด็กอ่อนแอแต่กำเนิด และมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คือมีน้ำเข้าไปเลี้ยงโพรงสมองและไขสันหลังมากไป ทำให้การทำงานของร่างกายและสมองบกพร่อง

14 ตุลาคม 1690 เจ้าหญิงแมรี่คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์ 7 เดือน เจ้าหญิงเสียชีวิตหลังลืมตาดูโลกเพียง 2 ชั่วโมง

17 เมษายน 1692 เจ้าชายจอร์จลืมตาเพียงไม่กี่นาที บาทหลวงทำพิธีล้างบาปก่อนส่งเจ้าชายน้อยคืนให้พระผู้เป็นเจ้า

23 มีนาคม 1693 ลูกสาวตายคลอด

21 มกราคม 1694 แท้ง

17-18 กุมภาพันธ์ 1696 แท้งลูกสาว

20 กันยายน 1696 แท้งลูกชาย (คาดว่าเป็นแฝด)

25 มีนาคม 1697 แท้ง

2 ธันวาคม 1697 แท้ง (อาจเป็นลูกแฝด)

15 กันยายน 1698 ลูกชายตายคลอด (น่าจะเสียชีวิตในครรภ์มารดามาแล้ว 8-10 วัน)

24 มกราคม 1700 ลูกชายตายคลอด (เด็กคลอดเมื่ออายุครรภ์ 7.5 เดือน น่าจะตายในครรภ์มารดามาได้ร่วมเดือนแล้ว)

ระหว่างปี 1684-1700 แอนน์ ราชินีแห่งอังกฤษ ตั้งครรภ์ 17 ครั้ง (บ้างก็นับเป็น 18) จบลงด้วยความสูญเสีย 17 หน ในบรรดาบันทึกการคลอด มีเพียงเจ้าหญิงแมรี่ เจ้าหญิงแอน โซเฟีย และเจ้าชายวิลเลียมเท่านั้นที่สิ้นพระชนม์เพราะโรคภัย (ไข้ทรพิษ) การตั้งครรภ์อีก 14 ครั้งของควีนแอนน์ ถือเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครรภ์มารดาหรือระหว่างการคลอด ตัวเลขนี้สูงมากจนน่าสงสัย เกิดอะไรขึ้นกันแน่?

ควีนแอนน์แห่งอังกฤษ ราชินีคนสุดท้ายของราชวงศ์สจ๊วต
ควีนแอนน์แห่งอังกฤษ

หรือการท้องและแท้งจะเป็นพันธุกรรมของครอบครัว?

มองกันที่ประวัติครอบครัว แอนน์ ไฮด์ พระมารดาของควีนแอนน์ คลอดลูกทั้งหมด 8 ครั้ง แต่มีลูกสาวเพียงสองคนที่รอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ (คือเจ้าหญิงแมรี่ ต่อมาคือควีนแมรี่ที่ 2 และเจ้าหญิงแอนน์ ต่อมาคือควีนแอนน์) พี่น้องอีก 6 คน ของควีนแอนน์ล้วนเสียชีวิตก่อนอายุ 4 ขวบ

น้าสาวของพระองค์ ฟรานซิส ไฮด์ มีประวัติที่แย่กว่า ตลอดการคลอดลูก 9 ครั้ง (ลูกสาว 2 คน ลูกชาย 7 คน) มีลูกสาวคนเดียวที่รอดชีวิตถึงวัยผู้ใหญ่ (ลูกของฟรานซิสเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอดถึง 4 คน)

เจ้าหญิงแมรี่ พี่สาวของควีนแอนน์ สมรสกับวิลเลียมแห่งออเรนจ์ตอนอายุ 15 แม้ว่าทั้งสองจะได้ขึ้นเป็นราชาและราชินีอังกฤษ แต่แมรี่ก็ไม่สามารถมอบทายาทให้ราชบัลลังก์ได้ พระองค์ตั้งครรภ์และแท้งในช่วงปีแรกๆ ของการสมรส จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทรงตั้งครรภ์อีก

มาลองดูเคสอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอนน์ทางสายเลือดดูบ้าง แมรี่แห่งโมดิน่า พระมารดาเลี้ยงของควีนแอนน์ มีบันทึกว่าท้อง 12 ครั้ง 6 ในนั้นจบลงด้วยการแท้ง ทารก 4 คนเสียชีวิตตั้งแต่เด็กเพราะโรคภัย มีเพียง 2 จาก 12 ที่สามารถเติบโตถึงวัยผู้ใหญ่

หากพิจรณาจากประวัติครอบครัวและสถิติการตายของทารกในยุคเดียวกัน อัตราการตายของเด็กเล็กเพราะโรคต่างๆ อย่างไข้ทรพิษถือไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับยุคสมัย อย่างไรก็ดีควีนแอนน์ยังมีการตั้งครรภ์อีก 14 ครั้งที่ล้มเหลวเพราะภาวะในครรภ์มารดา นำไปสู่ข้อสงสัยว่าความผิดปกตินี้มีที่มาจากโรคประจำตัวอื่นๆ หรือไม่

แอนน์สมรสกับเจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กตั้งแต่อายุ 18 ปี และตั้งท้องติดๆ กันเป็นเวลานานถึง 17 ปี พระองค์มีบันทึกว่าตั้งครรภ์เป็นครั้งสุดท้ายตอนอายุ 35 ส่วนสาเหตุที่ทั้งสองไม่มีลูกด้วยกันอีกหลังจากนั้น เป็นเพราะสุขภาพของทั้งสองเลวร้ายลงเป็นอย่างมาก ฝ่ายชายเป็นเบาหวาน ส่วนฝ่ายหญิงมีปัญหารุมเร้าทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและโรคไขข้ออักเสบเรื้อรังจนต้องนั่งรถเข็นแทบจะตลอดเวลา

ข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความผิดปกติของควีนแอนน์

การแพทย์ยุคปัจจุบันสันนิษฐานเรื่องการล้มเหลวทางการตั้งครรภ์ของควีนแอนน์ว่าอาจมาจากภาวะ Rh Hemolytic disease of fetus and newborn (Rh HDFN) เกิดจากมารดามีหมู่เลือดเป็น Rh Negative แต่ตั้งท้องลูกที่มีหมู่เลือด Rh positive ทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีชนิดหนึ่งเรียกว่า anti-D ที่ส่งผลกับทารกคนต่อไป โดยหากตั้งครรภ์บุตรที่มีหมู่เลือด Rh positive อีก แอนติบอดีจากแม่จะไหลผ่านรกเข้าไปในระบบไหลเวียนของลูก ทำให้เม็ดเลือดแดงของเด็กถูกทำลายจนถึงแก่ชีวิตได้

ควีนแอนน์ในภาพยนต์เรื่อง The Favourite (2018) นำแสดงโดย Olivia Colman นักแสดงคนเดียวกันที่รับบทควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในซีรีย์ดัง The Crown
ควีนแอนน์ในภาพยนต์เรื่อง The Favourite (2018) นำแสดงโดย Olivia Colman นักแสดงคนเดียวกันที่รับบทควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในซีรีย์ดัง The Crown

อย่างไรก็ดี ในทางวิทยาศาสตร์ anti-D ควรเพิ่มขึ้นหลังการตั้งครรภ์ลูกคนแรก (หลังคลอดบุตรคนแรกที่มีหมู่เลือด Rh positive จะตรวจพบ anti-D ได้ประมาณร้อยละ 1 แต่ถ้าตรวจหลังคลอดบุตรคนที่ 2 หรือหลังจากนั้น อัตราการตรวจพบ anti-D จะเพิ่มข้ึนเป็นประมาณร้อยละ 17) แปลว่าลูกที่แอนน์คลอดน่าจะมีโอกาสรอดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับสถิติของพระองค์นัก เพราะเจ้าชายวิลเลียม ลูกชายของแอนน์ที่รอดชีวิตนานที่สุด ก็ไม่ใช่ลูกคนแรกๆ แต่เป็นลูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์รอบที่ 7

อีกทฤษฎีหนึ่งถูกเสนอโดยแอนน์ ซัมเมอร์เซ็ท นักประวัติศาสตร์ผู้ทำการศึกษาประวัติของควีนแอนน์ ซัมเมอร์เซ็ทเสนอว่า อาการของพระองค์น่าจะตรงกับกลุ่มอาการ Antiphospholipid syndrome (APS) ซึ่งจัดเป็นโรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ส่วนในสตรีที่ตั้งครรภ์ โรคนี้อาจทำให้เกิดการแท้งซ้ำซาก เด็กในครรภ์เจริญเติบโตช้าจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต และอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะการคลอดก่อนกำหนด อาการที่ว่านี้หากเกิดในปัจจุบันก็ยังถือเป็นเรื่องเสี่ยงที่ต้องปรึกษาแพทย์และดูแลอย่างใกล้ชิด อาจต้องทานยาในกลุ่มแอสไพรินหรือฉีดยาที่ต่อต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดการตั้งครรภ์ ส่วนในยุคของควีนแอนน์นั้น แน่นอนว่าภาวะนี้ยังไม่สามรถตรวจพบได้

The Favourite นำเสนอความสูญเสียลูกๆ ของควีนแอนน์ แทนนด้วยการเลี้ยงกระต่ายที่หมายถึงเจ้าชายเจ้าหญิงแต่ละพระองค์
The Favourite นำเสนอความสูญเสียลูกๆ ของควีนแอนน์ แทนนด้วยการเลี้ยงกระต่ายที่หมายถึงเจ้าชายเจ้าหญิงแต่ละพระองค์

ทุกวันนี้อาการของควีนแอนน์ยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่สามารถสรุปฟันธงได้ อย่างไรก็ดี การท้องและแท้งหลายครั้งส่งผลสำคัญต่อสุขภาพของพระองค์ เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าราชินีคนสุดท้ายของราชวงศ์สจ๊วตคงไม่สามารถมอบทายาทคนต่อไปให้อังกฤษ จึงมีการวางตัวทายาทลำดับต่อไปให้กับโซเฟีย แห่งฮาโนเวอร์ หลานสาวของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ที่แต่งงานไปปกครองแผ่นดินในเยอรมัน โซเฟียและแอนน์ถือว่ามีปู่(และทวด) คนเดียวกัน จึงถือว่าเป็นญาติลำดับสอง แต่เพราะโซเฟียเสียชีวิตก่อนแอนน์เพียงไม่กี่เดือน มงกุฎอังกฤษจึงตกเป็นของลูกชายคือพระเจ้าจอร์จที่ 1 กษัตริย์อังกฤษคนแรกแห่งราชวงศ์ฮาโนเวอร์

การสวรรคตของแอนน์ในปี 1714 ถูกบรรยายว่าเป็นความหอมหวานครั้งสุดท้ายเพื่อปลดปล่อยราชินีผู้ทุกข์ระทมออกจากความทรงจำที่แสนทรมาน

ควีนแอนน์ หลังจากตั้งครรภ์และแท้งไปหลายครั้ง ส่งผลอย่างหนักต่อสุขภาพ
ควีนแอนน์ หลังจากตั้งครรภ์และแท้งไปหลายครั้ง ส่งผลอย่างหนักต่อสุขภาพ

References:

WHAT HAPPENED TO QUEEN ANNE’S CHILDREN? Stuart history documentary

Queen Anne – 18 Pregnancies, No Living Children

Rh Negative Blood and Pregnancy

โรค APS ในสตรีตั้งครรภ์

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like