ควีนเอลิซาเบธที่ 1 ราชินีคนสุดท้ายจากสายราชวงศ์ทิวเดอร์เป็นที่รู้จักกันในฐานะราชินีพรหมจารีย์ ช่วงเวลาของพระนางเป็นยุครุ่งเรืองของอังกฤษอย่างไม่ต้องสงสัย ยุคสมัยที่ไม่เหมือนใครและเต็มไปด้วยสีสันยังทอดเงาสีจางๆ ให้เราสัมผัสผ่านงานเขียนของวิลเลียม เชกสเปียร์ มหากวีผู้โด่งดังของอังกฤษ
ในยุคที่เชกสเปียร์เริ่มก้าวสู่วงการละคร ควีนเอลิซาเบธนั้นทรงเริ่มชราภาพ พระองค์ไม่มีทายาทและไม่แต่งตั้งใครเป็นผู้สืบทอดอย่างชัดเจน สูญญากาศทางอำนาจเป็นเรื่องอันตราย คำถามที่ว่า “ใครจะเป็นกษัตริย์/ ราชินีคนต่อไป?” และ “การเปลี่ยนผ่านอำนาจจะดำเนินไปในแบบไหน” กลายเป็นแกนกลางของประเด็นร้อนที่ทุกคนล้วนถกเถียง
เชกสเปียร์ใช้บทละครของเขา นำผู้ชมมองย้อนเพื่อสำรวจเส้นทางที่เป็นไปได้ของการเปลี่ยนแผ่นดินอังกฤษนับจากนี้ซึ่งมีตั้งแต่ การลอบสังหาร (Hamlet), การสังหารในที่สาธารณะ (Julius Caesar), สงครามกลางเมือง (Henry VI), การบังคับให้สละราชสมบัติ (Richard II), การแย่งชิงบัลลังก์ (Richard III), การสืบทอดบัลลังก์ตามสายโลหิต (Henry V) ไม่ว่าทางไหน ก็แทบหนีไม่พ้นความวุ่นวาย
งานเขียนมากมายของเชกสเปียร์เป็นเสียงสะท้อนทางอ้อมถึงความ ไม่ปลอดภัย ความสงสัย กระทั่งเป็นการเตือนภัยถึง “อันตราย” ที่ลอยอยู่ในอากาศ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เอลิซาเบธตัดสินใจเลือกทางนี้? บางทีเราอาจควรเริ่มศึกษาเส้นทางชีวิตของราชินี ตั้งแต่วันแรกที่ทรงลืมตาดูโลก
7 กันยายน 1533 คือวันเกิดของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระมารดาของพระองค์คือพระนางแอนน์ โบลีน ราชินีคนที่ 2 ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เป็นที่ทราบกันว่าพระเจ้าเฮนรี่ผิดหวังเป็นอย่างมากเพราะทรงต้องการลูกชายสำหรับสืบราชบัลลังก์ 2 ปีให้หลังแอน โบลีน ถูกประหารชีวิตในข้อหาใช้มนต์ดำและคบชู้ ข้อมูลในปัจจุบันบอกให้เรารู้ว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นการป้ายสี อย่างไรก็ดี เจ้าหญิงเอลิซาเบธกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ
24 ตุลาคม 1537 พระนางเจน ซีมัวร์ แม่เลี้ยงคนใหม่และราชินีคนที่ 3 ของเฮนรี่ เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหลังการคลอดลูกชาย (เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6) เอลิซาเบธเพิ่งอายุ 4 ปี
13 กุมภาพันธ์ 1542 เอลิซาเบธอายุ 8 ปี ตอนพระนางแคทเธอรีน ฮาเวิร์ด แม่เลี้ยงยังสาวและราชินีคนที่ 5 ถูกประหารด้วยข้อหาคบชู้ เฮนรี่อยู่ต่อมาไม่นานนับจากนั้น ทรงสิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 มกราคม 1547 ในขณะที่เจ้าหญิงมีอายุเพียง 13 ปี พระนางแคทเธอรีน พาร์ ราชินีคนที่ 6 และแม่เลี้ยงคนสุดท้ายแต่งงานใหม่แทบจะในทันที สามีคนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นโทมัส ซีมัวร์ พี่ชายของอดีตราชินีเจนซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้า
เอลิซาเบธย้ายตามแคเธอรีน พาร์ ไปยังบ้านหลังใหม่ ในช่วงเวลาไม่ถึงปี เชื่อกันว่าเอลิซาเบธถูกล่อล่วง หรืออาจถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยโทมัส ซีมัวร์ เป็นไปได้ว่าแคทเธอรีน พาร์ทราบเรื่องนี้เข้า และได้ตัดสินใจส่งตัวเอลิซาเบธออกจากบ้านในช่วงที่พระนางเริ่มเริ่มตั้งครรภ์ น่าเสียดายที่แคทเธอรีน หญิงสาวผู้เปรียบเสมือนแม่ของเอลิซาเบธเสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนต่อมาจากภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด
10 ปีต่อมา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1558 ควีนแมรี่ที่ 1 พี่สาวคนละแม่ของเอลิซาเบธสวรรคตเจ้าหญิงทรงได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นราชินีคนใหม่ ทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา ยังไม่ได้แต่งงาน และที่สำคัญ เป็นโปรแตสแตนท์
อ่านมาถึงตอนนี้หลายคนอาจสันนิษฐานได้ไม่ยาก เรื่องราวเลวร้ายในชีวิตของเจ้าหญิง มักเกี่ยวกับ การแต่งงาน การมีลูก และการการถูกกดทับทางเพศโดยผู้ชาย ในทางจิตวิทยา มีการสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเจ็บปวดกับเหตุการณ์เหล่านี้จนมีแผลทางใจและไม่คิดแต่งงาน แต่เรื่องความหลังฝังใจ อาจไม่ใช่เหตุผลเดียว
ในปี 1985 เคยมีบทความสำคัญ สันนิษฐานเรื่องการไม่ยอมแต่งงานของราชินี โดยกล่าวว่าเอลิซาเบธอาจป่วยเป็นโรค Testicular feminization หรือ กลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (androgen insensitivity syndrome; AIS) ผู้ป่วยเป็นโรคนี้เกิดมามีโครโมโซม XY และควรเป็นเพศชาย แต่เกิดการต่อต้านแอนโดรเจนทำให้การแสดงลักษณะเพศชายไม่ปรากฏ
กลับกันผู้ป่วยบางคนมีทุกอย่างภายนอกเป็นผู้หญิง ทั้งหน้าตา หรือแม้แต่อวัยวะเพศ แต่กลับไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากภายในไม่มีมดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ แต่กลับมีอัณฑะซ่อนอยู่ในท้อง หรือขาหนีบ ความคิดนี้อธิบายว่า เอลิซาเบธนั้นมีความสูงมากกว่าสตรีทั่วไป คือประมาณ 5.5 ฟุต หรือราว 167 เซนติเมตร ในขณะที่ผู่ชายในยุคนั้นมักสูงกัน 170-175 เซนติเมตร (พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ที่สูงถึง 188 เซนติเมตรจึงจัดว่าสูงมาก) ทรงชอบเล่นกีฬาและทำผลงานได้ดีกว่าผู้หญิงทั่วไป และจากภาพวาด บ่งบอกว่าพระนางมีนิ้วมือที่ยาวมาก
แนวคิดนี้เป็นที่ถกเถียง เพราะหากจะพูดกันเรื่องความสูง พระนางแมรี่ ราชินีแห่งสก็อตแลนด์ ก็มีความสูงถึงมากถึง 5 ฟุต 11 นิ้ว หรือประมาณ 180 เซนติเมตร ถือว่าสูงยิ่งกว่าผู้ชายทั่วๆ ไป และการวัดความยาวนิ้วมือจากภาพก็ไม่ใช่เรื่องน่าเชื่อถือ (แม้ว่าจะมีการอ้างถุงมือจริงที่เอลิซาเบธเคยใส่ แต่ก็มีข้อโต้แย้งในบันทึกร่วมสมัยที่กล่าวว่าแอนน์ โบลีนเคยส่งเครื่องยืดนิ้วให้ลูกสาว เพราะต้องการให้เด็กหญิงโตมามีนิ้วมือที่ยาวสวย ความยามของนิ้วมือ อาจเป็นหลักฐานสื่อถึงความใส่ใจที่แอนน์มีต่อลูกสาว มากกว่าข้อบ่งชี้ว่าพระองค์มีความผิดปกติทางโครโมโซม)
สิ่งที่ขัดแย้งความจริงอย่างมาก คือหากราชินีแห่งอังกฤษไม่สามารถมีทายาทได้จริง (เนื่องจากไม่มีประจำเดือน) เรื่องนี้ไม่น่าเป็นความลับ เป็นที่ทราบกันว่าทุกราชสำนักในยุโรปล้วนมีสายสืบในประเทศเพื่อนบ้าน พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิชี ราชินีฝรั่งเศสยังสามารถแอบให้จิตรกรฝรั่งเศส วาดภาพควีนเอลิซาเบธเป็นการลับ ‘ในหลายอิริยาบถ ทั้งแบบหน้าตรงและแบบหันข้าง’ เพื่อนำมาพิจารณาในฐานะว่าที่ลูกสะใภ้
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 กษัตริย์แห่งสเปนอดีตพี่เขยของเอลิซาเบธ (พระสวามีของของควีนแมรี่ที่ 1) ใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษมาหลายปี และเคยถึงขั้นขอแต่งงานกับอดีตน้องภรรยา เป็นไปไม่ได้เลยที่คนใกล้ชิดระดับพระองค์จะไม่ทรงทราบหากเอลิซาเบธไม่มีประจำเดือนเหมือนหญิงทั่วไป พระเจ้าฟิลิปในขณะนั้นยังไม่มีทายาท (เจ้าชายกาลอส พระบุตรจากการสมรสครั้งแรกเป็นบุคคลจิตวิปลาสไม่สามารถขึ้นครองบัลลังก์) และปัญหาผู้สืบทอดสเปนถือเป็นเรื่องใหญ่
เป็นไปได้อย่างไรที่ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 และ พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิชี สองประเทศยิ่งใหญ่ที่ยังไม่มีทายาทสืบบัลลังก์จะอยากได้เจ้าสาวที่ไม่สามารถผลิตทายาท? ทำไมอาการผิดปกติ (ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก) ของพระองค์ ถูกบันทึกหรือพูดถึงในบันทึกไหนเลย? หากนี่ฟังดูแปลกแล้ว รอจนกว่าจะได้อ่านบรรทัดต่อไป
มีทฤษฎีสมคบคิดที่น่าสนใจเชื่อว่าจริงๆ แล้วเอลิซาเบธที่ขึ้นครองราชย์นั้นเป็นผู้ชาย!!!! แนวคิดนี้เรียกกันว่า Bisley Boy Story เล่าว่าตอนเจ้าหญิงอายุ 10-11 ปี ทรงลี้ภัยหนีโรคระบาดออกจากลอนดอนไปยังเมือง Bisley น่าตกใจว่าเจ้าหญิงเกิดป่วยและเสียชีวิตลง บรรดาผู้ติดตามกลัวพระเจ้าเฮนรี่จะเอาโทษจึงพยายามหาเด็กผู้หญิงคนใหม่มาย้อมแมวเป็นเจ้าหญิง ซวยจริงๆ ว่าหาไม่ได้ แต่มีเด็กผู้ชายที่อยู่ในวัยเดียวกัน มีสีผม สีตา และลักษณะใบหน้าคล้ายเอลิซาเบธพอดี เด็กคนนี้เลยโดนจับมาแต่งหญิงและเล่นบทเป็นลูกสาวพระเจ้าเฮนรี่นับจากนั้น
พูดกันด้วยเหตุผล เรื่องเล่านี้แทบจะเป็นจริงไปไม่ได้ ควีนเอลิซาเบธเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีข้าราชบริพารติดตามมากมาย ไม่นับบรรดาขุนนาง ราชทูตจากราชสำนักต่างชาติ หากมีความผิดปกติแม้แต่น้อย เช่น เสียงของพระองค์ห้าวไป ทรงมีลูกกระเดือก หรือทรงมีเคราขึ้นเขียว เรื่องนี้ไม่สามารถผ่านตาไปได้อย่างแน่นอน
มีข้ออ้างว่าพระองค์แต่งหน้าหนาเพื่อปกปิดความเป็นชาย แต่เรื่องนี้มีคำอธิบายแล้วว่าลักษณะ “ผิวขาวเหมือนตุ๊กตากระเบื้อง ริมฝีปากแดงดั่งเลือดนก”เป็นนิยามความงามของสตรีชั้นสูงในยุคของพระนาง ไม่ใช่พระองค์คนเดียวที่แต่งหน้าแบบนี้ ส่วนเหตุที่ต้องลงแป้งหนามาก ก็น่าจะมาจากความจริงที่ว่าพระองค์ทรงเคยป่วยเป็นไข้ทรพิษตอนอายุ 28 ซึ่งแม้จะรอดมาได้แต่ก็ทรงมีแผลเป็นภาวรมากมายบนใบหน้า บรรดาแป้งที่ลงอย่างหนัก น่าจะทำเพื่อปกปิดรอยแผลมากกว่าหนวดเครา
เมื่อตัดแนวคิดจิตวิทยา ข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ และทฤษฎีสมคบคิดออกไป ลองมาพิจารณาเหตุผลทางการเมืองดูบ้าง ควีนเอลิซาเบธมีข้อจำกัดสำคัญคือทรงเป็นโปรแตสแตนท์ในขณะที่เจ้าชายต่างชาติที่มีฐานะเท่าเทียมและสามารถมอบประโยชน์ทางการเมืองให้อังกฤษได้ “ล้วนเป็นคาทอลิก” หนึ่งในตัวเลือที่พอจะเป็นไปได้คือพระเจ้าเอริคแห่งสวีเดน ทรงเป็นโปรแตสเตนท์ ยังโสด แต่มีข่าวลือหนักมากว่าทรงจิตวิปลาส อารมณ์แปรปรวน
ครั้นจะพิจารณาแต่งงานกับเจ้าชายหรือกษัตริย์ต่างชาติโดยไม่สนศาสนา เอลิซาเบธก็มีตัวอย่างที่ดีจากชีวิตสมรสที่แสนเศร้าของพี่สาว – ควีนแมรี่ที่ 1 นอกจากจะทรงไม่ได้รับความรักจากพระสวามี การสมรสแบบนี้ยังทำให้สเปนมีอทธิพลเหนืออังกฤษ สร้างความปั่นป่วนทางศาสนาและจบลงด้วยการนองเลือด ความพยายามของของควีนแมรี่ที่จะมีลูก ทำให้เกิดภาวะครรภ์เทียม (ซึ่งอาจเป็นสาเหตให้พระนางเสียชีวิต) การตั้งครรภ์ปลอมของราชินีกลายเป็นที่ล้อเลียนถากถาง เป็นไปได้หรือไม่ว่าทรงเห็นตัวอย่างที่เลวร้าย หากภรรยาไม่สามารถมอบบุตรได้ตามหน้าที่ กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว?
อีกทางเลือกที่เป็นไปได้คือการแต่งงานกับขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์อังกฤษแทน แต่หากมองตัวอย่างจากชะตากรรมของพระนางแมรี่ ราชินีแห่งสก็ตแลนด์ การสมรสของพระองค์กับเฮนรี สจวต ลอร์ดดาร์นลีย์ กลายเป็นหายนะ เฮนรี่ทั้งเจ้าอารมณ์ ขี่หึง ติดเหล้า ไม่เอาการเอางาน เขาเป็นคนจอมปลอมมีแต่เปลือกที่มอบข้อดีอย่างเดียวให้การแต่งงานคือการมีทายาทชาย – เจ้าชายเจมส์ ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทางเลือกแต่งงานกับข้ารับใช้ของพระนางแมรี่ ราชินีแห่งสก็อตแลนด์ ดีแต่สร้างความสับสนและทำให้สรงเสียการควบคุมขุนนางให้อยู่ในอำนาจ
แม้จะไม่แต่งงานแต่ก็ใช่ว่าเอลิซาเบธไม่มีคนรัก โรเบิร์ต ดัดลีย์ เป็นตัวละครหลักหากพิจารณาในประเด็นนี้ อย่างไรก็ดี โรเบิร์ต นั้นแต่งงานอยู่ก่อนแล้วกับเอมี่ ร็อซาร์ด ในปี 1560 หลังเอลิซาเบธครองราชย์ได้เพียงสองปี เอมี่เสียชีวิตปริศนา หลายคนมองว่าโรเบิร์ตอาจฆ่าภรรยาตัวเองเพื่อสมรสกับราชินี ข่าวลือไปไกลว่าราชินีนั่นแหละที่สั่งฆ่าภรรยาเพราะอยากได้โรเบิร์ตมาเป็นของตัวเอง การแต่งงานโดยมีข้อกังขาเช่นนี้ ไม่มีข้อดีกับเอลิซาเบธ
อีกแนวคิดที่น่าสนใจกล่าวว่าการ ไม่แต่งงาน ของราชีนีอาจมีข้อดีหากเธอต้องการเก็บความลับ เอลิซาเบธถูกกล่าวถึงเสมอในฐานะราชินีพรหมจารีย์ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเธอไม่ได้ถือพรหมจรรย์จริงๆ และแย่กว่านั้น อาจทรงมีบุตรนอกสมรส?
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเอลิซาเบธในวัยสาวเคยถูกล่วงเกินโดยโทมัส ซีมัวร์ หรือทรงเลือกเองที่จะมอบกายมอบใจให้ โรเบิร์ต ดัดเลย์? หากราชินีที่ควรจะบริสุทธิ์ ไม่ได้ครองพรหมจรรย์จริงๆ อย่างคำโฆษณา และหากความลับนี้ถูกเปิดเผยในคืนวันแต่งงาน (โดยเฉพาะหากเจ้าบ่าวเป็นเจ้าชายจากต่างชาติ) ข่าวลือว่าเอลิซาเบธ ราชินีโปรแตสแตนท์เป็นสาวสำส่อนนอกรีต อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่นับว่าลูกสมรสของเธออาจเป็นอันตราย หรือเลวร้ายที่สุดชาติคาทอลิกมากมายอาจเล่นใหญ่ใช้เหตุนี้เพื่อแทรกแซงและถอดถอนพระองค์
หลังมองผ่านมุมมองมากมาย การแต่งงานเพื่อผลิตทายาท (ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีและถ้าไม่มีก็ยิ่งเป็นปัญหา) อาจเสี่ยงเกินไปสำหรับเอลิซาเบธ…
ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร การเลือกครองตัวเป็นโสดของพระองค์สร้างค่านิยมใหม่ให้ราชสำนักทั่วยุโรป กษัตริย์และราชินีล้วนเข้าพิธีแต่งงานเพื่อสืบทอดสายเลือดและมอบความมั่นคงให้ประชาชน การไม่มีทายาท หมายถึงความวุ่นวายมากมายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงผลัดแผ่นดิน เอลิซาเบธเป็นคนฉลาด เธอทราบปัญหาที่จะตามมาเป็นอย่างดี และไม่ว่าเหตุผลของเธอคืออะไร มันคงสำคัญพอและคุ้มค่า…. ในฐานะและมุมมองของราชินี
References:
The Secret of the Virgin King: Was Queen Elizabeth I really a man?