“เมื่อการปฏิวัติสัมฤทธิ์ผล อำนาจทั้งหมดก็ร่วงหล่นสู่พื้นดิน” มองการปฏิวัติรัสเซียผ่านสายตาบุคคลร่วมสมัยใน ‘สิบวันเขย่าโลก’ โดยจอห์น รีด

“เมื่อการปฏิวัติสัมฤทธิ์ผล อำนาจทั้งหมดก็ร่วงหล่นสู่พื้นดิน”

คำกล่าวสั้นๆ ในหนังสือเรื่องสิบวันเขย่าโลกของจอห์น รีด นักข่าวสงครามชาวอเมริกันผู้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ระหว่างการปฏิวัติรัสเซียในช่วงเดือนตุลาคม 1917 (หรือเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) สรุปภาพรวมของจักรวรรดิที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญได้อย่างเด็ดขาดน่าสนใจ ในเดือนมีนาคม 1917 ในระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปยังคงเดินหน้า การปฏิวัติครั้งใหญ่ได้ผลักให้อำนาจที่เคยถูกถือโดยราชวงศ์โรมานอฟมาถึง 300 ปี ร่วมหล่นบนพื้นถนน เกิดเป็นความขัดแย้งต่อมาว่าอำนาจเหล่านี้ควรถูกใช้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ถือ และทิศทางประเทศจากนี้ล่ะ จะเป็นไปอย่างไรต่อ

ช่วงเวลาที่จอห์น รีด ได้ลงพื้นที่เพื่อบันทึกเหตุการณ์ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ล่มสลายไปนานแล้ว การกลับไปใช้ระบบเก่าหรือไม่ ไม่ใช่คำถามอีกต่อไป เพียงแต่อำนาจที่กำลังถูกถือครองโดยคนกลุ่มใหม่ภายใต้ชื่อรัฐบาลเฉพาะกาลจะดำเนินต่อในทิศทางไหน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชจะไม่กลับมา ถึงอย่างนั้น นักสังคมนิยมสายกลางก็ยังมองว่ารัสเซียไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างสังคม แค่ปฏิรูปการเมืองกับเศรฐกิจก็น่าจะพอ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มองภาพรัสเซียว่าต่อไปจะกลายเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีประธานาธิบดี หรืออย่างดีก็กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลเฉพาะกาล มีแนวคิดปรองดองกับกลุ่มอำนาจเก่า พยายามประสานประโยชน์ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ผู้นำบอลเชวิคในงานฉลองตรบรอบสองปีการปฏิวัติเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ดีบอลเชวิคซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดสังคมนิยมซ้ายจัดไม่เห็นด้วย เลนินที่พลาดโอกาสเห็นการปฏิวัติเดือนมีนาคม จับรถไฟกลับมารัสเซียด้วยความช่วยเหลือของเยอรมัน เขามีแนวคิดเด็ดขาด กล่าวว่าการปรองดองนั้นทำไม่ได้ เพราะหากอำนาจยังอยู่กับชนชั้นนำ แม้จะมีการปกครองแบบรัฐบาลเสรี ชนชั้นล่างอย่างคนงานและชาวนาที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กว่า 80% ก็จะถูกกันออกไปจากอำนาจการบริหารประเทศอยู่ดี นี่เท่ากับว่าประเทศยังถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดิมแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ ที่น่าสนใจมากไปกว่า คือรัฐบาลเฉพาะกาลแม้ขึ้นมากุมอำนาจ แต่ก็ไม่มีทีท่าจะพารัสเซียออกจากสงครามโลกสักที มีความขัดแย้งในกลุ่มรัฐบาล มองว่าการถอนตัวจากสงครามจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าซาร์เคยทำข้อตกลงไว้ ห้ามไม่ให้เจรจาสงบศึกกับเยอรมันโดยไม่ผ่านการตกลงกันในหมู่ชาติสัมพันธมิตร

เลนินที่กลับมารัสเซียทันเวลา เสนอให้บอลเชวิคทำการปฏิวัติครั้งที่สองเพื่อคืนอำนาจปกครองให้สภาโซเวียต เขายังต้องการนำรัสเซียออกจากสงครามในทันทีโดยไม่มีการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามและไม่มีการยึดครองดินแดน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเดือนตุลาคม และเป็นช่วงเวลาที่จอห์น รีด ได้เดินทางเข้ามาสังเกตการณ์อยู่พอดี จอห์น รีด ได้รับการคุ้มครองในฐานะนักข่าว เขาสามารถเข้าออกสถานที่สำคัญเพื่อสังเกตการณ์และพูดคุยกับผู้คนจากหลายฝั่งซึ่งทำให้บันทึกของเขานั้นมีกลิ่นอายและการบรรยายภาพที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่น

จอห์น รีด บรรยายลักษณะของวลาดิเมียร์ เลนิน บิดาแห่งการการปฏิวัติในขณะขึ้นปราศรัยว่า “เสียงไชโยโห่ร้องดังก้องทุกทิศทางราวกับฟ้าคะนองกึกก้อง เลนินผู้ยิ่งใหญ่ เขาเป็นบุรุษร่างเตี้ยป้อมมะขามข้อเดียว ศีรษะใหญ่และล้าน เขามีดวงตาเล็ก จมูกเชิด ปากกว้างอิ่ม คางใหญ่ หนวดของเขาที่เคยโกนออกไปเริ่มงอกขึ้นใหม่เหมือนในอดีตและในอนาคต เขาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าโกโรโกโส กางเกงดูยาวเกินไป บุคลิกไม่น่าประทับใจแต่กลับได้รับความเคารพรักจากประชาชน ผู้นำในประวัติศาสตร์น้อยคนนักจะเป็นแบบนี้ เลนินเป็นปัญญาชนแท้ๆ ไร้สีสัน ไร้อารมณ์ขัน ไม่ประนีประนอมและไม่ยินดียินร้าย แต่เขาสามารถบรรยายข้อความลุ่มลึกในใจได้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เสียงของเขาเวลาเปร่งวาจาแหบห้าวไม่น่าฟัง แต่นั่นอาจเป็นเพราะหลอดเสียงของเขาต้องทำงานหนักมาเป็นเวลานาน จนทำให้เสียงที่เปร่งออกมามีลักษณะเป็นระนาบเดียว ในตลอดการปราศรัย เลนินก้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ไม่มีท่าทางประกอบการพูดอื่นๆ ฝูงชนนับพันแหงนหน้าขึ้นมอง ฟังอย่างตั้งใจ เรียกได้ว่าเป็นความเคารพบูชา”

วลาดิเมียร์ เลนิน บิดาแห่งการการปฏิวัติในขณะขึ้นปราศรัย

รีดยังบรรยายเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านว่า โรงหนัง โรงอุปรากรยังคงเปิดให้บริการเช่นเดิมในทุกคืน ร้านอาหารเปิดทำการ ผู้คนเดินบนถนนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นเมื่อไหร่ ทุกคนจะหยุด มอบลงกับพื้น เมื่อแน่ใจว่าไม่มีอะไรก็จะลุกขึ้นปัดฝุ่นบนชุดแล้วเดินต่อ รีดได้เข้าชมโอเปร่าในโรงละครหรูหรา เขายังเห็นว่านักเรียนนายร้อยมหาดเล็กยังคงแต่งชุดเครื่องแบบวาววับสีทอง หันไปทำความเคารพให้ที่นั่งของราชวงศ์ที่บัดนี้วางลง ชนชั้นกลางในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต่อต้านการปฏิวัติ พวกเขายินดีให้เศรษฐกิจของชาติล่มสลาย ยอมให้ทหารในแนวหน้าต้องอดตาย ดีกว่าปล่อยให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ เจ้าของเหมืองตั้งใจให้เกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วม วิศวกรจงใจทำให้เครื่องจักรเสียหายก่อนละทิ้งโรงงาน เจ้าหน้าที่การรถไฟก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาตั้งใจทำให้รถไฟวิ่งไม่ได้เพื่อทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าไปต่อ

ชนชั้นเจ้าไปไกลกว่า พวกเขานิยมเจ้าเยอรมันยิ่งกว่าคณะปฏิวัติ ในบ้านพักของรีด เรื่องที่พูดกันเป็นประจำบนโต๊ะอาหารคือการมาถึงของกองทัพเยอรมัน พวกเขาคิดว่าหากรัสเซียแพ้สงครามเมื่อไหร่ เยอรมันจะทำให้ “บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย” ในเย็นวันหนึ่งขณะที่รีดใช้เวลาในบ้านพ่อค้าคนหนึ่ง มีการหยั่งเชิงถามบุคคลรอบโต๊ะว่า ระหว่างไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ของเยอรมันกับบอลเชวิค พวกเขาชอบใครมากกว่า ผลปรากฎว่าวิลเฮล์มชนะไปด้วยคะแนน 10:1

รีดกล่าวว่าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในตอนนั้นอยู่ในภาวะ “พายุใบปลิว” เพราะต่างฝ่ายต่างพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อมากมาย หนังสือพิมพ์ทั้งฝ่ายขวาและซ้ายออกข่าวที่แตกต่างกันแทบจะตรงกันข้าม ถึงอย่างนั้นเมื่อหนังสือพิมพ์วางแผงเมื่อไหร่ ประชาชนก็จะเข้าไปรุมซื้อทันที ตอนที่รีดได้ไปพบทหารรัสเซียในแนวหน้า พวกเขาไม่ถามด้วยซ้ำว่ามีอะไรให้กินหรือเปล่าแต่กลับถามนักข่าวชาวต่างชาติว่ามีอะไรให้อ่านมั้ย? สังคมรัสเซียตื่นตัวสูงสุดเพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมกันตัดสินใจ เป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่ประชนชนรู้สึกว่าตัวเองคือผู้กำหนดทิศทางของประเทศชาติ รีดได้เห็นเหตุการณ์นี้ทั้งหมดด้วยสายตา เขาและกลุ่มนักข่าวเดินทางจากสมอลนึย – อาคารสำนักงานหลักของบอลเชวิค ไปจนถึงพื้นที่ปะทะระหว่างบอลเชวิคของเลนินกับรัฐบาลรักษากาลของเคเรนสกี เขายังมีโอกาสเข้าไปสังเกตสถานการณ์ในพระราชวังฤดูหนาว ที่ซึ่งเขาได้บันทึกอย่างน่าสนใจว่า

“เมื่อบรรดาทหารในกองทัพแดงเริ่มฉกฉวยสิ่งของมีค่า เสียงที่มีอำนาจก็ประกาศขึ้นว่า ‘สหาย อย่าได้หยิบฉวยเอาไป นี่เป็นสมบัติของประชาชน’ เมื่อผู้คนเริ่มวางสิ่งของเขาที่ เสียงที่ดังยิ่งกว่าจึงตามมา ‘วินัยของการปฏิวัติ ต้องไม่หยิบฉวยสมบัติของประชาชน’”

แน่นอนว่าสิ่งที่รีดพบเห็นอาจไม่ได้เป็นจริงในทุกพื้นที่ ตัวเขากล่าวไว้ในช่วงต้นของบันทึก “ความเห็นอกเห็นใจของช้าพเจ้านั้นไม่เป็นกลาง แต่ในการบอกเล่าเรื่องราวในแต่ละวัน ข้าพเจ้าได้พยายามมองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสายตาของผู้สื่อข่าวที่มีจิตสำนึกและพิถีพิถันที่จะรายงานความเป็นจริงเสมอ” คำเตือนของรีดชี้ให้เห็นว่าตัวเขานั้นเป็นผู้เห็นใจการปฏิวัติ เขาคิดคล้ายกันกับเลนิน เห็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังนั้นสงครามจึงหยุดได้หากชนชั้นแรงงานทั้งหมดลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง เลนินเชื่อว่าหากประชาขนรัสเซียหยุดสงคราม แรงงานในทุกๆ ประเทศก็จะเห็นเป็นแบบอย่าง ประกายไฟแห่งการปฏิวัติก็จะจุดติดไปทั่ว หากมองกันในจุดนี้ เลนินไม่เคยคิดสร้างกำแพง แต่เป็นยุโรปต่างหากที่เกลียดกลัวการปฏิวัติจนก่อกำแพงขึ้นมา

การอ่านบันทึกของรีดในปี 2021 หลังระบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซียล่มสลายอาจทำให้ผู้อ่านพลิกหน้าหนังสือด้วยความรู้สึกที่ต่างไป อย่างไรก็ตาม การได้อ่านความทรงจำที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ซ้อนประวัติศาสตร์ก็เป็นหลักฐานที่ทำให้รู้ว่า ในครั้งหนึ่งของช่วงเวลา บอลเชวิคและแนวคิดคอมมิวนิสต์เคยสร้างความหวังให้ผู้คนมากแค่ไหน ในช่วงเวลาที่พวกเขายากไร้มากที่สุด

แนะนำหนังสือ สิบวันเขย่าโลก: Ten Days That Shook the World โดยจอห์น รีด แปลโดย สุทิน วรรณบวร สำนักพิมพ์แสงดาว

Share This:

Share on facebook
Share on twitter

You may also like