หญิงปริศนาในชุดเปอร์เซียนเป็นภาพวาดโด่งดังที่จุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับตัวตนของบุคคลในภาพ ว่าอาจเป็นควีนเอลิซาเบธที่ 1 ราชินีพรหมจารีของอังกฤษ แต่คำถามที่ติดตามมากับสตรีในภาพ คือลักษณะน่าสนใจซึ่งถูกบรรยายไว้ว่าสตรีในภาพน่าจะอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ นำไปสู่ข้อสงสัยที่ยิ่งใหญ่กว่า หากสตรีในภาพคือเอลิซาเบธจริง พระองค์จะเคยตั้งครรภ์ด้วยหรือไม่? ก่อนจะเข้าสู่การถกเถียงในประเด็นนี้ ขอชวนทุกท่านทำความรู้จักภาพสตรีปริศนา ตามไทม์ไลน์ของนักประวัติศาสตร์กันเสียก่อน
1. เป็นที่รู้กันว่าภาพหญิงปริศนา ถูกวาดขึ้นในราวปี 1594-1604 โดยจิตรกรนามว่ามาคัส ชีราดส์ ผู้ลูก (1561-1635)
2. ในปี 1613 ภาพวาดที่ว่าถูกแขวนไว้ในบ้านซัมเมอร์เซ็ต หนึ่งในพระตำหนักของพระนางแอนน์แห่งเดนมาร์ก มเหสีของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ตัวภาพได้รับคำบรรยายว่าเป็นภาพของ “สตรีตุรกีแสนสวย”
3. ในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 17 ภาพวาดหายไปเพราะเหตุสงครามกลางเมือง
4. ต้นศตวรรษที่ 18 ภาพวาดปรากฏอีกครั้งโดยถูกซื้อและถวายคืนให้ราชสำนักโดยขุนนางอังกฤษ เซอร์จอห์น สแตนลีย์ กล่าวว่าเขาพบภาพวาดนี้ในตลาดขายของมือสอง เขาเรียกภาพวาดนี้ว่า “ควีนเอลิซาเบธในบรรยากาศแปลกประหลาด”
5. ในยุคของควีนแอนน์ ผู้ปกครองสุดท้ายของราชวงศ์สจ๊วต (ครองราชย์ปี 1702-1714) ภาพนี้ถูกแขวนไว้ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยได้รับคำบรรยายว่า “ควีนเอลิซาเบธในชุดแฟนซี”
6. พระนางแคโรลีน มเหสีของพระเจ้าจอร์จที่ 2 (ครองราชย์ช่วงปี 1727-1760) ย้ายภาพที่ว่าไปยังพระราชวังเคนซิงตัน คำบรรยายภาพถูกเปลี่ยนจาก “ควีนเอลิซาเบธ” เป็น “ผู้ปกครองของอังกฤษ”
7. ในยุคของควีนวิกตอเรีย มีการย้ายภาพอีกครั้ง ไปยังพระราชวังแฮมป์ตันคอร์ท และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้เป็นครั้งแรก
8. ในปี 1849 ฮอราส วัลโปล นักวิจารณ์งานศิลปะกล่าวว่าบุคคลในภาพน่าจะเป็น ‘ควีนเอลิซาเบธในชุดแบบเปอร์เซียน’
9. เออร์เนส ลอว์ นักวิจารณ์งานศิลป์อีกท่าน กล่าวเพิ่มเติมในปี 1898 เขาเห็นด้วยว่าบุคคลในภาพควรเป็นควีนเอลิซาเบธแต่ภาพนี้ “เต็มไปด้วยความน่าสงสัยที่ไม่สามารถตีความได้”
10. เซอร์ลีโอเนล ครัส กล่าวแย้งในปี 1914 เขาศึกษาภาพวาดทั้งหมดของมาคัส ชีราดส์ และมีความเห็นว่าภาพนี้น่าจะเป็นภาพเหมือนของอาร์เบลล่า สจ๊วต ผู้มีสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์อังกฤษ ในลำดับต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1
11. เจเนท อาร์โนล นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวถึงภาพวาดนี้ว่าเหมือนจะเกิดขึ้นในจินตนาการ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และการเปรียบเปรย เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์นี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง แม้แต่ชุดที่สตรีนางนี้สวม ก็อาจจะไม่ได้มีจริงในประวัติศาสตร์
เมื่อมองจากไทม์ไลน์ในประวัติศาสตร์ เห็นได้ว่าข้อมูลอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่ โน้มเอียงไปในทางที่เชื่อว่าสตรีในภาพน่าจะเป็นควีนเอลิซาเบธที่ 1 ข้อโต้แย้งซึ่งขัดกับความเชื่อกระแสหลักอาจมีการตั้งคำถามอยู่บ้าง อย่างไรก็ดีหลังศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา Royal Collection Trust ได้ทำการปรับคำอธิบายภาพจากที่เคยชี้ชัดว่าสตรีในภาพเป็นใคร มาเป็นการใช้ถ้อยคำคลุมเครือโดยบอกว่าภาพนี้คือภาพวาดของ ‘สตรีนิรนาม’ (Portrait of an Unknown Woman) จุดประเด็นน่าสงสัยว่าสตรีในภาพเป็นใคร จะใช้ควีนเอลิซาเบธจริงหรือไม่ และทำไมพระองค์จึงอยู่ในชุดที่ดูแปลกประหลาด
เดวิด เชคสเปียร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอังกฤษ ทำการศึกษาภาพที่ว่าโดยใช้หลักคิดแบบนิติวิทยาศาสตร์และสรีรวิทยา เขากล่าวว่าภาพวาดดังกล่าว น่าจะเป็นควีนเอลิซาเบธที่ 1 อย่างไม่ต้องสงสัยเพราะในช่วงเวลาเดียวกัน มาคัส ชีราดส์ ได้วาดภาพสำคัญอีกภาพคือ The Rainbow Portrait ซึ่งเป็นภาพวาดของควีนเอลิซาเบธในราวปี 1600 ภาพวาดนี้นำเสนอควีนเอลิซาเบธซึ่งควรอยู่ในวัย 60 กว่าในลักษณ์ที่ยังสาวและสวยไม่สร่าง แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้ภาพนี้เพื่อศึกษาใบหน้าจริงของพระองค์ แต่แนวคิด “ใบหน้าปราศจากอายุ” (ageless face) เป็นสิ่งที่จิตรกรสร้างสรรค์ขึ้นตามความต้องการของตัวราชินีโดยอ้างอิงภาพวาดเก่า (เพราะเป็นที่รู้กันว่าควีนเอลิซาเบธไม่โปรดการวาดภาพเหมือนและมักรับสั้งให้จิตรกรวาดภาพพระองค์จากภาพวาดที่มีอยู่ก่อน เนื่องจากไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเห็นว่าพระองค์อยู่ในวัยโรยรา) เชคสเปียร์กล่าวว่าหากนำภาพ The Rainbow Portrait กับภาพวาดหญิงปริศนามาวางซ้อนกัน จะพบว่าใบหน้าของหญิงทั้งสองเหมือนกันแทบจะทุกจุด แม้กระทั่งสัดส่วนของลำตัวก็แทบจะวางซ้อนกันได้
ความคล้ายกันของภาพทั้งสอง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่สองว่าภาพทั้งสองอาจถูกทำขึ้นเป็นคู่ โดยภาพ The Rainbow Portrait นำเสนอควีนเอลิซาเบธในลักษณะของเทพีแอสเทรียา (Astraea) เทพธิดาผู้ทรงถือพรหมจารีย์และเป็นบุคคลาธิษฐานของความยุติธรรม ในขณะที่ภาพหญิงนิรนามนำเสนอพระองค์ในฐานะเทพีไดอานา (Diana) เทพธิดาอีกองค์ตามตำนานกรีก-โรมันซึ่งเป็นเทพีที่ถือพรหมจารีย์เช่นเดียวกัน ในภาพหญิงปริศนามีกวางป่าตัวผู้ที่กำลังร้องไห้อยู่ด้านข้าง คาดว่าหมายถึงแอ็คเทียน นายพรานหนุ่มที่บังเอิญเห็นเทพีไดมานากำลังอาบน้ำทำให้ถูกสาปเป็นกวาง ลักษณ์การวางมือของสตรีในภาพอาจหมายถึงการให้อภัย ดังนั้นภาพนี้อาจทำขึ้นเพื่อขอการอภัยหรือไถ่โทษจากราชินี ข้อความภาษาละตินบนลำต้นของต้นหมายถูกแปลได้ว่า “การร้องขอต่อความอยุติธรรม” – lniusti Justa querela (“A just complaint of injustice.”), “อะไรที่เป็นของเราควรเป็นของเรา” – Mea sic mihi (“Thus what is mine should be mine”), “ความเจ็บปวดคือยารักษา” – Dolor est medicina doloris (“Pain is pain’s medicine”) – แต่ใครล่ะที่กำลังขออภัยต่อราชินี? และการถูกลงทัณฑ์ของแอ็คเทียนผู้หมิ่นเกียรติของเทพี สื่อถึงเรื่องราวในความเป็นจริงด้วยหรือไม่?
เชคสเปียร์สันนิษฐานไปไกลกว่านั้น เขาเสนอว่าภาพวาดทั้งสองอาจเคยมีขนาดเท่ากัน แต่ภาพ The Rainbow Portrait อาจถูกตัดให้มีขนาดเล็กลงเพื่อซ่อนความเชื่อมโยงระหว่างสองภาพ ความสงสัยของเชคสเปียร์มาจากความจริงที่ว่า ภาพของสตรีปริศนา ได้รับการแก้ไขหลายครั้ง มีร่องรอยการทาสีทับบริเวณฉากหลังจนมีสีเข้มมาก แต่หากนำไปเพิ่มความสวางจะเจอว่ามีสัญลักษณ์อื่นๆ เช่นดอกไม้ บ่อน้ำ และอาคารคล้ายปราสาทซ่อนอยู่ บริเวณพู่ที่ตกลงมาจากด้านบนของหมวกก็คล้ายจะถูกทาสีให้เข้มขึ้นเหมือนต้องการปิดบังอะไรบางอย่าง
เชคสเปียร์นำเสนอข้อสงสัยเหล่านี้โดยกล่าวว่าภาพวาดในยุคเรเนซองส์ซ่อนความหมายในทุกส่วน (everything is there for a reason) ดังนั้นการลบข้อความสัญลักษณ์อาจหมายถึงการปิดบังบางอย่าง เป็นไปได้หรือไม่ว่าสัญลักษณ์เหล่านี้เชื่อมโยงกับควีนเอลิซาเบธโดยตรง และการตัดข้อความบางส่วนออกไป เป็นการทำลายความหมายบางส่วนของภาพ เป้าหมายคือการลบล้างสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเอลิซาเบธออกไป แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผู้ที่ทำการแก้ไขภาพต้องการซ่อนอะไรกันแน่?
คำถามที่สำคัญต่อมาคือผู้หญิงในภาพตั้งครรภ์จริงหรือไม่? เชคสเปียร์แน่ใจว่าสตรีในภาพกำลังตั้งครรภ์โดยอ้างจากสรีระ เขาเชื่อว่าส่วนท้องของสตรีในภาพ นูนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งสร้อยคอที่สตรีในภาพสวมใส่ ยังมีลักษณะเป็นแหวนสองวง ซึ่งตัวเขาเชื่อว่าหมายถึงคำมั่นสัญญา และเหตุที่สัญลักษณ์มากมายถูกปกปิด ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นสือถึงการตั้งครรภ์ของสตรีที่เป็นถึงราชินี
อย่างไรก็ดี อลิสัน ซอว์เบย์ นักวิจารณ์งานศิลปะ กล่าวแย้งประเด็นนี้ไว้แล้วในปี 2015 เธอทำการศึกษาภาพวาดสตรีตั้งครรภ์ซึ่งถูกวาดโดยจิตรกรคนเดียวกัน (มาคัส ชีราดส์) และกล่าวว่าการวาดภาพผู้หญิงตั้งครรภ์ของชีราดส์ เป็นไปตามความนิยมของยุคนั้นคือมักเน้นส่วนของท้องให้เด่น และมักมีการวางมือไว้เหนือท้องเพื่อเน้นยำว่าเธอผู้นี้กำลังจะมีบุตร ซึ่งภาพวาดหญิงปริศนา ไม่ได้เป็นไปตามวิธีการดังกล่าว ในมุมของซอว์เบย์ผู้หญิงในภาพไม่น่าจะกำลังตั้งท้อง
แคทเธอรีน มาแชนท์ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีและวัฒนธรรมยุคทิวเดอร์ถึงสจ๊วต กล่าวว่าบุคคลในภาพอาจเป็นควีนเอลิซาเบธจริง แต่ไม่คิดว่าพระองค์กำลังตั้งครรภ์ เธอมองว่าการวาดภาพให้เหมือนว่ากำลังท้อง อาจเป็นข้อความที่ต้องการสื่อสารว่าการปกครองของเอลิซาเบธนำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์และเจริญงอกงาม มาแชนท์ย้ำว่าข่าวลือเรื่องการท้อง และลูกนอกสมรสเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดรัชสมัย (และเกิดขึ้นต่อไปแม้พระองค์จะสวรรคตไปหลายร้อยปี) มาแชนท์ยกตารางการใช้ชีวิตของราชินี (และสตรีสูงศักดิ์ในยุคนั้น) โดยกล่าวว่าพวกเธอไม่ได้กิน ดื่มหรือนอนหลับตามลำพัง และที่สำคัญเอลิซาเบธซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์ เป็นศัตรูกับผู้นำเกือบทั้งยุโรป (สเปน ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฯลฯ ล้วนเป็นชาติที่นับถือโรมันคาทอลิก) เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีสายลับอยู่ในวังและการขาดไปของประจำเดือนแม้แต่วันเดียวก็อาจกลายเป็นข้ออ้างให้นานาชาติหันมาโจมตีอังกฤษ
มาแชนท์ สนับสนุนแนวคิดของเธอโดยกล่าวแย้งว่าภาพวาดนี้หากจะมีความหมาย น่าจะเป็นเรื่องการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างอังกฤษกับจักรวรรดิออตโตมัน มากกว่า ดังที่กล่าวไว้ว่า อังกฤษเป็นศัตรูกับทั้งยุโรป อะไรจะดีไปกว่าการจับมือกับศัตรูของศัตรู คือสุลต่าแห่งออตโตมันเพื่อกดดันชาติยุโรป ตั้งแต่ช่วงปี 1580s เป็นต้นมา อังกฤษกับออตโตมันกลายเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็ง จดหมายที่ควีนเอลิซาเบธส่งถึงสุลตานมูร็อตที่ 3 กล่าวถึงความตั้งใจของอังกฤษที่จะเป็นผู้นำและผู้พิทักษ์ศาสนาคริสต์จากแนวคิด ‘การบูชารูปเคารพ’ – หมายถึงแนวคิดของนิกายโรมันคาทอลิก จดหมายของพระนางเขียนเป็นภาษาละตินและถูกใช้เป็นหลักฐานการท้าทายอำนาจศาสนจักรที่กรุงโรม ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและออตโตมัน ยังรวมไปถึงการแอบขายอาวุธยุโธปกรณ์ให้สุลตานนำไปรบกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ในยุโรปกลาง ในเอกสารการค้า ใช้คำว่า ‘ระฆังเหล็ก’ ซึ่งหมายถึงเหล็กที่นำไปหลอมเพื่อทำอาวุธได้ในภายหลัง
เซอร์รอย สตรอง นักประวัติศาสตร์ศิลปะอีกท่านตอกย้ำความจริงข้อนี้ด้วยการเปรียบเทียบหมวกที่สตรีในภาพสวมใส่ กับเครื่องทรงของสตรีชั้นสูงในตุรกี และพบว่ามีลักษณ์คล้ายกันเป็นอย่างมาก เขาเปรียบเทียบภาพนี้กับหมวกของราชินีร็อกเซลาน่า พระชายาของสุลต่านสุไลมา และซาเฟีย ซัลตาน พระชายาของสุลต่านมูร็อตที่ 3 สตรอง ยังกล่าวว่าในช่วงเวลานั้นอังกฤษไม่มีสัญญาการค้ากับเปอเซียดังนั้นสตรีในภาพ น่าจะสวมใส่ชุดที่มีความเชื่อมโยงกับตุรกี (ออตโตมัน) มีหลักฐานว่าซาเฟีย ซัลตาน เคยแลกเปลี่ยนของขวัญกับควีนเอลิซาเบธและเคยมีการส่งเครื่องทรงแบบออตโตมันไปให้ราชินี เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาพนี้อาจทำขึ้นเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว?
ในปี 1992 ข้อสันนิษฐานของเซอร์รอย สตรอง เคยทำให้ภาพปริศนาได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ เขากล่าวว่า “โดยไม่ต้องสงสัย ภาพววาดที่ซับซ้อนเช่นนี้ต้องนำเสนอข้อความสำคัญเป็นอย่างมาก ผมคิดว่าตัวเองสามารถไขปริศนาได้ เหมือนภาพที่ว่าเพิ่งได้รับการทำความสะอาดให้กระจ่างชัด มันชัดเจนเหลือเกิน กวางกำลังร้องไห้ ขอความเมตตาจากราชินี ต้นวอลนัทซึ่งเป็นสัญลักษณ์การแตกกิ่งก้านของราชวงศ์” อย่างไรก็ดี เซอร์รอย สตรอง ได้เปลี่ยนความคิดเห็นในเวลาอันสั้น เขากล่าวในงานเขียนของเขา The Art of the Emblem อธิบายว่าสตรีในภาพไม่ใช่ควีนเอลิซาเบธแต่เป็น ฟรานเชส วอลชิงแฮม ภรรยาของเอิร์ลที่สองแห่งเอสเซ็กซ์ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ในช่วงเวลานั้น กวางในที่นี้หมายถึงตัวเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์เอง เพราะสัญลักษณ์กวางป่าเพศผู้หมายถึงเอสเซ็กซ์ การเปลี่ยนความคิดเห็นของสตรอง ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อดังสร้างความสงสัยให้คนจำนวนมากที่ยังเชื่อว่าภาพวาดนี้ไม่น่าเป็นฟรานเชส วอลชิงแฮม ไปได้… สตรองเปลี่ยนคำพูดทำไม?
ย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์ของภาพเจ้าปัญหา เราอาจเห็นได้ว่า ภาพวาดนี้เพิ่งปรากฏสู่สายตาประชาชนในยุคของควีนวิกตอเรีย ก่อนหน้านี้ภาพวาดมีหน้าตาเช่นไร ไม่มีใครทราบ เป็นไปได้หรือไม่ว่าปริศนาหลังภาพวาด อาจถูกลบหรือบิดเบือนไปในยุคของควีนวิกตอเรีย ซึ่งเป็นยุคที่การตั้งครรภ์ของสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงาน ถือเป็นเรื่องร้ายแรงจนเกินกว่าจะรับได้
ข้อสงสัยที่อาจจะตามมา คือถ้าควีนวิกตอเรียไม่ต้องการให้ประชาชนสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ของราชินีพรหมจารี ทำไมถึงเลือกนำภาพนี้ออกสู่สายตาสาธารณชน และถ้ามันยากลำบากนัก ทำไมไม่ทรงมีรับสั่งให้ทำลายภาพไปเสีย คำถามเหล่านี้ไม่มีใครตอบได้ และคงเป็นเรื่องชวนหัวให้ถกเถียงกันอีกหลายยุคหลายสมัย สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพ คือปริศนาเบื้องหลังที่ยังจุดประกายความสงสัย และทำให้เรื่องราวของควีนเอลิซาเบธที่ 1 ได้รับการบอกเล่าต่อไป แม้พระองค์จะจากโลกนี้ไปแล้วหลายร้อยปีก็ตาม
References:
The Pregnancy Portrait of Elizabeth I (เนื่องจากบทความนี้เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2020 โดยใช้เอกสารความยาว 92 หน้า ของเดวิด เชคสเปียร์เป็นอ้างอิงบางส่วน แต่บทความนี้ปัจจุบันหมดอายุไปแล้วจึงไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องขออภัยทุกท่านด้วยค่ะ)
Dr Kat Reacts to “The Pregnancy Portrait of Elizabeth I”
The Pregnancy Portrait of Elizabeth 1. Taking a close look at the painting. By David Shakespeare.