หากใครได้มีโอกาสไปเยือนกรุงเวียนนา อาจแปลกตาที่ได้เห็นใบหน้าสวยสดของหญิงสาวในชุดขาวยาวสง่า เส้นผมของเธอมีสีน้ำตาลยาวสลวยประดับไปด้วยดวงดาวมากมาย หญิงสาวผู้นี้ส่งยิ้มหวานคล้ายเป็นการต้อนรับคนแปลกหน้า ผู้บังเอิญผ่านมาเมืองหลวงของประเทศออสเตรียที่แสนเจิดจรัส รอยยิ้มของเธอเป็นดั่งแสงเงาแสนจางจากอดีต หญิงงามคนนี้มีนามว่าซีซี่ – จักรพรรดินีของจักรวรรดิที่ล่มสลาย
ในช่วงปี 1945-1955 ออสเตรียกำลังประสบปัญหาใหญ่หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ปัญหาที่ว่าหนักหนากว่าความเสียหายจากสงคราม แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องจิตวิญญาณและตัวตน แม้คนออสเตรียจะโชคดีกว่าเยอรมัน พวกเขาถูกฝ่ายสัมพันธมิตรตีความว่าเป็นเหยื่อรายแรกจากการรุกรานของนาซี แต่เหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์เรียกกันว่า อันชลุสส์ (การผนวกออสเตรียเข้าเป็นว่วนหนึ่งของเยอรมันในปี 1938) กลับได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวออสเตรียเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าชาวออสเตรียที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคนาซีมีจำนวนมากเท่า (หรือมากกว่า) ชาวเยอรมัน หลังสงครามสงบ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศถูกจับขึ้นศาลอาชญากรสงคราม หลายคนโดนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวออสเตรียมองภาพลักษณ์ดภตัวเองบนเวทีโลกด้วยความไม่แน่ใจ ตกลงเราเป็นเหยื่อหรือผู้สมรู้ร่วมคิดของนาซี แล้วคุณค่าความเป็นออสเตรียที่แท้จริงคืออะไร?
วงการสื่อและรัฐบาลออสเตรียทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศขึ้นใหม่ในช่วงวิกฤตศรัทธา อะไรสักอย่างที่นำเราออกห่างจากเยอรมัน และเชิดชูคุณค่าด้านมรดกทางวัฒนธรรมของออสเตรีย ผลของการสำรวจมาจบลงที่ยุคทองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ออสเตรียในตอนนั้นมีกษัตริย์หนุ่มอนาคตไกลนามว่าฟรานซ์ โจเซ็ฟ ส่วนจักรพรรดินีนั้นก็ขึ้นชื่อว่างามที่สุดในยุค นามของพระองค์คือเอลิซาเบธ หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าซีซี่
ยุคสมัยของฟรานซ์ โจเซ็ฟและซีซี่เรียกได้ว่าเป็นยุคโรแมนติกของราชสำนักเวียนนา ราชสำนักออสเตรียรุ่งเรืองหรูหราเหมาะกับการหลีกหนีความจริงของโลกหลังสงครามแสนวุ่นวาย ที่สำคัญ เวียนนาในยุคนั้นปราศจากกอิทธิพลเยอรมัน ภาพลักษณ์ของชาวออสเตรีย คือความสวยงามด้านดนตรีและศิลปะ แต่ครั้นจะเลือกฟรานซ์ โจเซ็ฟ จักรพรรดิที่นำออสเตรียไปแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 มาเป็นตัวชูโรงก็คงไม่ดี รัฐบาลออสเตรียตัดสินใจเลือกซีซี่ จักรพรรดินีที่เสียชีวิตไปก่อนสงครามโลกครั้งแรกด้วยเหตุผลหลายประการ
เรื่องราวของซีซี่มีความน่าสนใจเพราะไปคล้ายกับพล๊อตยอดฮิตจากนิทานสองพี่น้องกริมม์คือเรื่องซินเดอเรลล่า ฟรานซ์ โจเซ็ฟจักรพรรดิหนุ่มเดินทางตามหาเจ้าสาวจนมาพบซีซี่ เจ้าหญิงจากแคว้นบาวาเรียที่มีชีวิตเรียบง่ายอิสระท่ามกล่างป่าเขา เขาตกหลุมรักเธอในทันที ทั้งคู่เข้าสู่ประตูวิวาห์แะละใช้ชีวิตต่อมาในปราสาทหลังใหญ่ แน่นอนว่าตอนจบของเรื่องจริงไม่สวยงามเหมือนนิยาย แต่จุดเริ่มต้นและบุคลิกของซีซี่ ทำให้ชาวออสเตรียเชื่อมโยงจักรรพรรดินีเข้ากับตำนานพื้นบ้านได้ง่าย
ซีซี่ยังมีจุดขายน่าสนใจ คือทรงเป็นราชวงศ์ที่เกลียดความป็นราชวงศ์ ทรงไม่ชอบกฎเกณฑ์และความหรูหรา แต่โปรดคบหาสมาคมกับบุคคลทั่วไป ชอบงานการกุศลและกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกของสังคมยุคนั้น แต่ก็เหมาะมากเหมือนกันสำหรับการสร้างภาพออสเตรียใหม่ที่ไม่ติดกับภาพลักษณ์หัวสูงลูกเทวดาแบบราชวงศ์ฮับส์บูร์ก
ในภาพยนตร์ดังของผู้กำกับ Ernst Marischka เรื่อง Sissi (1955) Marischka ได้นำเสนอภาพของจักรพรรดินีในฐานะผู้หญิงที่เข้มแข็ง มีเสนห์ เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากบุคลิกของพระองค์เอง ผสมกับภาพลักษณ์นางเอกในนิยายกริมม์ที่มักจะมีบุคลิกอ่อนหวาน ไร้เดียงสา ชอบอะไรเรียบง่าย อย่างไรก็ดี บันทึกในประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงบุคลิกที่แท้จริงของพระองค์เวลาออกสมาคมในที่สาธารณะว่า ทรงเป็นคนพูดน้อย ขาดความมั่นใจ และไม่สามารถปราศัยได้อย่างเฉียบขาด วิกตอเรีย เจ้าหญิงราชกุมารี ลูกสาวควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ และชายาเจ้าชายรัชทายาทปรัสเซีย กล่าวถึงซีซี่ว่า “ขี้อายและพูดน้อย ยากเหลือเกินที่จะต่อบทสนทนากับพระองค์เพราะทรงมีเรื่องที่สนใจน้อยเหลือเกิน จักรพรรดินีไม่ร้องเพลง วาดรูปหรือเล่นเปียนโน ทรงรู้เรื่องการเมืองน้อยมาก และแทบไม่พูดถึงลูกๆ ของพระองค์เลย
คำกล่าวของเจ้าหญิงวิกตอเรียมีทั้งจริงและไม่จริง ซีซี่ไม่ชอบงานสังสรรค์แต่ทรงเป็นธรรมชาติมากกว่าหากได้อยู่กับสามัญชน ทรงมีสิ่งที่ชอบมากมาย เพียงแต่สิ่งที่ทรงรักนั้นต่างจากค่านิยมของชนชั้นสูง ซีซี่รักการขี่ม้า ชอบกีฬากลางแจ้ง โปรดการท่องเที่ยว ชอบการเขียนบันทึกและแต่งกลอน ทรงสนใจความเป็นไปในฮังการีซึ่งทำให้ราชสำนักออสเตรียไม่พอใจหาว่าทรงเข้าข้างต่างชาติ
ดังนั้นภาพลักษณ์ของเจ้าหญิงซีซี่ที่ถูกสร้างขึ้นในสื่อยุคหลังสงครามจังมีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริงผสมกัน เราอาจสังเกตได้ว่า Ernst Marischka ตั้งชื่อหนังของเขาว่า Sissi ไม่ใช่ Emperess Elisabeth เพราะตั้งใจเล่าเรื่องของพระองค์ให้ออกมากึ่งนิยาย
ภาพยนตร์ของ Marischka มีฉากที่น่าสนใจคือตอนที่ฟรานซ์ โจเซ็ฟออกตามหาซีซี่ที่หนีออกจากวังเพราะทนความกดดันไม่ได้ ฟรานซ์ โจเซ็ฟไม่ได้พาซีซี่กลับวังในทันที ทั้งคู่ใช้เวลาช่วงหนึ่งออกท่องเที่ยวชื่นชมหุบเขา ระหว่างนั้นมีบทสนทนาน่าสนใจอย่าง การล้อฟรานซ์ โจเซ็ฟว่า “แม้จะใช้ภาษาเดียวกัน แต่พระองค์กลับไม่เข้าใจความหมายในสิ่งที่ประชาชนกำลังบอก” หรือตอนที่ซีซี่หวังว่าฟรานซ์ โจเซ็ฟไม่ต้องเป็นกษัตริย์ จะดีแค่ไหนถ้าเราสองคนใช้ชีวิตร่วมกันในภูเขา เป็นแค่คู่สามีภรรยา
แนวคิดที่ว่าฟรานซ์ โจเซ็ฟ กับซีซี่ ได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งเป็นแค่สามีภรรยาในบ้านเล็กๆ บนหุบเขา คือการนำเอา “ความเป็นซีซี่” ในประวัติศาสตร์มาวาดเป็นภาพใหญ่ สื่อให้ผู้ชมมองตัวเองเป็นเหมือนฟรานซ์ โจเซ็ฟและซีซี่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต้องการเชิดชูสถาบันให้มีอำนาจเหนือคน แต่ยกตัวอย่างคู่รักที่รักที่ต้องการละทิ้งสถานะสูงส่ง กลับสู่ความเป็นคนธรรมดา
ซีซี่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีแนวคิดเสรีนิยมมากที่สุดในราชวงศ์ฮับส์บูร์ก พระองค์ไม่เชื่อมั่นว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ค้ำฟ้าหากปราศจากการรับฟังเสียงของประชาชน ในบรรดาบทกวีมากมายของซีซี่ ทรงกล่าวถึงสวิตเซอร์แลนด์หลาครั้ง พระองค์ยกย่องว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นปราการแห่งเสรีภาพ และรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐนั้นปลอดภัยที่สุดสำหรับอนาคต แนวคิดของซีซี่เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมร้อยปี แต่ดันไปตรงกับความเห็นของรัฐบาลยุคหลังสงครามที่ต้องการสร้างออสเตรียใหม่ให้มีรูปแบบทางการเมืองและคงความเป็นกลางเช่นเดียวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จักรพรรดินีอาจไม่ทราบว่าสิ่งที่ทรงนึกฝันในอดีตจะได้รับการสนับสนุนโดยบุคคลในปัจจุบัน เจ้าหญิงที่เคยถูกมองว่านอกคอก บัดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เสรีภาพในแบบของซีซี่ จุดประกายให้ผู้คนจำนวนมากและกลายเป็นพลังในการสร้างออสเตรียใหม่เหมือนในปัจจุบัน
Reference:
The Austrian Aschenputtel: Empress Elizabeth of Austria as Icon of Austrian National Identity