“วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ทุกประเทศต้องรัดเข็มขัด สหภาพโซเวียตยังมีเงินมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พวกเขาเอาเงินมาจากไหน?”
คือคำถามใหญ่ที่ภาพยนต์เรื่อง Mr Jones (2019) พาผู้ชมเดินทางย้อนเวลาไปหาคำตอบ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากความสงสัยของกาเร็ต โจนส์ อดีตที่ปรึกษาของ เดวิด ลอยด์ จอร์จ นักการเมืองคนสำคัญของอังกฤษ ที่ตั้งใจเดินทางไปสหภาพโซเวียตเพื่อหาลู่ทางสัมภาษณ์สตาลิน แต่กลับเจอประเด็นใหญ่ที่ถูกเก็บซ่อนไว้อย่างเป็นระบบ ความลับของสหภาพโซเวียตเชื่อมโยงที่มาของเงินจำนวนมาก กับความอดยากครั้งใหญ่ในยูเครน (The Great Famine)
The Great Famine เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ โดยมีที่มาแผนปฎิรูปประเทศ 5 ปี เพื่อนำอดีตจักรวรรดิรัสเซียที่เคยล้าหลัง เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่โดยใช้อุตสาหกรรมหนักเป็นตัวจักรขับเคลื่อน เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงปี 1930s ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการปฎิวัติรัสเซีย (1917) มาเกือบ 20 ปี และก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเกือบ 10 ปี (1939) แอ็กนีสซก้า ฮอลแลนด์ ผู้กำกับชาวโปแลนด์ที่เคยฝากผลงานไว้กับหนังแนวโฮโลคอสต์หลายเรื่อง ให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจในการทำเหตุการณ์ที่ว่ามาบอกเล่าใหม่ในรูปแบบหนังโดยมองว่า ความหิวโหยในยูเครนเป็นเรื่องที่ถูกหลงลืมไปในประวัติศาสตร์ “การตายเพราะความหิวโหยเป็นเรื่องเศร้า มันโดดเดียว ไร้เสียง และไร้ตัวตน คุณไม่เห็นเลือด ไม่ได้ยินเสียงกระสุน ไม่มีข่าวใหญ่โด่งดังไปทั้วโลกเหมือนยามสงคราม” ฮอลแลนด์ ตั้งใจคุมโทนของหนังให้ต่างกันอย่างชัดเจน ในตอนที่นายโจนส์ – พระเอกของเรา เข้าร่วมงานเลี้ยงหรูหราในมอสโก ภาพต่างๆ เล่าด้วยเสียงเพลงดังและสีสันสด ในทางกลับกัน เมื่อพระเอกเดินทางเข้าไปในยูเครนและได้เห็นภาพสะเทือนใจต่างๆ โทนของหนังกลับถูกปรับลงจนเป็นสีเกือบขาวดำและไร้ซุ่มเสียง
คำถามสำคัญที่ฮอลแลนด์ตั้งใจถามผู้ชมผ่านนายโจนส์ คือเมื่อคุณเห็นความจริงอยู่ตรงหน้า คุณจะกล้าพอตีแผ่เรื่องราวหรือไม่? ถ้ามันหมายถึงการหักหน้านักข่าวใหญ่และผู้มีอิทธิพลมากมายทั้งในและนอกประเทศ หนังได้พาเรามองคำถามนี้ผ่านเลเยอร์ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกสองประการ 1. เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบไปทั้งโลก – จะมีชาติไหนสนใจปัญหาของประเทศอื่นเมื่อปัญหาของตัวเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด, กลุ่มทุนจะพร้อมกันบอยคอร์ดสหภาพโซเวียต ประเทศใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสเพียงเพราะปัญหาด้านมนุษยธรรมที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองจริงหรือไม่ 2.ความหวังใหม่ของโลกเท่าเทียมกันตามแนวคิดสังคมนิยม – สหภาพโซเวียตคือห้องทดลองขนาดใหญ่ที่นำแนวคิดสังคมเท่าเทียมมาทดลองจริงเป็นครั้งแรก โลกจะยอมรับความผิดพลาดของระบบ และบอกว่าความเท่าเทียมกันไม่มีอยู่จริงได้หรือ?, และในเมื่อระบบนี้ยังอยู่ในช่วงทดลอง หากมีความผิดพลาดไปบ้าง เราควรมองข้ามและให้โอกาสหรือไม่ ก็ในเมืองสตาลินสร้างโรงเรียนฟรี โรงพยาบาลฟรี และทำให้ผู้คนหลายล้านมีงานทำ?
คำถามเหล่านี้เป็นหน้าที่ของคนดูที่ต้องตอบ แต่ตัวผู้กำกับได้เลือกตอบในส่วนของเธอโดยกล่าวในประโยคปิดท้ายเรื่องว่า “ความหิวโหยและการตายทั้งหมด เป็นสิ่งที่สตาลินสร้างขึ้น” แต่สตาลินเป็นผู้ ‘ตั้งใจ’ และ ‘จงใจ’ สร้างความหิวโหยจริงหรือไม่? เราขอใช้โอกาสนี้เพื่อตอบคำถามในส่วนของเรา เนื้อหาในย่อหน้าต่อไปไม่เปิดเผยเรื่องราวของหนัง แต่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญทางประวัติศาสต์ตามความเห็นของผู้เขียน
ในช่วยปลายปี 1920 ปัญหาที่ว่า “สหภาพโซเวียตจำเป็นต้องปฎิรูปตัวเองจากสังคมการเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมอยู่หรือไม่” ไม่ใช่คำถามอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องดำเนินการ สตาลินกล่าวในปี 1931 ย้ำว่า “หากสหภาพโซเวียตไม่เร่งปฎิวัติตัวเองให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ประเทศของเราจะถูกบดขยี้โดยฝ่ายศัตรูภายใน 10 ปี สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับจักรวรรดิรัสเซียในยุคของพระเจ้าซาร์ จะกลับมาเกิดขึ้นอีก” คำพูดของสตาลินแสดงถึงแนวคิดและทำนายที่กลายเป็นจริงภายใน 10 ปี แนวคิดที่ว่าคือการสร้างความรู้สึกชาตินิยมให้คนในประเทศโดยอ้างเอาความผิดพลาดของพระเจ้าซาร์มาเป็นตัวผลัก สิ่งนี้กลายเป็นแกนกลางของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สหภาพโซเวียตจะใช้ต่อมาอีกหลายสิบปี ส่วนความจริง คือการรุกรานสหภาพโซเวียตของฮิตเลอร์ในอีก 10 ปี ให้หลัง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการปฎิรูปอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สหภาพโซเวียตสามารถต่อต้านการรุกรานได้ในท้ายสุด
#สตาลินเอาเงินไปทำอะไร แผนปฎิรูปประเทศ 5 ปี ที่สตาลินนำมาใช้ในช่วงปี 1930s เป็นแผนการพัฒนาแบบเร่งรีบ และให้ความสำคัญกับผลสำเร็จมากกว่าวิธีการ การนำประเทศเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมหนัก จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อซื้อหาเครื่องจักรจากต่างประเทศ สิ่งที่สหภาพโซเวียตสามารถนำมาแลกได้ในตอนนั้นคือการส่งออกพืชพันธุ์ธัญญาหารซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก (เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร) และเพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างหนักอันเป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การส่งออกเพื่อให้ได้เงินเท่าเดิม จึงต้องเพิ่มสินค้ามากขึ้นเป็นสองเท่าหรือมากกว่า ผลคืออาหารเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ ถูกนำไปขายส่งออกโดยไม่คำนึงถึงความอดยากที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในประเทศ ส่วนเงินที่ได้มา ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้กับโครงการที่มีประโยชน์จริงเช่นการสร้างต่อทางรถไฟทรานไซบีเรีย แต่บางส่วนก็ถูกนำไปใช้ในโครงการไร้สาระ เช่นการสร้าง Mighty canal เชื่อมต่อตอนกลางของประเทศออกสู่ทะเลดำ โครงการนี้ใช้กำลังคนมาก เสียเงินมากมาย แต่คลองที่ได้ตื้นเกินไปจนเดินเรื่อใหญ่ไม่ได้
#ทำไมยูเครนถึงได้รับผลกระทบหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยูเครนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในมุมมองของประวัติศาสตร์ คนยูเครนเชื่อว่าสตาลินจงใจปล่อยให้คนยูเครนอดตายเพื่อเป็นการลงโทษขบวนการชาตินิยมในประเทศที่ต่อต้านระบบนารวมของสตาลิน อีกเสียงมองว่าสตาลินไม่ได้ ‘ตั้งใจ’ เพียงแต่ ‘ไม่สนใจ’ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนยูเครน การที่ยูเครนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ผลกระทบปรากฎชัดในภูมิภาคนี้มากที่สุด ประชาชน 4 ใน 5 ล้านที่อดตาย เป็นคนของยูเครน สตาลินรับรู้เรื่องนี้แต่ไม่ยื่นมือช่วยเหลือ เพราะให้ความสำคัญกับการ สร้าง และ สร้าง โรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า
#การสร้างอุตสหกรรมหนักเป็นผลดีกับประชาชนจริงหรือไม่ กระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจสังคมจากเศรษฐกิจการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมที่ขึ้นกับเครื่องจักร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสหภาพโซเวียต เพราะเกิดชนชั้นแรงงานจนกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม โรงงานอุตสาหกรรมทำให้คนมีงานทำ และชาวนามากมายตัดสินใจทิ้งไร่นาเพื่อเดินทางมาทำงานในเมือง ทำให้แรงงานในไร่นาส่วนใหญ่ในช่วงกลางปี 1930s เหลือคนแก่กับผู้หญิง สหภาพโซเวียตมีความต้องการแรงงานมาก ขนาดที่แรงงานหนึ่งคนในสามสามารถเปลี่ยนหางานใหม่ได้ทุกปี ถึงอย่างนั้นแรงงานจากต่างจังหวัดก็ไม่ได้เป็นแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้เกิดการนำกฎทหารมาใช้เพื่อควบคุมโรงงาน กลายเป็นว่าช่วงปลายปี 1930s แรงงานทุกคนไม่สามารถเปลี่ยนงานได้หากไม่ได้รับคำอนุญาตจากรัฐ การไหลของประชากรจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ ทำให้รัฐออกกฎจำกัดการเดินทางโดยใช้พาสปอร์ต คุณไม่สามารถเดินทางออกจากเมืองได้โดยไม่ได้รับอนุญาตและคุณต้องกลับมาภายในเวลาที่กำหนด
ภาพยนต์ Mr Jones (2019) นำเสนอผลร้ายจากแผนพัฒนาของสตาลินโดยให้พื้นที่กับยูเครนเป็นแกนหลัก สิ่งที่หนังขาดไป คือการไม่อธิบายเหตุและผลของการนำประเทศเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และไม่ได้บอกคนดูด้วยซ้ำ ว่าสตาลินต้องการเงินไปทำอะไร แน่นอนว่าการกระทำของสตาลินมีผลเสีย (ซึ่งตอบยากว่า ‘มากกว่า’ ‘เทียบเท่า’ หรือ ‘คุ้มค่า’ กับความสูญเสีย เพราะเราไม่อาจประเมินมูลค่าของชีวิตคนได้) หนังยังไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดกับคนในเมืองใหญ่ (ซึ่งถึงจะน้อยกว่าแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี) แต่ให้พื้นที่กับคนในชนบทเท่านั้น โดยร่วมแล้ว Mr Jones เป็นภาพยนต์ที่นำเสนอพื้นที่ถูกลืมในประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ แต่ไม่เป็นกลางและไม่ได้สร้างองค์ความรู้โดยรวมให้ผู้ชม ไปมากกว่าการแสดงให้เห็นผลลบของระบบสหภาพโซเวียต
Reference: